สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 22 ธ.ค. 67
ACDSee 5.0 สำหรับตากล้องนักตกปลา : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความตกปลา
ความเห็น: 27 - [11 มิ.ย. 55, 14:40] ดู: 14,444 - [20 ธ.ค. 67, 13:34] โหวต: 16
ACDSee 5.0 สำหรับตากล้องนักตกปลา
ผิวไผ่ (204 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
17 ธ.ค. 46, 17:09
1
ACDSee 5.0 สำหรับตากล้องนักตกปลา
ภาพที่ 1

ผมใช้ ACDSee 5.0 สำหรับเป็นเครื่องมือในการจัดการภาพถ่ายจากกล้องดิจิตอล ก็เลยนึกอยากจะเอามาเขียนแบ่งปันกัน เพราะในเว็บสยามฟิชชิ่งก็มีเพื่อนๆหลายคนใช้กล้องดิจิตอลกัน เวลาไปตกปลา ออกทริพกันทีก็อยากนำภาพมาโพสต์ในกระดาน เพื่อแบ่งปันบรรยากาศแห่งความสนุกด้วยกัน

ไม่เฉพาะภาพที่ถ่ายจากกล้องดิจิตอลนะครับ ภาพ JPG ที่ได้จากการสแกนจากสแกนเนอร์ก็ใช้ ACDSee ซึ่งเวอร์ชันที่ผมพูดถึงคือ  5.0 (อย่างไรก็ตาม เวอร์ชัน 6.0 อย่างเป็นทางการก็ออกมาให้ใช้งานกันเรียบร้อยแล้ว)


บันทึก  ภาพจากกล้องดิจิตอล ผมถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างสรรค์อะไรอื่นๆอีกมากมาย ผิดจากกล้องฟิล์มที่มีข้อจำกัด มันเหมือนพอถ่ายเสร็จแล้ว ทุกอย่างแทบจะจบสิ้นตรงนั้น คือ เหลือเพียง ส่งไปล้าง-อัดที่ร้านก็จบลงแค่นั้น แต่ภาพจากกล้องดิจิตอล จะเอามาเก็บไว้เป็นอัลบั้มดิจิตอล หรือส่งทางอีเมล์ให้เพื่อนดู หรือเอามาตกแต่งเพิ่มความตระการตา ดึงดูดใจ จนกระทั่งเอาไปทำเป็นการ์ด ,ปฏิทิน , โปสเตอร์ , ใส่กรอบประดับ , ทำวอลเปเปอร์บนหน้าจอคอม ,ทำสไลด์โชว์ไว้ดูกัน ได้ทั้งนั้น ยิ่งไม่ต้องพูดถึงในวงการธุรกิจว่ามันจะมีประโยชน์ขนาดไหน เอาไปใช้ในการนำเสนอผลงานก็ได้ หรือกระทั่งถ่ายไว้อ้างอิง อย่างไม่ต้องกลัวเปลืองฟิล์ม เก็บรักษาก็ง่ายกว่า สีไม่มีซีด! โอย สารพัด!


ผมใช้ ACDSee ตั้งแต่เวอร์ชัน 3.0 ก็ว่าได้ อะแฮ่ม  คงไม่ต้องบอกนะครับว่าใช้ทำอะไร :-( ผู้ชายเนี่ยมันก็ทุกคนแหละว้า  เวอร์ชัน 4.0 ก็ยังเฉยๆสำหรับการใช้งานกับภาพจากกล้องดิจิตอล แต่พอถึงเวอร์ชัน 5.0 นี่สิ ผมบอกได้ตามตรงเลยว่า เพียงคุณมีกล้องดิจิตอล และ ACDSee 5.0 สองอย่างนี้ก็เพียงพอสำหรับการตกแต่งภาพเบื้องต้น พร้อมจะเอาไปร้านพิมพ์ภาพดิจิตอลได้เลย (ร้านที่ใช้เครื่องพิมพ์ดิจิตอล NuritSu , Fuji FDi  ก็ได้)

