"TEXAS RIG" The Endless Imagination.
ภาพที่ 1ถ้าหากว่าจะตั้งคำถามกับนักตกปลาที่นิยมการใช้เหยื่อปลอมอย่างเรา ๆ ท่าน ๆ ว่า เหยื่อปลอมประเภทไหนที่ใช้แล้วให้ความรู้สึกตื่นเต้นเร้าใจมากที่สุด คำตอบที่ได้จากมือเหยื่อปลอมส่วนใหญ่ในปัจจุบันก็คงหนีไม่พ้นเหยื่อประเภทผิวน้ำ (Top Water, Surface หรือ Floating) ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นกบไม้ กบกระโดด กบติดใบพัด ปลั๊กผิวน้ำ บัซเบท ฯลฯ และที่ฮ็อทฮิทติดเทรนด์ก็พวกเหยื่อตระกูลป๊อบเปอร์ การสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อแต่ละชนิด แต่ละยี่ห้อ ก็ว่ากันไป ทั้งตามที่ผู้ผลิตแนะนำและตามความถนัดหรือประสบการณ์ของนักตกปลาแต่ละคน แต่ที่แน่ ๆ เหยื่อประเภทนี้ให้ความสะใจสุด ๆ เวลาโดนปลาชาร์จ เสียงตูม ! สนั่น ปลาชาร์จแล้วพลิกตัวตลบลงสะบัดหางน้ำกระจายพร้อม ๆ กับสายถูกกระชากตึงรั้งเอาคันโค้งวูบลง เป็นเอกลักษณ์สำคัญของเหยื่อประเภทนี้
ในช่วงที่ริตีเหยื่อปลอมใหม่ ๆ ผมเคยแสดงความเห็นกับ "พี่เล็ก แปดริ้ว" (ขออนุญาตเอ่ยนาม) ไว้ว่า ตีเหยื่อปลอมนี่เหมือนอะไรมันขาดหายไปนิดนึง คือมันเงียบ ๆ ชอบกล ไม่เหมือนกับลงเรือออกทะเล หรือเฝ้าปลาตามบ่อหรือหมายธรรมชาติ คงสงสัยกันล่ะสิครับว่าอะไรมันเงียบ ก็ที่ขาดหายไปคือเสียงร้องหรือสัญญาณเสียงของรอกไงครับ เสียงสวรรค์ของนักตกปลาที่ได้ยินเมื่อไหร่มีอันต้องผวาเข้าหาคันเบ็ดกันทุกคน กินข้าวอยู่ในซุ้มตามบ่อเป็นต้องวางช้อนผวาพรวดไปคว้าคัน ลงเรือออกทะเลขนาดทำธุระอยู่ในห้องน้ำท้ายเรือ ได้ยินเสียงรอกร้องยังทะลึ่งจำเสียงรอกตัวเองได้อีกแน่ะ ตะโกนลั่นออกมาจากออกห้องน้ำบอกเพื่อน เฮ้ย ! คันตรู ๆ ใครอย่ายุ่งนะ เดี๋ยวตรูวัดเอง อีกอย่างหนึ่งคือ การตกปลาที่ต้องวางหรือปักคันเบ็ดรอปลา ถ้าถูกปลาชาร์จคามือในขณะที่ยังไม่ทันวางหรือปักคันนี่นับเป็นอะไรที่เท่มาก ถ้าเหยื่อลงน้ำปุ๊บปลาชาร์จปั๊บ เมื่อตวัดติดแล้ว ก็จะเห็นท่าอัดปลาที่แสนสง่าผ่าเผยตามมาทันที เผลอ ๆ มีหันมายักคิ้วให้เพื่อนในซุ้มหรือในเก๋งเรืออีกแน่ะ ดู่ ดู๊ ดู ดูมันทำ....เอิ๊ก ๆๆๆ
พอมาตีเหยื่อปลอมซึ่งแน่ล่ะ เวลาปลาชาร์จเหยื่อมันต้อง คามือ ทุกตัวแน่นอน เพราะ...
ต้องถือคันเบ็ดไว้ตลอดเวลา เสียงสัญญาณของรอกแสนเร้าใจที่หายไป ก็พอจะกล้อมแกล้มกันได้ด้วยเหยื่อผิวน้ำนี่แหละ แล้วเหยื่อปลอมประเภทอื่นล่ะ ? ไม่มีอะไรที่ตื่นเต้นเร้าใจมั่งหรือ ?
มีสิครับ...แต่ที่จะแนะนำ มันเป็นความตื่นเต้นแบบสุขุมลุ่มลึกหน่อย รวม ๆ แล้วเป็นวิธีการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมที่ความตื่นเต้นเกิดจากการ ลุ้น และความภูมิใจคือเราเป็นผู้ทำให้เหยื่อมัน มีชีวิต
ภาพที่ 2ผมเคยกล่าวถึงประเด็นนี้ไว้นานแล้วว่า นักตกปลาหลาย ๆ คนคงได้ยินมา หรืออาจจะเป็นคำตอบหนึ่ง
สำหรับคำถามที่ว่า ได้อะไรจากการตกปลา ? คำตอบที่คุ้นหูที่สุดได้แก่ ได้สมาธิ ได้ความสงบ ฝึกความอดทน ระหว่างรอปลากินเหยื่อ ทำให้เป็นคนใจเย็น คิดอะไรที่สร้างสรรค์ได้หลายอย่างในระหว่างที่รอคอยปลากินเหยื่อ
แล้วในระหว่างตกปลา เคยถามตนเองบ้างไหมว่ามันเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ?
มาถึงโจทย์ใหม่ ๆ...
การตกปลาด้วยเหยื่อปลอม มีวิธีไหนบ้างที่ทำให้ใจเย็น ใจจดจ่อจนเกิดสมาธิ ?
พูดถึงกีฬากอล์ฟ ก็แค่ตีให้ลูกลงหลุม แต่กว่าลูกจะลงหลุมได้ ทำไมมันมีอะไรซับซ้อน ต้องวางแผน ยากเย็น และละเอียดอ่อนถึงปานนั้น ?
เซนส์ของคันเบ็ดทำไมมีความสำคัญ ? ผมตีเหยื่อปลอมทีไร ก็ลากเหยื่อสร้างแอ็คชั่นมาตามปกติ รู้สึกตัวปลาก็ติดเบ็ดเรียบร้อยแล้วทุกที
ผมตีเหยื่อปลอมมานาน ใช้เหยื่อมาแทบทุกประเภท ได้ปลามานักต่อนัก ไม่มีอะไร ตีไปลากมา ปลาไม่กัด ตีใหม่ ปลากัด ก็อัดขึ้นมา ไม่เห็นยาก แต่ก็เหมือน ๆ จะอิ่มตัว เริ่มเฉย ๆ แล้วครับ
ผมฟังแต่เพลงร็อค ฮาร์ดคอร์ แรง ๆ เร็ว ๆ กระตุ้นตัวเองให้มีพลัง มีไฟ อยู่นิ่งไม่ได้ จนผมกลัวว่าจะกลายเป็นคนสมาธิสั้นไปซะก่อน ถ้าผมเปลี่ยนแนวไปฟังเพลงคลาสสิกบ้าง อย่างซิมโฟนีของโมสาร์ท บาค บีโธเฟน ไชคอฟสกี้ หยั่งเงี้ยะ พอจะทำให้ผมเยือกเย็น สงบขึ้นบ้างมั้ย ? แล้วผมจะโดนเพื่อน ๆ หาว่าทำตัวแปลกแยกมั้ยครับ ?
