ภาพที่ 1 คัดลอกมาจาก นสพ.มติชน ครับ
พระพุทธรูปที่ประชาชนให้
ความศรัทธาเชื่อว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดองค์หนึ่งในประเทศไทย ต้อง “หลวงพ่อโสธร” วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา
วัตถุมงคลไม่ว่าจะเป็นรุ่นใดแบบใด ล้วนเป็นที่ปรารถนาของบรรดานักนิยมสะสม
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “เหรียญหลวงพ่อโสธรรุ่นแรก” สร้างปี พ.ศ.2460 เพื่อสมนาคุณผู้บริจาคซ่อมฐานชุกชี สมัยพระอาจารย์หลินเป็นเจ้าอาวาส
นอกเหนือจากเหรียญรุ่นแรก มีเหรียญอีกรุ่น ที่ได้รับความนิยมไม่แพ้กัน คือ “เหรียญหลวงพ่อโสธร หลัง ภปร ปี 2509” ที่เรียกกันว่า “รุ่นสร้างโรงเรียน”
ความสำคัญของเหรียญรุ่นดังกล่าว คือ ประการแรก จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นที่ระลึกเนื่องในวาระที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช โดยเสด็จพระราชกุศล สร้างโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร เมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2509
ประการที่สอง เป็นเหรียญจำลองพระพุทธรูปคู่บ้านคู่เมืองของ จ.ฉะเชิงเทรา และเป็นหนึ่งในพระพุทธรูปสำคัญเป็นที่เคารพศรัทธาของสาธุชนทั่วหล้า
ประการสำคัญ คือ ทรงโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้อัญเชิญพระปรมาภิไธยย่อ “ภปร” ประดิษฐานด้านหลังเหรียญ อันนับเป็นมหามงคลยิ่ง
เหรียญหลวงพ่อโสธร หลัง ภปร ปี 2509 จัดสร้างโดย พระพรหมคุณาภรณ์ (เจียม จิรปุญโญ) เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ พระราชพุทธิรังสี เจ้าอาวาสขณะนั้น
วันที่ 3 มิถุนายน 2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้าอุบลรัตนราชกัญญา ทรงประกอบพระราชพิธีวิสาขบูชา ที่วัดโสธรวรารามวรวิหาร
ด้วยอันเป็นมูลเหตุแห่งการจัดสร้าง “พระอุโบสถหลังใหม่” ที่งดงาม จากพระราชปรารภถึงความคับแคบ ไม่สมเกียรติหลวงพ่อพระพุทธโสธร
ลักษณะเหรียญหลวงพ่อโสธร หลัง ภปร ปี 2509 เป็นเหรียญเสมา หูในตัว มีห่วง
ด้านหน้าเหรียญ ยกขอบ 2 ชั้น ชั้นในเล็กกลมแบบเส้นลวด ตรงกลางเป็นรูปจำลองหลวงพ่อพระพุทธโสธรเต็มองค์ ต่อด้วยอักษรไทยว่า “หลวงพ่อ พระพุทธโสธร จังหวัดฉะเชิงเทรา” ล่างสุดเป็นตัวอักษร “พ” ซึ่งย่อมาจาก “พระราชพุทธิรังสี” พิมพ์ด้านหน้า แบ่งออกเป็น 2 พิมพ์ คือ พิมพ์ฐานบัว และพิมพ์ฐานเขียง โดยสังเกตจากฐานขององค์พระ
ด้านหลังเหรียญ ยกขอบหนาชั้นเดียว ตรงกลางเป็นพระปรมาธิไภยย่อ “ภปร” มีอักษรไทยจารึกว่า “ที่ระลึกโดยเสด็จพระราชกุศล สร้างโรงเรียนวัดโสธรวรารามวรวิหาร ๓ มิ.ย.๐๙” โดยมีสัญลักษณ์ “ดาว” ด้านหน้าและท้ายประโยค จัดสร้างเป็น เนื้อทองคำ เนื้อเงิน เนื้ออัลปาก้า และเนื้อทองแดง