อะไรที่เราอยากทำกับภาพจากกล้องดิจิตอลของเรา และทำไปทำไม-- นั่นน่ะสิ :-(

  • Resize ปรับขนาดภาพ  เพื่อให้เหมาะสมที่จะลงในเว็บไซต์ เช่น จาก 1280 x  960 ให้เหลือ 320 X 240 ซึ่งเหมาะกับการโพสต์ในกระดานมาก , เพื่อให้ขนาดเล็กพอที่จะส่งทางอีเมล์ได้สะดวก เช่น 320 x 240 ก็เพียงพอสำหรับการดูบนจอภาพ และเล็กพอสำหรับการส่งทางอีเมล์ โดยผู้รับไม่ต้องรอ Retrive Mail นานเกินไป (และน่ารำคาญ! โธ่ ใหญ่ก็ใหญ่ สวยก็ไม่สวยอะไรเลย เสียเวลารอจริงๆ )
  • crop ตัดบางส่วนของภาพออกไป บางทีภาพที่เราถ่ายมา มีส่วนที่ไม่ต้องการมาปรากฎในภาพ โดยเฉพาะการถ่ายภาพบันทึกเหตุการณ์ทั่วไป เช่น ถ่ายรูปปลา เพื่อนดันเอาเท้าแหย่เข้ามา หรือไปตกปลากับสาว เวลาถ่ายภาพก็ถ่ายคู่กับสาว แต่เวลาโพสต์ลงเว็บ กลัวสาวอีกคนมาเห็น ฯลฯ การแก้ไขคือ จะต้องตัดออกไป นอกจากนี้ยัง crop ให้เหมาะกับการนำไปพรินต์-อัดภาพด้วย
  • Rotate หมุนภาพให้ถูกทิศทาง อื้ม ภาพบางภาพ ผมตั้งกล้องถ่ายนะครับ ไม่ใช่วางแบบ Landscape  คุณนึกถึงกระดาษแนวตั้งกับแนวนอนแล้วกัน ปกติ คนใช้กล้องก็จับกันสองแนว คือ แนวตั้งและแนวนอน แต่เวลาเราจะดูจริงๆ ภาพนั้นต้องหมุนให้ถูกทิศทางก่อน
  • ปรับแต่งสีสัน เขาเรียกว่า Color Adjustment เช่น ท้องฟ้าสีฟ้าซีดเหลือเกิน ทำให้มันสีสว่างหน่อยสิ โถ ถ่ายตกปลากลางวัน ทำไมภาพออกมายังกับกลางคืน ทำให้สว่างหน่อย


เนี่ยครับ โดยมาก เราก็ทำกันแค่นี้ 4 อย่างนี่แหละครับ พอแล้ว ผมเองก็ทำขนาดนี้แหละ เวลาเอาภาพไปอัด อาจจะบอกว่า "แต่งภาพให้หน่อยน่ะ ปรับแต่งสีด้วย ถ้าผมทำผิด"


Resize ปรับขนาดภาพ
      เวลาถ่ายภาพด้วยกล้องดิจิตอล ถ้าหวังผลก็ต้องให้มันใหญ่ๆไว้ก่อนใช่มะ เช่น 1600 x 1200 เพราะว่า ใหญ่เอามาปรับเล็ก คุณภาพยังคงตัว  และภาพใหญ่ต้นฉบับก็เอาไปอัดภาพบนกระดาษได้อีก แต่ถ้าหากต้องการประหยัดเมโมรี่ของกล้อง  640 x 480 ก็เพียงพอแล้ว  อย่างไรก็ตาม 640 x 480 ก็ยังใหญ่เกินไปสำหรับการโพสต์ในกระดาน ผมใช้ 320 x 240 หรือใหญ่สุดไม่เกิน 350 x 260 มันพอดีกับสายตา แต่อาจจะไม่สวย คุณอาจจะเอาใหญ่หน่อยก็ได้ บางภาพต้องการโชว์สีสันนี่นา 

    การ Resize ขนาดของภาพยังเหมาะสำหรับการทำเพื่อส่งภาพให้คนอื่นทางอีเมล์ด้วย เพราะถ้าคุณส่งภาพ 640 x 480 10 ภาพ แต่ละภาพจะมีขนาดไฟล์ 60 กิโลไบต์ โดยประมาณ อีเมล์คุณมีขนาด 600 - 700 กิโลไบต์เข้าไปแล้ว ยิ่งคนที่ถ่ายแบบเต็มความละเอียดของกล้อง เช่น 2048 x 1536 (สำหรับกล้อง 3 ล้านพิกเซล) หรือ 2592 x 1944 (สำหรับกล้อง 5 ล้านพิกเซล ไฟล์ภาพ 1 ภาพ จะมีขนาด 1.5 -  2.5 เมกะไบต์ ขอโทษเถอะครับ ถ้าไม่ได้ส่งไปให้เขาเอาไปพรินต์-อัดภาพบนกระดาษ เพียงแค่อยากส่งไปให้เขาดูเฉยๆ Resize ซะเถอะครับ!
วิธีการก็เหมือนกับการใช้ ACDSee ในการดูภาพปกตินั่นแหละ แต่เวอร์ชัน 5.0 เขาเพิ่มลักษณะพิเศษมาให้ คือ การให้เราแก้ไขภาพได้ด้วย