คำตอบของคำถามข้างต้นสำหรับนักตกปลาด้วยเหยื่อปลอม มีอยู่ในเหยื่อปลอมที่เราเรียกกันว่า เหยื่อยาง (Soft Bait)
ตามผมมาสิครับ...
เหยื่อยางถือกำเนิดขึ้นในโลกมาเนิ่นนานกว่า 60 ปีแล้ว จากการที่ฝรั่งเค้าพยายามสร้างเหยื่อปลอมที่เลียนแบบสิ่งมีชีวิตที่เป็นอาหารตามธรรมชาติของปลาให้มีความใกล้เคียงมากที่สุด เหยื่อปลอมมาตรฐานก่อนที่เหยื่อยางจะเกิดขึ้นจะมีรูปแบบเลียนแบบลูกปลาเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการเสาะหาวัสดุมาสรรสร้างไม่ใช่เรื่องยาก แต่เมื่อเกิดแนวคิดจะสร้างเหยื่อเลียนแบบ หนอน ไส้เดือน จิ้งจก ขึ้นมา ถ้าขืนเอาไม้มาเหลาเป็นรูปหนอนตัวแข็งทื่อ ตีลงน้ำไปคาดว่าคงจะหาปลาหน้ามืดมากัดได้ยากแน่นอน นอกจากปลามันเข้าใจว่าหนอนตัวนี้อยู่ในขั้นของการเป็น ดักแด้ กินได้ แฮ่ ๆๆๆ
เมื่อโลกก้าวเข้าสู่ยุคของพลาสติก สูตรทางเคมีของส่วนผสมของเนื้อพลาสติกถูกคิดค้นออกมาอย่างต่อเนื่องเพื่อให้ตรงกับความต้องการที่จะนำพลาสติกนั้นไปใช้งาน ทั้งเนื้ออ่อน เนื้อแข็ง ทนไฟ ทนความร้อน และหนึ่งในสูตรนั้นคือการผสมเนื้อพลาสติกเพื่อใช้ทดแทน ยางธรรมชาติ ที่เรียกว่า ยางเทียม เหยื่อปลอมที่ทำจากพลาสติกเนื้อนุ่มนิ่มจากเมืองนอกเมืองนาจึงถูกคนไทยเรียกด้วยความถนัดปากว่า เหยื่อยาง ทั้งที่ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับยาง (Rubber) และฝรั่งอั้งม้อเจ้าของภาษาเองเค้าก็จัดให้เหยื่อประเภทนี้อยู่ในกลุ่มของ Soft Plastic Bait
สูตรของเนื้อพลาสติกได้ถูกพัฒนาจนทำให้มีความ เหนียว นุ่ม ยืดหยุ่น เมื่อนำมาทำเหยื่อปลอมโดยผสมสีกับวัสดุอื่นที่ต้องการลงไปแล้วนำไปทำละลายก่อนหยอดในแบบพิมพ์ (Mold) ที่ทำไว้ ทั้งรูปแบบของหนอน ไส้เดือน จะมีความใกล้เคียงกับธรรมชาติมาก โยนให้ไก่ในเล้า ไก่ก็จิก โยนให้กบในบ่อเลี้ยง กบก็งับ (ต่อมาทั้งไก่ทั้งกบนอนหงายท้อง) โยนใส่สาว ๆ สาว ๆ ก็กรี๊ด (เป็นวิธีเทสต์แอ็คชั่นส่วนตัว) โยนใส่กระทะแม่ค้าขายหนอนรถด่วน อันนี้โดนแพ่นหัวแน่ครับ ไม่แนะนำ
Hard Bait กับ Soft Bait ในสิ่งที่เหมือนกันคือ นักตกปลาต้องเป็นผู้สร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อ จะด้วยการลากยาว ลากช้าลากเร็ว ลากแล้วหยุด ลากแบบกระตุก (เคาะเหยื่อ) แต่สำหรับ Soft Bait แล้ว การใช้งานจะเป็นไปในลักษณะอ้อยอิ่ง เรื่อย ๆ มาเรียง ๆ หน่อย และมีแอ็คชั่นพิเศษคือ การโรยตัวด้วยความพริ้วไหว การดีดดิ้นระริกระรี้ ดูมีชีวิตชีวา ยั่วประสาทปลานักล่าได้มากกว่าเล็กน้อย และในเหยื่อยางบางรูปแบบที่มีการค้นคว้าพัฒนามาเป็นอย่างดี ยังสร้างคลื่นสั่นสะเทือนใต้น้ำที่มีความถี่ในระดับที่เรียกร้องความสนใจจากปลาได้อีก บางรูปแบบก็สร้างฟองอากาศเล็ก ๆ หรือปล่อยกากเพชรละเอียดระยิบระยับเป็นทางให้ปลาติดตาม ราวนางเอกหนังอินเดียวิ่งร้องเพลงข้ามภูเขาส่าหรีปลิวว่อนให้พระเอกวิ่งตาม ประมาณว่า Come on Baby, Im Here (เวลาอ่านให้บีบเสียงเล็ก ๆ ขึ้นจมูกเล็กน้อย) ว่ากันหยั่งงั้นเลย เหยื่อยางบางประเภทยังลอยน้ำได้ นับเป็น Jerk Bait ประเภทหนึ่ง
ภาพที่ 3เหยื่อยางมีกี่ประเภท...
ถ้าไม่ลงรายละเอียดถึงวัสดุที่ใช้ทำและคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ ที่ผู้ผลิตใส่ลงไปในตัวเหยื่อ ก็สรุปเป็นประเภทใหญ่ ๆ ได้ 2 ประเภท คือ
1. เหยื่อที่มีรูปแบบเหมือนกับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติที่เป็นอาหารของปลา เช่น หนอน ไส้เดือน กบ ปลา จิ้งจก กุ้ง ปู จิ้งหรีด แมลงสาป ตั๊กแตน ตะขาบ ปลิง เป็นต้น เหยื่อแบบนี้สร้างขึ้นโดยมีต้นแบบที่ชัดเจน มีตัวเป็น ๆ ให้เห็นทั่วไป นักตกปลาเพียงเลือกใช้ให้เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่เท่านั้น
2. เหยื่อที่มีรูปแบบแตกต่างกับสิ่งมีชีวิตตามธรรมชาติโดยสิ้นเชิง เหยื่อพวกนี้จะถูกค้นคว้า วิเคราะห์ และพิสูจน์ออกมาก่อนการผลิตแล้วว่า เวลาใช้งานจะเกิดแอ็คชั่นที่ทำให้ปลาเข้าใจว่าเป็นอาหารได้ ได้แก่ Grub, Bug, Hog, Tube, หนอนสองหาง หนอนหางใบโพธิ์ หนอนหางปลา หนอนขนมีหาง หนอนบั้ง เป็นต้น เหยื่อแบบนี้ ทำให้การตกปลาด้วยเหยื่อยางมีรสชาติและท้าทาย เพราะต้องอาศัยจินตนาการและประสบการณ์ในการเลือกใช้ รวมถึงการสร้างแอ็คชั่นที่แตกต่างกันออกไปตามลักษณะของเหยื่อ
ทุกท่านคงรู้ ๆ อยู่กันอยู่ว่า ปลาล่าเหยื่อน้ำจืดระดับสุดยอดของเมืองมะกันกับพี่ยุ่น ที่ทำให้บรรดานักตกปลาหลงใหลคลั่งไคล้ ทำให้วงการตกปลาด้วยเหยื่อปลอมมีเม็ดเงินหมุนสะพัดในปริมาณมหาศาลในแต่ละปี อุปกรณ์ เหยื่อ ต่าง ๆ ล้วนถูกพัฒนาอย่างไม่หยุดยั้งเพื่อพิชิตพี่ท่าน และพี่ท่านเองก็เป็นส่วนสำคัญในการสร้างนักตกปลาระดับโปร ฯ ขึ้นมา ใช่แล้วครับ พี่ท่านคือ ปลาแบส (Bass) ที่นักตกปลาไทยหลายท่านใฝ่ฝันอยากสัมผัส (แต่ไม่เหมาะสมด้วยประการทั้งปวงที่จะให้มาแพร่พันธุ์ในแหล่งน้ำเปิดของเมืองไทย) หนึ่งในเหยื่อปลอมที่ได้รับการยอมรับว่าใช้ได้ผลดีที่สุดกับปลาแบสทุกสายพันธุ์ก็คือเหยื่อยางนี่แหละครับ ความที่ว่าปลาแบสนิยมบริโภคเหยื่อมีชีวิต และชอบอยู่บริเวณใต้กิ่งก้านสุมทุมพุ่มไม้ริมฝั่งในทะเลสาป บ่อยครั้งที่หนอนตัวอวบอ้วนร่วงจากกิ่งไม้ หรือจิ้งจกเล่นไล่จับกันบนกิ่งไม้แล้วพลาดหล่นป๋อมลงไปดิ้นกระแด่ว ๆ ในน้ำ พี่แบสท่านก็ได้อาหารโปรตีนชั้นยอดไป
แล้วปลาล่าเหยื่อของเมืองไทยล่ะ...