ประกอบพิธีพุทธาภิเษก พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จฯ ไปทรงเป็นองค์ประธาน พร้อมด้วยพระเกจิอาจารย์ชื่อดัง เข้าร่วมอธิษฐานจิตปลุกเสก อาทิ หลวงพ่อทอง วัดก้อนแก้ว, หลวงพ่อจุ้ย วัดพงษาราม, หลวงพ่อโด่ วัดนามะตูม หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อเนื่อง วัดจุฬามณี ฯลฯ
วัดโสธรวรารามวรวิหาร จ.ฉะเชิงเทรา เป็นที่ประดิษฐาน “หลวงพ่อพระพุทธโสธร”
“พระพุทธโสธร” หรือ “หลวงพ่อโสธร” เป็นพระพุทธปฏิมากรปูนปั้น ลงรัก ปิดทอง พระวรกายแบบเทวรูป พระเกตุมาลาแบบปลี หรือทรงกรวย หมายถึงความอยู่เย็นเป็นสุข ตามคติของชาวจีน ข้อพระกรข้างขวามีกำไล
หลวงพ่อโสธรเป็นพระพุทธรูปปางสมาธิ คือ มีพระอิริยาบถนั่งขัดสมาธิเพชร พระชงฆ์ขวาทับพระชงฆ์ซ้าย พระหัตถ์ขวาทับพระหัตถ์ซ้ายวางซ้อนกันอยู่บนพระเพลา มีส่วนสูง 6 ฟุต 7 นิ้ว พระเพลากว้าง 5 ฟุต 6 นิ้ว
ทรงจีวรบางแนบองค์ ประทับอยู่เหนือรัตนบัลลังก์ 4 ชั้น ปูลาดด้วยผ้าทิพย์ มีความหมายถึงการอยู่สูงสุด ประดิษฐานอยู่ในพระอุโบสถวัดโสธรวรารามวรวิหาร บนแท่นชุกชีรวมทั้งหมด 18 องค์ หลวงพ่อโสธรอยู่ตรงกลาง
แต่เดิม หลวงพ่อโสธรประทับอยู่ในโบสถ์หลังเก่าที่มีขนาดเล็ก รวมกับพระพุทธรูปอื่นๆ 18 องค์
กระทั่งในปี พ.ศ.2509 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จพระราชดำเนินมาที่วัด และทรงมีพระราชปรารภเรื่องความคับแคบของพระอุโบสถเดิม
พระพรหมคุณาภรณ์ (เจียม จิรปุญโญ) อดีตเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา และอดีตเจ้าอาวาสวัดโสธรวรารามวรวิหาร จึงได้รวบรวมเงินบริจาคเพื่อจัดซื้อที่ดินสำหรับสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ ด้วยการสร้างขึ้นครอบพระอุโบสถหลังเดิม ใช้เทคนิควิศวกรรมสมัยใหม่ โดยไม่ได้เคลื่อนย้ายองค์หลวงพ่อพุทธโสธร และพระพุทธรูปทั้ง 18 องค์
พระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์องค์นี้ได้รับการเรียกขานจากชาวบ้านว่า หลวงพ่อโสธร ตามชื่อวัด เป็นพระคู่เมืองแปดริ้ว ตราบทุกวันนี้
เนื่องด้วยการจัดสร้างเหรียญหลวงพ่อพระพุทธโสธร หลัง ภปร ปี 2509 ในครั้งนี้ จัดสร้างเป็นจำนวนหลายหมื่นเหรียญ
ทำให้มีบล็อกแม่พิมพ์หลายแม่พิมพ์
เท่าที่มีผู้รู้ตรวจสอบดู ในเหรียญพิมพ์ฐานบัวมีคนแยกออกมาได้อีกประมาณ 4 บล็อก ส่วนพิมพ์ฐานเขียงแยกได้ประมาณ 3 บล็อก ส่วนด้านหลังหลัก จะมี 2 บล็อก
ดังนั้น จึงต้องเกิดการหมุนเวียนของบล็อกหน้า-บล็อกหลังในการกดแม่พิมพ์
อีกทั้งเมื่อกดแม่พิมพ์ไปนานๆ ก็จะเกิดการตื้นเขินของแม่พิมพ์ หรือเกิดเนื้อเกินในบางจุด ตามที่ทราบกันดีอยู่
ส่งผลให้เหรียญเกิดจุดตำหนิเหรียญในมากมายหลายแบบ เป็นที่ปรากฏออกมาเป็นการเรียกพิมพ์ย่อยในหลายชื่อหลายพิมพ์
ปัจจุบันเรียกได้ว่าเหรียญแท้ หายากยิ่ง และสนนราคาค่านิยมค่อนข้างสูง(เนื้อทองคำ)
ภาพที่ 2ถึงวันนี้ผ่านไป 52 ปี แล้ว ค่านิยมบูชาได้ในประมาณ ปีละ 20 บาท ครับ...
ไม่ลองหามาคุ้มตัวดูหรือครับ...
ได้ทั้งบารมีของหลวงพ่อ กับบารมี พระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9...