ก่อนที่จะทำอะไรกับภาพไหน อย่าลืม เลือกภาพนั้นก่อนครับ โดยการ "คลิก" ภาพ (กรอบสีน้ำเงินขึ้นที่ภาพ)  อันนี้ คิดว่าเป็นกันโดยอัตโนมัติ เพราะเวลาที่เราดูภาพไหน เรา "ดับเบิ้ลคลิก" ก็จะเป็นการแสดงภาพ เต็มจอ -- อูว อาว์ๆๆๆ..  -- เอ้ย อะไรกันนักกันหนา --  ถ้าเลือกก็แค่ "คลิก" ทีเดียวครับ


นี่ครับ ที่ทูลบาร์ด้านบนน่ะ ให้คลิกที่ Edit แล้วมันจะมีทูลบาร์ย่อยของการ "Edit" ภาพมาให้เราเห็น ทูลบาร์ย่อยจะประกอบด้วย Editor ,Convert , Resize , Rotate , Expose ลองศึกษาแต่ละปุ่มกันเองนะครับ -- คงไม่พูดละเอียด  เพราะถ้าพูดให้ละเอียดเนี่ย มันจะกินเวลายาวนานมาก--
   
พอคลิก Resize ปุ๊บ มันจะเกิดหน้าต่างแบบ Popup มาให้เราเลยว่า จะต้องการ Resize กี่เปอร์เซ็นต์  จะขยายก็ให้มันเกิน 100 เช่น 150 % ส่วนจะลดก็ให้มันน้อยกว่า 100 เช่น ลด 75% จะเล็กมาก หรือลดไปเลย 90% ยิ่งเล็กไปใหญ่เลย -- อันนี้ จะให้เห็นภาพ ต้องลองทำกันเองน่ะครับ ลำพังฟังผมพูด ก็คงไม่เห็นภาพ อย่าลืมครับ ที่วินโดว์นี่ ดูที่ Option ด้วย ปกติผมเลือกให้มัน สร้างไฟล์ใหม่ เพราะการเซฟไฟล์ทับของเดิม มันเสี่ยงต่อการได้ผลงานที่ด้อยกว่าต้นฉบับ คือ ยังงัยต้นฉบับเอาไว้ก่อน ตรงอ๊อปชั่น ลองศึกษากันดูครับ

ข้อสังเกตสำหรับการ Resize ภาพ คือ ภาพทั้งภาพ (ทุกเลเยอร์) จะถูก Resize ลงมา แต่ในด้านสัดส่วน (Ratio) คุณเลือกได้ครับ ว่าจะสัดส่วนเดิม หรือแปลกส่วนออกไป แต่ระวังเรื่องภาพมันลวงตา เช่น คนตัวลีบ คนใบหน้าแบน อันนี้ ผมเรียกว่าเป็นสัดส่วนที่แปลกออกไป ภาษาในการถ่ายภาพเขาเรียกมันผิดสัดผิดส่วนไปหมด  ได้ภาพตลกออกมาแทน ถ้าไม่มากเกินไปก็ไม่น่าเกลียด แต่ถ้ามากเกินไปก็จะดูไม่เป็นธรรมชาติ  การ Resize ถ้าเป็นการขยาย คุณภาพของภาพจะด้อยลง แต่ถ้าเป็นการลดขนาด คุณภาพของภาพจะสูงขึ้น