พูดถึงเฉพาะปลาน้ำจืดนะครับ หลัก ๆ ที่ตั้งใจตกกันด้วยเหยื่อปลอม ก็คงนับกันได้ไม่ยาก กะพง ช่อน กระสง ชะโด กระสูบ บู่ ถูกพิชิตด้วยสารพัดเหยื่อปลอมมานักต่อนัก สุดแต่ว่าใครชอบและถนัดใช้เหยื่อประเภทไหน
ภาพที่ 4เหยื่อปลอมกับปลาช่อน...
ปลาช่อน (Snakehead Fish) ปลาเศรษฐกิจคู่บ้านคู่เมืองที่เราคุ้นเคย ปลาน้ำจืดเนื้อดีที่ทำอะไรก็อร่อย พบเจอกันได้ทั่วไปแทบทุกแหล่งน้ำ (รวมทั้งตลาดสดทั่วไป ) ปลาช่อนเป็นปลาที่มีอวัยวะพิเศษที่สามารถหายใจจากอากาศได้โดยตรงนอกจากการกรองออกซิเจนจากน้ำผ่านเหงือกเหมือนปลาอื่นทั่วไป ปลาช่อนจึงไม่ค่อยอินังขังขอบกับสภาพแวดล้อมเท่าไหร่นัก น้ำนิ่งฉันก็อยู่ได้ น้ำไหลฉันก็อยู่ดี แต่โดยทั่วไปจะพบว่าปลาช่อนนิยมอยู่ในบริเวณน้ำตื้น ๆ แถบชายตลิ่ง ขึ้นจิบอากาศเป็นระยะ ๆ ปลาช่อนเป็นปลาล่าเหยื่อที่ขึ้นชื่อในเรื่องความดุ แต่เนื่องจากนิสัยส่วนตัวเป็นพวกชอบซุ่มรอเหยื่อมากกว่าว่ายตามหาเหยื่อ (นิสัยคล้าย ๆ ผม) กลยุทธ์นี้ทำให้ปลาช่อนได้เปรียบในการล่า เพราะปิดโอกาสที่เหยื่อจะรู้ตัวว่ามีศัตรูว่ายรี่เข้าหา เหยื่อตามธรรมชาติของปลาช่อนได้แก่ กบ เขียด ปาด ลูกปลา จิ้งจก ถ้าเคลื่อนที่ผ่านบริเวณจุดที่มันซุ่มอยู่ล่ะก็ มักจะไม่ได้กลับบ้าน ถ้าเหยื่อเคลื่อนที่เร็วมาก มีโอกาสบ้างที่ปลาช่อนจะพุ่งตัวออกมาไล่ตาม แต่มักจะเป็นระยะสั้น ๆ เมื่อเห็นว่าไม่ทันหรือเกินระยะตามพิกัดของ GPS มันก็จะเลิกตาม ค้อนให้ควั่บนึงแล้วว่ายกลับไปซุ่มคอยใหม่ที่จุดเดิม อีกโอกาสหนึ่งที่ปลาช่อนตามเหยื่อคือมันรู้สึกว่ากัดโดนและฟันของมันขบเข้าไปในตัวเหยื่อแล้ว เหยื่อกำลังได้รับบาดเจ็บ มันก็จะตามซ้ำ ถ้ามันกัดเหยื่อได้เต็มที่และคาบอยู่ในปากมั่นคงแล้วธรรมชาติของมันจะม้วนลงลึก ซุกอยู่กับพื้นหรือมุดลงโคลน หรือว่ายเข้าหาแนวกำบังเพื่อกลืนเหยื่อ แต่บ่อยครั้งโดยเฉพาะในจุดที่น้ำตื้น ปลาช่อนกัดมุดโคลนแล้วจะคาบเหยื่อไว้นิ่งเฉย เหมือนจะรอให้เหยื่อตายสนิทก่อนที่จะกลืนลงไป
ถามถึงเหยื่อปลอมที่ใช้ได้ผลกับการตกปลาช่อน อันดับแรกที่นึกถึงไม่พ้นเหยื่อประเภท Blade และ Vibration Blade หรือที่พี่ไทยเราเรียกว่า กระดี่เหล็ก ที่ออกอาละวาดพิชิตปลาช่อนในแหล่งน้ำทั่วทุกภาคมาช้านาน เป็นเหยื่อตัวแรก ๆ ที่นักตกปลาที่ตั้งใจตกปลาช่อนหยิบจากกล่องมาใช้ และมันก็ผ่านการพิสูจน์มาแล้วว่าได้ผลดีจริง
ถึงปลาช่อนจะเป็นปลาล่าเหยื่อซึ่งยัดเยียดความตายให้กับเหยื่อของมัน แต่ตัวมันเองก็มีความระแวดระวังภัยสูงเช่นกัน ปลาช่อนมันรับรู้ถึงความผิดปกติได้ไวมาก ถ้ามันกัดเหยื่อปลอมไม่ได้จังหวะที่ติดเบ็ดจริง ๆ เพียงสัมผัสคมเล็กน้อย มันก็คายเหยื่อทิ้งได้เร็วพอ ๆ กับที่มันกัด แถมยังมีเมมโมรีอีกว่า ไอ้ตัวเมื่อกี้ที่ฉันกัดเนี่ยมันกินไม่ได้ ต่อไปต้องระวังแล้ว ถึงแม้จะยังพิสูจน์ไม่ได้ว่านานแค่ไหนที่ปลาช่อนเข็ดเบ็ด แต่สำหรับวันนั้น ถ้าพลาดปลาตรงจุดไหน ย้ายไปตีจุดใหม่ได้เลยครับ
เหยื่อยางกับปลาช่อน...
หลายคนที่ให้ความสนใจในการใช้เหยื่อยางตกปลาช่อน และติดต่อมาสอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับผม มักจะถูกผมถามก่อนเสมอว่า คุณคิดว่า คุณได้ปลาช่อนจากเหยื่อประเภทอื่นถึงจุดที่อิ่มตัวหรือยัง หรือไม่ก็ คุณคิดว่า คุณต้องการตกปลาช่อนเพียงเพื่อให้ได้ตัว หรือคุณต้องการความสนุกจากการตกปลาช่อน มีคำจำกัดความที่ผมคิดขึ้นเองว่า การตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยาง คือการทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก แต่เพลิน งงล่ะสิครับ อิ ๆ
เหยื่อยางแทบทุกประเภทใช้ได้ผลกับปลาช่อน ทั้ง Grub หรือไส้เดือนยางประกอบหัวจิ๊ก ปลายางประกอบหัวจิ๊ก เหยื่อเหล่านี้มีน้ำหนักจากหัวจิ๊กที่ประกอบอยู่ ทำให้ตีได้ระยะและความแม่นยำ การสร้างแอ็คชั่นก็อยู่ในลักษณะเดียวกับกระดี่เหล็ก คือ ลากช้า ๆ มากับหน้าดิน ให้หางโบกระริก ๆ มาช้า ๆ สลับการกระตุกเบา ๆ บางครั้ง เวลาปลาช่อนกัดมักจะติดเบ็ดทันที หรือถ้าไปพบปลาที่มีความระแวดระวังสูง พอมันรู้สึกถึงคมเบ็ด ก็คายทันทีเหมือนกัน
ภาพที่ 5ทำไมถึงต้อง TEXAS RIG
(เข้าเรื่องซะที)
วิธีการเข้าสายเกี่ยวเหยื่อยางมีมากมายหลายวิธีเหลือเกินครับ องค์ประกอบหลักคือ ชนิดเหยื่อที่ใช้ กับวิธีการสร้างแอ็คชั่น บางวิธีใช้กับการจอดเรือคร่อมบริเวณที่ปลาอยู่แล้วหย่อนเหยื่อลงไปสร้างแอ็คชั่นอยู่กับที่ บางวิธีใช้สำหรับบริเวณที่มีกระแสน้ำไหล แต่สำหรับการตกปลาช่อนบ้านเราซึ่งส่วนใหญ่ใช้วิธีตีส่งเหยื่อออกไปจากริมฝั่งแล้วลากกลับเข้ามา ดูเหมือนการเข้าสายแบบเท็กซัสริก (TEXAS RIG) จะค่อนข้างเหมาะสมและได้ผลดีเป็นที่คุ้นเคยกับนักตกปลาช่อน ที่สำคัญมันทำได้ไม่ยาก อุปกรณ์ที่ใช้ประกอบก็หาได้ทั่วไป สุดท้ายก็คือตัวนักตกปลากับปลา
ปัญหาสำคัญที่พบในการใช้เหยื่อปลอมตกปลาช่อนบ้านเราคือ
1. อุปสรรคต่าง ๆ ในแหล่งน้ำ เหยื่อปลอมประเภทที่พวงเบ็ด หรือคมเบ็ดโชว์ตัวอะร้าอร่าม ทำตัวเป็นเทศบาลเก็บกวาดทุกอย่างที่ก้นบ่อขึ้นมาดูเล่น ตั้งใจตกปลาช่อน แต่ตีไปไม่กี่สิบไม้ ถุงพลาสติก หญ้า สาหร่าย พืชใต้น้ำอื่น ๆ กองพะเนินอยู่ข้างตัวแทนปลา ได้แต่จุ๊ยปาก จิ๊กจั๊ก ๆ บ่นพึมพำ ปลดขยะเสร็จตีไปใหม่ เบ็ดสะบัดมาเกี่ยวสายเข้าให้อีกลากยังไงเหยื่อก็ไม่ออกแอ็คชั่น เฮ้อ....เซ็งสิครับ
2. ปลาช่อนบ่อนี้ทำไมมันรู้มากจัง เปลี่ยนสารพัดเหยื่อ กระดี่ก็แล้ว ปลายางก็แล้ว ปลั๊กดำตื้นก็แล้ว ไม่เอาเลย เวลากัดโดนนิดเดียวก็โดดถลุยเหยื่อทิ้งกันเห็น ๆ หยามกันชัด ๆ
3. หมายที่เข้าวันนี้มันรกจริง ๆ ผักบุ้ง ผักตบ ใบบัว เต็มไปหมด มีช่องเปิดให้เห็นน้ำนิดเดียว ปลาช่อนก็ดันขึ้นจิบให้เห็นถี่ยิบ จะส่งเหยื่ออะไรเข้าไปดีเนี่ย กลัวจะลากกลับมาทั้งกอ
การเข้าสายหน้าเหยื่อยางสไตล์เท็กซัสริก (TEXAS RIG) มาแก้ไขปัญหาที่ว่านี้ได้ครับ
แต่นั่นยังไม่เท่ากับประเด็นที่ผมเกริ่นนำมาตั้งแต่ต้น คือ มันเป็นวิธีที่ทำให้การตกปลาช่อนตามปกติ กลายเป็นเรื่องละเอียดอ่อนมีขั้นมีตอน เป็นศิลปะ เป็นความท้าทายได้จริง ๆ สำหรับมือ Hard Bait ทั่วไป ที่ดูเหมือนกับว่าจะอิ่มตัวแล้วกลับมาเริ่มต้นนับหนึ่งกันใหม่กับเหยื่อยางจะพบว่า เออ...จริงแฮะ ไอ้การหลอกปลานี่ทำมานานแล้ว แต่การชิงไหวชิงพริบกับปลา หรือโดนปลาหลอกมั่งนี่มันก็สนุกดี
ถ้าอยากรู้ว่าเมื่อสัก 10 ปี ก่อนที่เหยื่อประเภทหนอนยางหน้าตาแปลก ๆ สีสรรสวย ๆ กับเบ็ดเกี่ยวหนอนยางทรง J เป็นแค่ของประดับตู้โชว์ในร้านค้าอุปกรณ์ นาน ๆ จะมีลูกค้าสักคนไปถามราคา บางทีเจ้าของร้านยังนึกราคาไม่ออกเพราะไม่ได้ขายให้ใครนานแล้ว แต่ถึงทุกวันนี้กลายเป็นหนึ่งในเหยื่อฮิตติดตลาดที่ขายดิบขายดี มีพัฒนาการต่อเนื่องให้เห็นออกมาในรูปแบบที่ชวนให้เป็นเจ้าของและอยากลองใช้ เจ้าพ่อเหยื่อปลอมแบรนด์ดัง ๆ พากันผลิตออกมาไม่ขาดสาย ทั้งรูปร่าง สีสัน กลิ่น จนน่ากินเองมากกว่าซื้อไปตกปลา มันเป็นหยั่งงั้นได้ไง
คนตกปลา เวลาตกปลา ก็ย่อมอยากได้ปลา เป็นที่แน่นอนว่าเวลาเราเดินเข้าร้านอุปกรณ์ จะหาเลือกซื้อเหยื่อปลอมสักตัว ก็ต้องหาข้อมูล ข้อมูลที่ว่าในสมัยก่อน อาศัยการสืบทอดกันแบบปากต่อปาก มีคนที่ตกปลาด้วยเหยื่อแบบนั้นถ่ายรูปลงหนังสือบ่อย ๆ มีการโฆษณา + กับการแนะนำของเจ้าของร้าน ว่าเหยื่อชนิดไหนที่ใช้ได้ดี เป็นที่ยอมรับว่าใช้ได้ผล
วลีอมตะที่ว่า "เหยื่อที่ดีที่สุด ต้องตกนักตกปลาให้ได้ก่อนปลา" เมื่อก่อนเป็นจริง 100 %
แต่ใช้ไม่ค่อยได้ผลกับเหยื่อยาง
เพราะไม่ค่อยมีใครรู้ว่าจะใช้มันยังไง คนที่รู้และใช้เป็นก็ไม่ค่อยมีโอกาสได้ถ่ายทอดสู่วงกว้าง
และเพราะนักตกปลาส่วนใหญ่เคยชินกับเหยื่อปลอมที่ใช้ด้วยการตีออกไป ลากกลับมา ให้เหยื่อออกแอ็คชั่นเองตามการออกแบบ ไม่เคยชินกับการสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อ
และนักตกปลาไทยส่วนใหญ่เริ่มต้นชีวิตการตกปลาด้วยเหยื่อสด ไม่ว่าจะเป็นเหยื่อมีชีวิต เหยื่อตาย หรือเหยื่อจากธัญพืช ฯลฯ โดยการส่งเหยื่อออกไป แล้วรอให้ปลามากิน เมื่อเหลือบมองเหยื่อยางในตู้/ในซอง เห็นหน่วยก้านแล้วด้วยความเคยชินก็คิดว่าคงจะใช้โดยการเกี่ยวเบ็ดแล้วส่งลงน้ำไปรอให้ปลามากินเป็นแน่ แต่ไหงสีสันมันจัดจ้าน หรือมัวซัว รูปร่างก็พิลึกอย่างนั้น ปลามันจะกินไ้ด้ไง (ฟะ)
บางตัวก็เลียนแบบไส้เดือนชัด ๆ แล้วไส้เดือนจริง ๆ มันไม่ได้หากยากนี่
ไม่เอา ไม่ซื้อ !!!