ภาพตัวอย่างที่เกิดจากการ Resize ที่จริงภาพนี้ถูกถ่ายด้วยความละเอียด 640 x 480 ครับ แล้วมาลดขนาดเป็น 320 x 240 เพื่อใช้ในการส่งอีเมล์ก็ได้ หรือจะนำมาแสดงในเว็บก็ได้ เพราะขนาดของภาพ 25 กิโลไบต์ ไม่มากเกินที่ทางเว็บไซต์หลายๆแห่งกำหนด (สยามฟิชชิ่งให้ 50 กิโลไบต์) จะเห็นว่า ถ้าเราลดขนาดของภาพลง ความจุของไฟล์จะเล็กลงด้วย อย่าง 640 x 480 นั้น ไฟล์ขนาด 64 กิโลไบต์ แต่พอลดเหลือ 320 x 240 ไฟล์เหลือขนาด 25 กิโลไบต์  แต่ถ้าเราถ่ายด้วยความละเอียด 1869 x 1352 ภาพที่ได้ จะมีขนาดเกือบ 1 เมกะไบต์ทีเดียว! อันนี้ ลองคำนวณทางคณิตศาสตร์ได้ เอามาคูณกันตรงๆเลย ได้จำนวนของพิกเซล และขนาดของพื้นที่ที่ต้องใช้เก็บภาพ

อย่าลืมนะครับ! ภาพดั้งเดิมขนาดเล็ก แล้วนำเอามาขยาย จะได้คุณภาพของภาพลดลงอย่างเห็นได้ชัด! ส่วนการลดขนาดนั้น ก็ทำให้ภาพมองแล้วไม่ชัดได้บ้างเหมือนกัน แต่เอามาแสดงในเว็บได้

ปกติแล้ว ผมก็จะดูคุณสมบัติคราวๆของภาพเสมอๆ วิธีการของ ACDSee ก็ง่ายๆ ในหน้าต่างแสดงภาพขนาดเล็กๆ นั้น จะเห็นว่าแต่ละภาพ จะบอกชื่อไฟล์ (ที่วงกลมหมายเลข 2) ว่าไฟล์ชื่ออะไร มีขนาดเท่าไร อย่างในตัวอย่างเป็นภาพขนาด 640 x 480 24 บิต แบบ JPG  เมื่อเอาเมาส์ไปชี้ (ไม่ต้องคลิก แค่เลื่อนตัวชี้เมาส์ไปที่ภาพก็พอ) มันจะปรากฎกรอบสีเหลือง (context) ขึ้นมาสัก 3 วินาที พอให้เราอ่านคุณสมบัติของภาพได้ (ที่วงกลมหมายเลย 3) ตรงนี้จะบอก ชื่อไฟล์ /ขนาดของไฟล์ / ความละเอียดของภาพ / วันที่แก้ไข ตรงนี้ ถ้าดูบ่อยๆ ชำนาญแล้ว เราจะรู้เลยว่า มันจะมีหน้าตาการแสดงอย่างไรบนจอภาพ ถ้าจะโพสต์บนกระดานได้มั้ย (ความจุ-ขนาดของไฟล์ ไม่เกิน 50 กิโลไบต์)

ส่วนที่ วงกลมหมายเลข1 หมายความว่า ถ้าเอาเมาส์ไปดับเบิ้ลคลิกที่ตัว i หรือคลิกเมาส์ปุ่มขวาแล้วเลือกที่เมนูที่ตามขึ้นมาให้แสดง Properties มันจะมีข้อมูลคุณสมบัติของการถูกทำเป็นภาพดิจิตอลของภาพนั้นอยู่  (รายละเอียด ผมเขียนไว้ข้างล่างครับ)

Crop ตัดบางส่วนของภาพออกไป
  การ crop ภาพ ไม่ใช่ฟีเจอร์ที่มาพร้อมกับ ACDSee 5.0 แต่มันมากับ ACD FotoCanvas 2.0 เจ้าผ้าใบวาดภาพของ ACD ทำงานด้านพื้นฐานของการปรับแต่งภาพได้หมดเลยครับ ไม่ว่าจะเป็นการ Crop ภาพ  การแต้มแต่งสีสันเข้าไป การลดตาแดง ใครที่ใช้โฟโต้ช๊อป คงจะคุ้นกับทูลร์ของ FotoCanvas ดีครับ ผมเองไม่ใช่สิงห์โฟ้โต้ช๊อป ก็ขอไม่พูดถึงแล้วกัน  :-(  FotoCanvas ยังใช้ในการปรับแต่งภาพด้านสีสัน การเพิ่มเอฟเฟ็คต่างๆเข้าไป -- พูดกันง่ายๆ ก็ FotoCanvas มันก็โปรแกรมตกแต่งภาพ ทำงานคล้ายๆกันกับ PhotoShop หรือ Paint Shop Pro นั่นแหละเกลอเอ๋ย เพียงแต่มันคนละค่ายกันเท่านั้นเอง