TEXAS RIG ดียังไง
ผมขอเลี่ยงไม่กล่าวถึงว่า TEXAS RIG คืออะไร มีต้นกำเนิดจากไหน (จริง ๆ ชื่อมันก็บอกอยู่แล้ว ) เพราะคง search หาข้อมูลกันได้ไม่ยาก
แ่ต่จะกล่าวถึงเอกลักษณ์ที่สำคัญของความเป็น TEXAS RIG อยู่ 2 ประการ คือ
1. เวลาเกี่ยวเหยื่อยางต้องซ่อนคมเบ็ด
2. Worm Weight (ตะกั่วที่ออกแบบสำหรับเหยื่อยาง มีหลุม (Hollow) อยู่ด้านท้ายให้ครอบไปบนหัวเหยื่อยาง) เวลาใช้งาน จะอยู่ติดหรือครอบไปบนหัวเหยื่อยาง
เพื่ออะไร ?
ไม่มีอะไรซับซ้อน...
1. น้ำหนักของตะกั่วช่วยให้ส่งเหยื่อไปได้ไกล และตรงเป้าหมายมากขึ้น และ
2. ประเด็นสำคัญ ด้วยรูปทรงของตะกั่ว Worm Weight ทำให้เหยื่อยางเดินทางผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ในแหล่งน้ำไปได้อย่างสะดวก
สารพัด RIG หลาย ๆ รูปแบบ มีการเกี่ยวเหยื่อแบบซ่อนคมเบ็ด เบ็ดจะไม่ไปเกี่ยวอุปสรรคต่าง ๆ ก่อนปลาจะเข้ากัด
แต่ RIG แบบ TEXAS เวลาลากหรือกระตุก (Jerk) ตะกั่วจะอยู่ที่หัวเหยื่อยาง ช่วยในการ แหวก มุด ลอด ผ่านอุปสรรคต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกมากขึ้น
แล้วทำไมไม่ใส่อุปกรณ์ที่ล็อคให้ตะกั่วติดกับหัวเหยื่อไปเลย เช่น ไลน์สต๊อปเปอร์ ?
ตามอัธยาศัยครับ
ใส่ลูกปัดทำไม?
1. ป้องกันปมเงื่อนมุดเข้าไปติดคาอยู่ในตะกั่ว จะทำให้เหยื่อไม่เป็นอิสระ ออกแอ็คชั่นไม่เต็มที่ เวลาตวัดตะกั่วอาจยังอยู่ในปากปลาด้วย ทำให้เบ็ด Hook เข้าปากปลายากขึ้น ตามทฤษฎีเวลาตวัด ตะกั่วควรวิ่งตามสายออกจากปากปลาไป
2. ป้องกันปมเงื่อนช้ำ ลดโอกาสสายขาดบริเวณปมเงื่อน
3. ลูกปัดบางชนิด เวลากระทบกับตะกั่วจะเกิดเสียง เรียกความสนใจจากปลา
ไม่ใส่ได้ไหม?
ตามอัธยาศัยครับ
ภาพที่ 6TEXAS RIG กับปลาช่อนเมืองไทย
ผมไม่อาจสืบค้นได้ว่า นักตกปลาท่านใดเป็นท่านแรกที่ใช้ RIG แบบนี้ในการตกปลาช่อนในเมืองไทย ทราบแต่เพียงว่า ย้อนไปสัก 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีนักตกปลาหลายท่านเริ่มใช้เหยื่อยางแบบจริง ๆ จัง ๆ และสมัยนั้นรูปแบบของเหยื่อยางส่วนใหญ่จะเลียนแบบตัวหนอน กับไส้เดือน (ผมกับเพื่อน ๆ เคยซื้อกันตัวละบาท) ก็เลยเรียกนักตกปลาผู้นิยมเหยื่อเหล่านั้นว่า "โปรฯ หนอนยาง" กัน
นักตกปลาด้วยเหยื่อปลอม (Hard Bait) ทั้งหลาย มักถูกถ่ายทอดกันมาว่า ตีส่งเหยื่อออกไปแล้ว เวลากรอสายกลับ ให้ชี้ปลายคันลงน้ำ เพื่อให้เหยื่อออกแอ็คชั่นเต็มที่ (ยกเว้นเหยื่อบางประเภทต้องใช้ปลายคันช่วย) และเวลาปลากัด จะได้ตวัดเซ็ทฮุคได้ทันที
แต่เมื่อได้มีโอกาสเห็น "โปรฯ หนอนยาง" ตกปลาช่อน เล่นเอายืนงง เขาทำอะไรของเขา ตีเหยื่อออกไปแล้วยกปลายคันขึ้นสูง แล้วมีการกระตุก ๆ ยึก ๆ เป็นภาพที่ดูแปลกตามากในขณะนั้น
แต่ที่ ตาเปิด เห็นแสงสว่างขึ้นมา ก็คือ "ไอ้การประกอบเหยื่อแบบนี้มันลุยไปได้ทุกที่จริง ๆ ไม่ติด ไม่เกี่ยว อุปสรรคใด ๆ เลย "
บางเหลี่ยมบางมุมที่เราคาดว่ามีปลาช่อนซุ่มอยู่ แต่ดูแล้วมันรกเหลือใจ เขาก็ยังส่งเหยื่อเข้าไปได้อย่างหน้าตาเฉย เหยื่อตกน้ำแล้วทิ้งไว้สักพัก ไล่สายตึงแล้วเริ่มขยับปลายคันเบา ๆ ตึ้ก !!! ฟองฟ่อด......