การ Crop ภาพ อย่างภาพบนสุดที่ผมเอามาแสดงเนี่ย ภาพเรือที่เขาทำด้วยไฟ ผมตัดออกมาให้มันสวยงามพอดีขอบภาพ (แถมด้วยการ Resize แต่ภาพที่ถ่ายต้นฉบับจริงๆคือ ภาพนี้ครับ จะเห็นว่า มันมีช่องว่างของภาพ ทั้งซ้าย ขวา บน ล่าง แถมที่มุมภาพด้านขวาล่าง ยังมีกอหญ้าโผล่เข้ามา แย่งจุดสนใจ ดูรกไปหมด เราก็ต้องจัดการกับมันล่ะครับ จัดการโดยการ Crop

การ crop ภาพยังมีประโยชน์สำหรับการเอาภาพไปอัดที่ร้านอัดภาพดิจิตอลด้วย โดยปกติ ภาพที่ได้จากกล้องดิจิตอลนั้น จะมีสัดส่วน 4:3 ยกเว้นกล้องบางรุ่นอาจจะมีสัดส่วน 3 : 2 มาให้  แต่สำหรับร้านถ่ายภาพนั้น จะอัดรูปมาให้เราในสัดส่วน 3: 2 เพราะกระดาษอัดภาพนั้น ขนาดที่อัดมาให้เราคือ 4 x 6 นิ้ว  6 x 9 นิ้ว คือ สัดส่วน 3:2 นั่นเอง หรือภาพใหญ่ๆก็ 8 x 12 ก็ยัง 3:2 นั่นเอง ดังนั้น ภาพที่เราถ่ายไป 4:3 พอไปถึงร้านอัดภาพก็จะถูกตัดบางส่วนออกไป ดังนั้น ถ้าเราไม่อยากให้เขาตัดไป เราอยากตัดเอง ก็ crop ภาพเองได้

แต่การ crop ภาพเพื่อไปอัดที่ร้าน ก็ต้องดูเหมือนกัน คุณอยากจะอัดภาพสัดส่วนเท่าไร เช่น 8 x 10 ร้านเขาก็ทำให้ ตรงนี้ ต้องอาศัยความเข้าใจมันนิดหน่อย เพื่อป้องกันไม่ให้ได้ภาพในสัดส่วนที่ไม่พึงปรารถนา -- ภาพบางภาพ เพียงตัดขอบออกไป อารมณ์ก็เปลี่ยน

จะใช้ Crop tool ใน FotoCanvan ต้องรัน ACD FotoCanvas ขึ้นมาก่อน แล้วเลือกเปิดไฟล์ภาพที่ต้องการจะ crop หลังจากนั้นก็เลือก Crop Tool โดยการคลิกที่ทูลบาร์ดังภาพที่แสดง คลิกเพื่อเลือกใช้ทูล







พอคลิกแล้วแล้ว ก็เอาเมาส์ไปลากบนภาพ กดปุ่มซ้าย ลากเป็นสี่เหลี่ยม โดยเลือกเอาพื้นที่ที่ต้องการ crop เลือกกันตามใจชอบ อันนี้จะเอาภาพขนาดไหน ก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของศิลปินแต่ละท่าน -- เอาให้สวยก็แล้วกัน ดูตัวอย่างคนอื่นบ้าง ศึกษาการมองด้วยตัวเองบ้าง แล้วค่อยศึกษาไปครับ ว่าแบบไหนสวย ว่าก็ว่าเถอะครับ งานศิลป์มันไม่มีกฎเกณฑ์ที่แน่นอน --













พอเลือกได้แล้ว ก็หยุดกดปุ่มซ้ายเมาส์ จะเกิดเป็นรูปพื้นที่สี่เหลี่ยม ตรงนี้ ถ้าเรายังไม่พอใจ เห็นสี่เหลี่ยม (โปร่งใส) เล็กๆ ทุกด้านของกรอบสี่เหลี่ยมใช่มั้ยครับ? นั่นแหละครับ คุณใช้เมาส์ไปเลื่อน เพื่อลด หรือเพิ่มของพื้นที่ที่ต้องการ crop ได้

พอเลือกได้ขนาดที่ต้องการแล้ว ก็ดับเบิ้ลคลิกเลยครับ ภาพจะถูก crop ออกมาตามที่เรากำหนด เสร็จแล้ว เพื่อรักษาภาพดังเดิมไว้ อย่าลืม Save As เพื่อบันทึกเป็นภาพใหม่ ของเก่าอย่าเพิ่งทิ้งนะครับ