ต่อเมื่อผมมาเริ่มใช้เหยื่อยางตกปลาช่อนด้วยสไตล์ TEXAS RIG ผ่านไปประมาณสัก 10 ทริป ภาพแปลกตา ก็กลายเป็นภาพชินตา
นิยามส่วนตัวที่ว่า "การตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยาง คือการทำเรื่องง่าย ๆ ให้เป็นเรื่องยาก แต่เพลิน เกิดขึ้น
มันคือการใส่อะไรที่มากมายลงไป "ตรงกลาง" ระหว่าง "ตีเหยื่อออกไป.......ลากปลาขึ้นมา"
และนี่คือการถ่ายทอดประสบการณ์ของผมกับการตกปลาช่อนด้วยเหยื่อยาง เผื่อจะเป็นประโยชน์แก่กระทู้นี้
มีหลาย ๆ สำนวน หลาย ๆ วรรค ถูกคัดลอก ถูกนำไปดัดแปลง เพิ่มเติม ปะติดปะต่อ ปรากฏในสื่อ ในเว็บไซต์บางแห่ง แต่ผมไม่ได้คิดอะไร เพราะเราคิดตรงกันได้ ไม่แปลก
1. Rig แบบ Texas ค่อนข้างเป็นที่นิยมในบ้านเรา เพราะการประกอบ เข้าสาย เกี่ยวเหยื่อ ทำได้ง่าย ดูตัวอย่างครั้งเดียวก็เข้าใจ
2. เหยื่อยางใน Texas Rig นักตกปลามักจะเลือกเหยื่อที่ถูกออกแบบมาให้เกิดแอ็คชั่นได้ง่ายด้วยตัวมันเอง ซึ่งมักจะให้ความมั่นใจแก่นักตกปลามากกว่าเหยื่อที่มีรูปทรงที่ดูแล้วมองไม่ออกว่าจะทำยังไงให้มันดูเหมือนมีชีวิตและเป็นที่สนใจของปลา
3. นักตกปลาด้วยเหยื่อปลอมบ้านเรา เคยชินกับการตีเหยื่อออกไป แล้วก็ลากกลับเข้ามา เหยื่อแต่ละประเภทก็ออกแอ็คชั่นต่างกันไป แต่พอมาลองใช้เหยื่อยางก็ยังติดการลากกลับมา ให้เหยื่อว่ายน้ำ ที่จริงการสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อมีมากมายมหาศาลจนแทบหาข้อยุติไม่ได้ "จินตนาการ" จึงเป็นข้อสรุป ก็คือ ลองไปเลยครับ ลองหลาย ๆ วิธี หลาย ๆ รูปแบบ ปลาไม่กัดก็เปลี่ยนวิธี เปลี่ยนเหยื่อ ปลากัดก็จดจำไว้ สำคัญคือ "อย่าเบื่อ อย่าท้อ" ใช้เหยื่อยางผมบอกได้เลย ถ้าไม่อดทนก็แทบโยนคันทิ้ง ทั้งที่รู้ว่าปลาเต็มบ่อ แต่บทพ่อจะไม่กัดขึ้นมา ใครจะทำไม
4. การสร้างแอ็คชั่น สำหรับ Texas Rig ถ่ายทอดจากประสบการณ์ที่พอมีเล็กน้อยให้ฟังนะครับ
- ส่งเหยื่อไปตรงจุดที่คิดว่ามีปลา โดยส่งเหยื่อให้ต่ำ ๆ เรียดผิวน้ำหน่อย ถ้ามีลักษณะเป็นตลิ่ง ก็ส่งขึ้นขอบตลิ่งไปเลย กระตุกเบา ๆ พอเหยื่อตกน้ำ หยุดก่อน ถ้ามีปลาตรงนั้น ส่วนใหญ่จะกัดทันที แต่ถ้าไม่มีปลากัด พอวงคลื่นน้ำหายไป ค่อย ๆ กรอสายตึง เจิร์คเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วหยุด ถ้าปลาว่ายตามเสียงเหยื่อตกน้ำมา มักจะกัดจังหวะนี้
- เหยื่อที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง ลากมากกว่าเจิร์ค ลากช้าแค่ไหน ? ช้าสุดขีดเท่าที่รู้สึกได้ว่าหนอนมันกระดึ๊บ ๆ มากับพื้น เหยื่อพวกนี้หางสั้น เวลาลากมาลำตัวจะสร้างแรงสั่นสะเทือนที่ปลารู้สึกได้ ขูดกับดินมาเลยแต่หางจะโบกแบบระริก ๆ มา ถ้ารู้สึกว่าหนืด ๆ คือพื้นใต้น้ำเป็นโคลนเหลวเกินไป ก็เจิร์คให้โดดบ้างก็จะดี
- ปลาไม่กัดเหยื่อยางที่อยู่นิ่ง ๆ เฉย ๆ ปลากัดเพราะคิดว่าเจ้านี่มีชีวิต เป็นอาหาร กัดเพราะว่าเจ้านี่มันดูกะปลกกะเปลี้ย ร่อแร่ ๆ กัดเพราะว่า เจ้านี่ละเมิดอธิปไตย ล้ำถิ่น ปล่อยให้ผ่านหน้าไปเฉย ๆ ได้ไง เอาซะหน่อย
- เหยื่อประเภท Grub ที่หางยาวกว่าลำตัว ไส้เดือนยาง พวกนี้แอ็คชั่นอยู่ที่หาง เจิร์คเข้าไปครับ เจิร์คโดด ปล่อยตก ลดคันเก็บสายพอตึง เจิร์คอีก เจิร์คเร็วแค่ไหน ? ตามใจพระเดชพระคุณครับ แต่อย่าให้เร็วขนาดโดดสามทีเหยื่อกลับถึงตัวต้องตีใหม่
- บนใบบัว ตีลงไปเลยครับ ลากเหยื่อให้ตกลงร่องระหว่างใบเบา ๆ ฟรีสปูล ส่งสายไปหน่อย ทำไงต่อ ? อ๋อ ปู่เราเรียกว่า "หยก" ครับ จับที่สายหน้ารอก กระตุกขึ้น ปล่อยลง ระวังให้ดีละกันครับ ถ้า "ปั๊บ" !! เข้าให้ก็อย่าส่งนาน วัดหนัก ๆ แล้วรีบเอามันออกมาในชัยภูมิที่เราได้เปรียบกว่า อ้อ หมายใบบัวนี่ จิ้งจกยางเป็นพระเอกครับ และ Weightless หรือไร้ตะกั่วจะเวิร์คมาก กลัวตีไม่ออกก็พันตะกั่วฟิวส์ที่ท้องเบ็ดไปซะหน่อย หรือจะใช้เบ็ดที่หุ้มตะกั่วสำเร็จรูปเลยก็ได้ครับ
- จังหวะได้เสีย
1. เหยื่อตกน้ำใหม่ ๆ
2. กำลังลากหรือเจิร์คเพลิน ๆ
3. ระยะ 5 เมตร ตรงหน้าเรานี่แหละ
ภาพที่ 7การสร้างแอ็คชั่น
ลากและหยุด (walk & wait)
วิธีนี้ใช้ดีกับเหยื่อยางที่มีลักษณะผิวไม่เรียบ (ห้ามคิดลึก) เหยื่อไม่มีหางตัวอ้วน ๆ เหยื่อหางสั้น ๆ เช่น หนอนขน หนอนบั้ง เหยื่อที่หัวโต ๆ หัวตัด เหยื่อพวกนี้จะสร้างฟองอากาศ ความสั่นสะเทือน ขุดดินให้ฟุ้ง จากการลาก เวลาลากให้ลากช้า ๆ ลากประมาณ 1 หลา แล้วหยุดรอ แต่ถ้าจับความรู้สึกได้ว่า ลากแล้วเกิดความหนืดขึ้นมาก ๆ แสดงว่าเหยื่อมุดเลน ให้กระตุกเบา ๆ 1 ครั้ง แล้วเริ่มลากต่อ
กระตุกโดดแล้วปล่อยตก (jerk & drop)
วิธีนี้ใช้ได้ดีกับเหยื่อยางที่มีหางงอทั่วไป เช่น Grub ไส้เดือนยาง ให้กระดกปลายคันเป็นจังหวะช้า ๆ แล้วหยุด เหยื่อจะถูกกระตุกขึ้น แล้วหัวทิ่มลงตามน้ำหนักตะกั่ว หางจะโบกสร้างคลื่นและความสั่นสะเทือน ตามประสบการณ์ ปลามักจะกัดเมื่อเหยื่อตกลงถึงหน้าดิน คือ พอเริ่มจะกระดกคันครั้งต่อไป พบว่าสายหนักแล้ว ดังนั้น พยายามไล่สายให้เกือบตึงเสมอก่อนกระดกคันแต่ละครั้ง
กระตุกแบบถี่ ๆ (jerk)
วิธีนี้ใช้กับเหยื่อยางประเภท กบยาง (Toad, Frog) (ไม่ใช่กบยางผิวน้ำ เช่น scum frog) และหนอนสองหาง ให้ลดปลายคันลงต่ำออกด้านข้างตัว กระตุกเบา ๆ และถี่ เหยื่อจะออกแอ็คชั่นในลักษณะกบว่ายน้ำมาเรี่ย ๆ หน้าดิน วิธีนี้เหยื่อจะกลับถึงตัวค่อนข้างเร็ว และปลามักจะชาร์จเหยื่อด้วยความรุนแรง
มีวิธีการเจิร์คที่ส่วนตัวชอบใช้คือ กระตุกสองครั้ง คือ ครั้งแรกกระตุกขึ้นเบา ๆ แล้วกระตุกครั้งที่สองทันทีโดยให้แรงขึ้น แล้วลดคันลงทันที วิธีนี้ตะกั่วจะวิ่งรูดขึ้นมาตามสายระยะหนึ่งแล้วตกลงก่อนเหยื่อเหยื่อจะตกลงช้าๆ ตามลงมา ดูเป็นธรรมชาติมากกว่า และเมื่อเหยื่อตกถึงพื้นจะตกในตำแหน่งห่างกว่าตะกั่ว ลอยตัวขึ้นนิด ๆ ถ้ามีปลากัด จะกัดได้เต็มที่ คือการประยุกต์จากการเข้าสายหน้าแบบ Carolina Rig มาใช้ อธิบายให้เห็นภาพลำบาก
เมื่อปลากัดเหยื่อ จะรู้สึกสะดุด และมีฟองอากาศให้เห็น การสะดุดจะเบาหรือแรง มีฟองอากาศมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับองค์ประกอบหลายอย่าง ได้แก่ สายหย่อนหรือตึงอยู่ ความลึกของน้ำ ขนาดของปลา และความสามารถของคันเบ็ดและสาย
เมื่อปลากัดแล้ว ถ้าน้ำตื้น ๆ จะเห็นพรายฟองขึ้นล้อมสาย ต้องรีบลดคันลง ฟรีสปูล สาวสายออกมากส่งให้ปลา สัก 2 เมตร (ทั้งหมดทำด้วยความรวดเร็วพร้อม ๆ กัน ให้เคยชิน) เพื่อลดความระแวงของปลาในการพาเหยื่อไป ถ้าปลาสมัครใจว่ายน้ำพาเหยื่อไป สายจะเริ่มเดินออก อันนี้จะง่ายหน่อย สบายเรา ดูทิศทางการว่ายน้ำของปลาให้ชัดเจน
ปัญหาที่พบ และเป็นเสน่ห์ในการชิงไหวชิงพริบกับปลา คือ ปลากัดแล้วไม่เดิน (ไม่ว่ายน้ำไป กัดแล้วนิ่งเฉย) ทำให้ไม่กล้าตวัดเพราะไม่แน่ใจว่าปลากลืนเหยื่อแล้ว หรือกำหนดทิศทางการตวัดไม่ได้ จึงต้องมีวิธีการ "เตือนปลา" โดย
สาวสายออกจากรอกมาถือไว้ กระตุกสายเบา ๆ หรือใช้ปลายคันกระดกสายเบา ๆ (ย้ำว่าเบา ๆ) หลอกปลาว่าเหยื่อกำลังดิ้น ปลาจะเริ่มออกว่ายน้ำพาเหยื่อไปขยอกกลืน ทำให้กำหนดทิศทางการตวัดได้ แต่บางพื้นที่ปลาอาจจะคายเหยื่อทันที ถ้าตกใจมาก ๆ ปลาจะกระโดดขึ้นสะบัดเหยื่อทิ้งกลางอากาศ ซึ่งเป็นภาพที่สวยงาม แต่เสียดแทงหัวใจเราอย่างมาก
มื่อมั่นใจว่าเหยื่อและเบ็ดอยู่ในปากปลาแล้ว สับแขนหมุนปลดฟรีสปูล ไล่เก็บสายให้ตึง หรือถ้าปลาลากอยู่ สายก็จะตึงเอง ตวัดสวนทิศทางปลาด้วยความเร็ว (ย้ำว่า สายต้องตึง สวนทิศทาง และด้วยความเร็วไม่ใช่ความแรง) ตวัดแล้วคาคันไว้ เพื่อให้แอ็คชั่นของคันช่วยย้ำคมเบ็ด
ลักษณะการตวัดเบ็ด ไม่มีข้อจำกัดใด ๆ ผมย้ำเพียง "สายตึง สวนปลา อย่ากระชาก" ถ้าเบ็ดที่ใช้คมเพียงพอ ด้วยรูปทรงของเบ็ดเกี่ยวเหยื่อยาง มันจะทะลุเหยื่อแล้วฮุคเข้าอวัยวะของปลาเองอย่างง่าย ๆ ผมเห็นหลายท่านที่ชำนาญ ตวัดเพียงแค่ข้อมือไม่ต้องเต็มวงแขน ถ้าสายตึง แม้จะใช้สายขนาดแรงดึงเพียง 4 - 6 ปอนด์ เบ็ดก็ยังติดปลาได้ดี สายก็ไม่ขาด ตวัดแล้วคาอย่างที่บอก แอ็คชั่นของคันจะย้ำคมเบ็ดให้เอง
ภาพที่ 8การเลือกสีของเหยื่อในแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน อยู่ที่สภาพแวดล้อม ความเคยชินของเหยื่อที่ปลาล่าเป็นอาหาร เราต้องหาให้เจอ
โดยปกติเรามักคิดแทนปลาว่า เลือกสีที่ปลามองเห็นชัด ๆ "เราเห็น ปลาก็ต้องเห็น"
ความคิดนี้ จึงถูกบัญญัติเป็นพื้นฐานของการเลือกสีของเหยื่อ ว่า "ควรเลือกสีที่ตัดกับสภาพแหล่งน้ำ" เป็นอันดับต้น ๆ ข้อเท็จจริงจึงถูกมองข้ามไปว่า...