บันทึกอย่าเพิ่งคิดว่า งั้นก็ไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับ ส่วนประกอบของภาพ การวางตำแหน่งความน่าสนใจของภาพ อย่างที่การถ่ายภาพเขาเรียกว่า Third Of Rule กฎแบ่งสามส่วน หรือ จุดตัด 9 จุด แล้วใช่มั้ย? เพราะเอามา Crop ได้ อย่าคิดเช่นนั้นครับ ทำให้ถูกต้องเสียตั้งแต่ทีแรก งานถ่ายภาพเป็นงานศิลป์ครับ ในแง่ของศาสตร์แล้ว ถ้าคุณเอามาภาพ crop จากขนาด 2048 x 1532 สมมุติตัดไป ภาพก็มีขนาดพิกเซลลดลงอีก ถ้าจะเอาไปอัดภาพ แน่นอนว่า ต้องปรับสัดส่วนเองใหม่ คุณภาพลดลง ดังนั้น จง Crop เพื่อจำเป็นเท่านั้น!

Crop เพื่องานตัดต่อ---อย่างที่เขาเป็นคดีครึกโครม??? 555 Up to you ครับ ผมเองไม่ใช่นักตกแต่งภาพฝีมือเยี่ยมนัก!


Rotate หมุนมุมภาพ

โดยปกติ สำหรับการถ่ายภาพอย่างเราๆ ท่านๆแล้ว ปกติเราจะหมุนกันแค่สองแกน คือ แกนนอน กันแกนตั้ง อย่างภาพที่ผมนำมาแสดงนี้ ผมถ่ายโดยการตะแคงกล้อง เพราะข้อจำกัดในองศาของมุมมอง ถ้าเราถ่ายโดยการวางกล้องแนวนอน จะเก็บภาพไม่หมด ผมเลยตะแคงกล้องถ่าย -- พอเอามาให้คนดู ก็เชิญเลยครับ ตะแคงหัวดู! เฮ้ย ไม่ใช่ ต้องปรับมุมมองให้เขาให้ถูกต้อง เราก็ต้องหมุนภาพ -- หมุนภาพ เบสิคมากๆ เลยสำหรับการถ่ายภาพแล้วนำมาปรับแต่งโดยโปรแกรมตกแต่งภาพ อย่างไรก็ตาม ผมก็ยังอยากพูดถึงมันอยู่ดี 

เรามักถ่ายภาพแนวตั้ง การกับถ่ายภาพบุคคล เช่น เพื่อนกำลังอัดปลาอยู่ หรือเพื่อนยืนยิงกระต่ายอยู่ท้ายเรือ (จะกระทบใครเปล่าเนี่ยยยยยยย) หรือภาพพวกสถาปัตยกรรม พวกตึกราม บ้านช่อง วัดวาอาราม สิ่งก่อสร้างต่างๆ หรือเพื่อนได้ปลาใหญ่ (โทรฟี -- แปลว่าถ้วยรางวัล เกียรติยศ) เขายืนเอกชั่นถ่ายภาพ เราก็ต้องถ่ายภาพแนวตั้ง เพราะจะได้ภาพเพื่อนเต็มๆ โดยที่ไม่ต้องมีอะไรมาข้างๆให้รกตา







ACDSee 5.0 รองรับการแก้ไข โดยการหมุนภาพ ได้เลย ทำคล้ายๆกับการ Resize ขนาดของภาพ แต่ให้คุณไปที่ Rotate เพื่อหมุมภาพแทน เมื่อคลิก Rotate ปั๊บ ก็จะมี Popup Window ขึ้นมา ให้เลือกเป็นออปชั่นว่า จะหมุนภาพแบบไหน อันนี้ให้ภาพเป็นลูกศร ค่อนข้าง Make Sense ดีครับ ไปทางซ้าย ไปทางขวา ทำนองนั้น เสร็จแล้วคลิก OK

อย่าลืมครับ ใน Option ผมมักเลือกเป็น Rename Modified Images and place into source folder