ปลามีสัมผัสพิเศษ คือ "เ้ส้นประสาทรับความรู้สึกข้างลำตัว" (Lateral Line)
และการรับรู้จากกลิ่น...
เพื่อเป็นข้อสันนิษฐานเบื้องต้นว่านั่นคือ "อาหาร"
ถ้าปลาใช้ตาเป็นหลัก ในน้ำขุ่น ๆ ปลาคงอดอาหารตายเพราะหาเหยื่อไม่เจอ ปลาที่อาศัยอยู่ในถ้ำหรือในทะเลลึกมาก ๆ ที่แสงไปไม่ถึงก็จะหาอาหารไม่ได้เลย
และถ้าปลาใช้ตาเป็นหลัก ปลาล่าเหยื่อจะไม่กัดเหยื่อปลอม เราจะใช้เหยื่อปลอมหลอกปลาไม่ได้เลย เพราะปลามันรู้ว่า "ปลอม"
ผมจึงเชื่อว่าแอ็คชั่นของเหยื่อที่สร้างการสั่นสะเทือนได้ใกล้เีคียงกับสิ่งที่เป็นอาหารของปลา เรียกความสนใจของปลาเป็นลำดับที่หนึ่ง ลำดับที่สองคือกลิ่น (ซึ่งเหยื่อปลอมต้องมองข้ามไป) และลำดับสุดท้ายของการตัดสินใจโจมตีเหยื่อคือสายตา ซึ่งที่จริงแล้วไม่ใช่องค์ประกอบสำคัญเลย เราจะพบว่าบางครั้งเพียงเหยื่อตกน้ำ ปลาก็หลับหูหลับตาเข้ากัดแล้ว (ถ้ารู้ว่ากินไม่ได้มันก็คายทิ้ง) ปลาล่าเหยื่อมีสัญชาตญาณที่รู้ดีว่ามันมีโอกาสไม่มากนักในการเข้ากัดเหยื่อ ปลาเหล่านี้จึงอาศัยความเร็วเป็นหลักในการเข้าโจมตีเพื่อไม่ให้เหยื่อได้ทันตั้งตัว...
แต่แน่นอนว่า ถ้าสีไม่สำคัญ เหยื่อปลอมในโลกนี้คงมีสีเดียวแน่ ๆ ซึ่งน่าจะเป็นสีขาว
สำหรับเหยื่อยาง การเลือกเหยื่อออกจากกล่องมาใช้ เชื่อว่า หลายคนมีเหยื่อตัวเก่งส่วนตัว ประเภทนี้ สีนี้ ไม่เคยทำให้ผิดหวัง อย่างน้อยก็เพื่อให้ได้ตัวเอาฤกษ์เอาชัยไว้ก่อน เหยื่อตัวเก่งจึงมักถูกอัญเชิญมาประเดิมหมายใหม่ ๆ ก่อนเป็นลำดับแรก....
ถ้าได้ตัว ก็มีโอกาสที่เหยื่อประเภทนั้น สีนั้น จะถูกใช้ไปตัวเดียวทั้งวัน ทั้ง ๆ ที่ยังมีแบบอื่นอยู่เต็มกล่อง พกเหยื่อมาเต็มกล่องใหญ่ ๆ เดินแบกไปด้วยระยะทางเป็นกิโล ๆ ใช้เหยื่อตัวแรกตีไปสองไม้กัดเลย ได้ตัว เลยใช้อยู่แบบเดียวสีเดียวทั้งวัน แล้วจะแบกที่เหลือไปทำไม
เสน่ห์ของการใช้เหยื่อยาง (รวมทั้งเหยื่อปลอมทุกประเภท) ก็เลยหายไป เพราะต้องการให้ได้ตัวแน่ ๆ และเยอะ ๆ อย่างเดียว จริงหรือเปล่า ถามใจตัวเองดู
ภาพที่ 9ยังมีความเข้าใจผิดอยู่พอสมควรเกี่ยวกับ TEXAS RIG โดยเฉพาะมือใหม่ ที่เรียกว่า "การตกปลาแบบเท็กซัส" ที่จริงแ้ล้ว TEXAS RIG เป็นเพียงวิธีการเข้าสายหน้าเกี่ยวเหยื่อยางวิธีหนึ่ง ในจำนวนหลากหลายแบบ เป็นของสากล ไม่ใ่ช่ของใครคนใดคนหนึ่ง การสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่ออยู่ที่ความถนัด ความชำนาญ ประสบการณ์ และความชอบของแต่ละบุคคล แต่ด้วยความที่การเข้าสายหน้าแบบเท็กซัส มันค่อนข้างลงตัวกับการใช้ตกปลาช่อนในเมืองไทย ทั้งที่ต้นตำรับฝรั่งคิดค้นไว้ตกปลาแบส อย่างที่ผมกล่าวถึงไว้ในบทความ
เมื่อเข้าถึงจุดนี้ อีกนิยามหนึ่งจึงผุดขึ้นในใจผม
"One Pattern Twenty Actions Thousand Practices" (หนึ่งแพ็ทเทิร์น ยี่สิบแอ็คชั่น หนึ่งพันแพร็คทีส)
หมายความว่า
- เมื่อเริ่มใช้เท็กซัสริก เราท่านต่างเริ่มต้นด้วยแพ็ทเทิร์นเดียวกัน คือเข้าสายแบบเท็กซัสริกเหมือนกัน
- แล้วไปสร้างแอ็คชั่นให้เหยื่อซึ่งมีมากมายหลายสิบวิธี ตามแต่ความถนัด ความชำนาญ ประสบการณ์ และความชอบ ไม่มีใครมาบังคับได้ ท่านหยุด เหยื่อมันก็หยุด ท่านอยากให้เหยื่อมันดีดดิ้นยังไง พริ้วไหวยังไง ระริกระรี้ยังไง ท่านต้องใช้ปลายคันเบ็ดบังคับมัน
- ปลากัด หรือปลาไม่กัด มันคือบทเรียน ได้ตัว ไม่ได้ตัว มันคือบทเรียน ที่ต้องศึกษากันไปเสมอ ใช้ไม่บ่อยก็เป็นสิบบทเรียน ใช้บ่อย ๆ ก็เป็นร้อย เป็นพันบทเรียน
สูตรสำเร็จรูปแบบอื่นไม่มี มีเพียงวิธีการเข้าสายที่เหมือนกันทุกคน ที่เหลือมันคือตำราปกแข็งที่มีเนื้อหาอยู่หน้าเดียว บรรทัดเดียว และบรรทัดนั้นมันเขียนว่า "จินตนาการ"
Mr.SHARK 6/2/2013
ภาพที่ 10..........................
ภาพที่ 11....................
ภาพที่ 12......................
ภาพที่ 13......................
ภาพที่ 14...................
ภาพที่ 15....................
ภาพที่ 16.........................
ภาพที่ 17........................
ภาพที่ 18สถิติส่วนตัวปลาใหญ่เกือบ 3 กก. ที่ได้จาก Texas Rig เมื่อร่วม 6 ปีที่แล้ว
ภาพที่ 19....................
ภาพที่ 20.....................
แก้ไข 9 ต.ค. 58, 15:44