เทคนิค -- เลือกภาพทั้งหมดที่ต้องการ Rotate เพียงครั้งเดียว ทำได้โดยการใช้ปุ่ม shift บนคีย์บอร์ด ผสมกับการคลิกเมาส์ปุ่มซ้ายที่ภาพแต่ละภาพที่ต้องการเลือก สำหรับภาพที่ต่อเนื่องกัน ถ้าภาพเว้นภาพ หรือเว้นสองสามภาพ ก็กดปุ่ม Crtl ค้างไว้ แล้วเลือก ลองดูครับ ไม่เสียเวลาดี เลือก Rotate มันครั้งเดียว จบๆ กันไป ----






บันทึกแหล่งภาพ (Source) ดีก็ให้คุณภาพของภาพที่ดี ไม่ว่าจะเป็นภาพส่วนบุคคล ภาพวิวทิวทัศน์ ผมเชื่อว่า ไม่มีอะไรจะสร้างสรรค์ได้ดีกว่าธรรมชาติอีกแล้ว การให้แสงในทิศที่ถูกต้อง การวัดแสงที่ถูกต้อง การ Over หรือ Under อย่างเข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร การเพิ่มความคมของขอบภาพ อะไรเหล่านี้ จะมีผลที่ดีเมื่อแหล่งภาพที่เราถ่ายดีเท่านั้น -- ไม่งั้นเขามีจะ สติวดิโอ ที่ลงทุนทั้งระบบไฟ สภาพแวดล้อม หน้าฉาก หลังฉาก อะไรกันไปทำไมล่ะ -- ก็เพื่อให้มีแหล่งภาพที่ดีที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะการตกแต่งภาพ ยังงัยแล้ว ถึงแม้ว่าจะเป็นนักตกแต่งภาพฝีมือฉกาจยังงัย ผมก็ยังรังสรรค์สู้ธรรมชาติไม่ได้หรอก -- แหะ แหะ ผมเองไม่ค่อยได้ตกแต่งภาพที่ตัวเองถ่ายมากหรอกครับ มันเสียเวลาเหลือเกิน

ดู Properties ของภาพ
สมัยที่ผมไปเรียนถ่ายภาพทีแรก ผมต้องมีสมุดบันทึกการถ่ายภาพ เวลาถ่าย ผมใช้กล้องแมนนวล SLR (ตอนนี้กล้องตัวนั้นผมก็ยังใช้อยู่นะครับ) แบบตั้งปรับเองหมด ทั้ง รูรับแสง (F stop) , ความเร็วชัตเตอร์ (Shutter-speed) แม้กระทั่ง ISO ของฟิล์มก็ต้องปรับให้สอดคล้องกับฟิล์มที่ซื้อมาใช้งาน เวลาถ่ายภาพต้องจดบันทึกค่าเหล่านั้นไว้ด้วย พร้อมกับบันทึกด้วยว่า ภาพนั้นถ่ายกี่โมง และระยะซูมเลนส์เท่าไร!  -- โดยมาก เวลาเราจะถ่ายภาพ จะต้องคิดก่อนว่า ถ่ายไปทำไม ถ่ายเพื่ออะไร เอาไปใช้งานอะไร สมมุติว่าถ่ายดอกไม้ แน่นอนว่า มันต้องชัดตื้น จะตื้นขนาดไหน ให้เห็นดอกหลังที่อยู่ถัดไป ขนาดไหน ให้เห็นกรอบภาพหน้าเบลอขนาดไหน หรือจะถ่ายภาพบุคคล ก็ต้องดูว่า ตัวแบบอยู่ห่างจากฉากหลังเท่าไร พอได้ระยะเบลอมั้ย แล้วภาพมันจะได้อารมณ์ มีมิติมั้ย?? ทำนองนั้น -- พอมาจับกล้องดิจิตอล ความที่ใช้ SLR มาก่อน ผมก็ยังคงใช้เทคนิคเดิม แต่ว่า กล้องดิจิตอล โดยมากรูรับแสงแคบ (เช่น 2.0 - 8.0) และระยะซูมก็น้อยกกว่า คือ 7 - 26 มม. อะไรทำนองนั้น พอไปเทียบกับกล้อง SLR รูรับแสงมันช่วงกว้างกว่า เช่น 1.8 - 22 ระยะซูม 35 - 105 ทำนองนั้น แน่นอนว่า มันเกี่ยวข้องกับ ระยะชัดลึก-ชัดตื้น ผมเห็นบางคนถามว่า แล้วเวลาถ่ายภาพด้วยกล้องดิจตอล เรามาตรวจสอบได้มั้ยว่า ภาพนั้นใช้ค่าเหล่านี้อย่างไร มีค่าเท่าไร เพราะมันดิจิตอล โพรเซสเซอร์ภายในกล้องมันปรับแล้วทำเองเกือบทั้งหมดแล้ว (ยกเว้นพวก SLR Digital , SLR-Lite Digital ที่ผู้ใช้ปรับเองได้) ด้วย ACDSee 5.0 คุณสามารถทำได้ครับ


คลิกเมาส์เพื่อเลือกภาพในส่วนหน้าจอแสดงภาพ แล้วคลิกเมาส์ขวาที่ภาพดังกล่าว จะมีเมนูขึ้นมา ให้เลือกคลิกที่ Properties  จะเห็นหน้าต่างนี้ขึ้นมา นี่เป็นหน้าต่างของผมที่ผมถ่ายด้วยกล้องดิจิตอลภาพนิ่งของ Sony 

ในหน้าต่าง Properties นี้ รายละเอียดที่มีให้  แตกต่างกันไปในกล้องแต่ละรุ่น บางรุ่นบอกละเอียดมาก เช่น รูรับแสงเท่าไร (Aperture Value)  ความเร็วชัตเตอร์เท่าไร (Shutter Speed Value) การปรับสมดุลแสงขาว (White Balance) โหมดไหน หรือมีการวัดแสงละเอียดแบบไหน 







เลื่อนลงไปในส่วนของ Image จะเห็น Properties เพิ่มเติมอีก  ตรงนี้แหละครับ หัวใจ มันจะบอกว่า ความเร็วของชัตเตอร์เท่าไร (1/30 ก็คือ 1/30 วินาที) ใช้รูรับแสงเท่าไร (F-Number) มีการใช้ Exposure Program อะไร (ถ่ายวิว ถ่ายคน ถ่ายภูมิทัศน์ หรือโปรแกรมปกติ) ในภาพเป็นโปรแกรมปกติ  มีการชดเชยแสงหรือไม่ (Exposure Bias Value)  ระบบการวัดแสงเป็นแบบไหน  มีการใช้แฟลชหรือไม่ ระยะโฟกัสเท่าไร และ ISO เท่าไร ตรงนี้สำหรับนักถ่ายภาพที่ศึกษามาอย่างเป็นขั้นตอน จะสนใจในค่าเหล่านี้ เพราะจะได้ศึกษาเอาไปแก้ไขการถ่ายภาพครั้งๆต่อๆไป จริงๆนะครับ ผมเองก็ยังอยากดูข้อมูลเหล่านี้อยู่

บันทึกแทนที่จะถามนักถ่ายภาพแต่ละภาพที่เขาเอาภาพมาโพสต์ในเว็บ ว่าเขาปรับกล้องอย่างไร คุณอาจจะดาวน์โหลดภาพของเขามาใช้ ACDSee 5.0 ตรวจสอบซะเลย แต่ก็ไม่ใช่ว่าทำได้ทุกกรณีนะครับ ภาพที่นำมาโพสต์บนเว็บ โดยมากจะถูกแก้ไขโดยโปรแกรมตกแต่งภาพ ข้อมูลเหล่านั้นจะถูกเขียนทับโดยโปรแกรมตกแต่งภาพ - อย่างไรก็ตาม ลองดูได้



ผิวไผ่ เป็นนักเขียนอิสระ เคยเขียนเกี่ยวกับการถ่ายรูป คอมพิวเตอร์ เทคนิคซอฟต์แวร์ ในสยามฟิชชิ่ง.คอม เขียน รีวิวหนังสือตกปลา คิดว่าสนุกๆ กับงานขีดเขียนในบางอารมณ์ เป็นนักอ่าน-- พูดได้ว่าเช่นนั้น เพราะการอ่านเป็นพื้นฐานของการเขียน นอกจากนี้ยังเป็นคนตกปลา -- ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่มืออาชีพก็ตาม คุณสามารถส่งข้อเสนอแนะเป็นการส่วนตัวได้ตามอีเมล์แอดเดรสในโปรไฟล์ของ ผิวไผ่ อุอุ --- ม่ายต้องบอกก็รู้นะ เลียนแบบพวกนิตยสารต่างประเทศ พื้นที่สำหรับ Freelance Contributor!

(ขอไว้ต่อเรื่องการปรับแต่งสี ความอิ่มตัวของสีวันหลังนะ)
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024
siamfishing.com/content/view.php?cat=article&nid=1253