ชินราช หลวงพ่อโม วัดสามจีน ปีพ.ศ. 2460
ภาพที่ 1ชินราช หลวงพ่อโม วัดสามจีน ปีพ.ศ. 2460
ภาพที่ 2วัดสามจีน เป็นชื่อเรียกของชาวบ้าน ชื่อวัดอย่างเป็นทางการก็คือ วัดไตรมิตรวิทยารามวรวิหาร เป็นพระอารามหลวง ตั้งอยู่ที่ถนนตรีมิตร กทม. ชื่อเสียงของวัดไตรมิตรฯ มาดังกระหึ่มก็เมื่อตอนที่พบพระพุทธรูปทองคำ พุทธศิลปะสมัยสุโขทัย ที่คนโบราณพอกปูนพลางเอาไว้ นับเป็นมรดกอันล้ำค่าของชาติทีเดียว
ในอดีตวัดไตรมิตรฯ มีท่านเจ้าอาวาส ที่มีชื่อเสียงโด่งดังเช่นกันคือ พระครูวิริยะกิจการี (โม) หลวงพ่อโมท่านเป็นคนเชื้อสายจีน บิดามารดาเป็นคนตลาดน้อย กทม. โยมบิดาชื่อลิ้ม โยมมารดาชื่อกิมเฮียง ท่านเกิดเมื่อปี พ.ศ.2406 ในวัยเด็กท่านมีนิสัยชอบค้นคว้าตำรับตำรา รักสงบ ชอบเข้าวัดเข้าวา บิดามารดาจึงได้เอามาฝากศึกษาอักษรสมัยทั้งไทยและขอมกับสำนัก วัดสามจีน ซึ่งเป็นวัดที่อยู่ใกล้บ้าน ท่านขยันหมั่นเพียร การศึกษาจึงก้าวหน้ากว่าเด็กในรุ่นราวคราวเดียวกันและท่านเป็นคนมีจิตใจโอบอ้อมอารี จึงเป็นที่รักใคร่ของผู้ใกล้ชิด เมื่อมีอายุครบบวช ท่านจึงอุปสมบทที่วัดสามจีนโดยมีพระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) วัดปทุมคงคา เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอาจารย์สิงห์ วัดหัวลำโพง และพระอาจารย์แย้ม วัดสามจีน เป็นพระคู่สวด ได้รับฉายาว่า "ธมฺมสโร" จำพรรษาอยู่ที่วัดสามจีน ท่านเป็นพระที่เคร่งครัดในพระธรรมวินัยและขยันมั่นเพียรในการศึกษา จนได้ชื่อว่า เป็นพระภิกษุที่รอบรู้พระไตรปิฎกได้แตกฉาน และท่านก็ฉันเจตลอด
ต่อมาเมื่อพระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) ท่านได้รับสถาปนาเป็นเจ้าคณะเมืองพิษณุโลก ท่านเองก็ได้ติดตามพระอุปัชฌาย์ เป็นพระฐานานุกรมของพระปรากรมมุนี (เปลี่ยน) อีกด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งท่านเจ้าคุณปรากรมมุนี (เปลี่ยน) องค์นี้ท่านเป็นผู้เรืองวิทยาคมขลังรูปหนึ่ง มีชื่อเสียงโด่งดังมากทางด้านน้ำมนต์และลงขม่อมด้วยขมิ้นชัน เล่ากันว่าจะติดกะโหลกแน่นไปจนตายทีเดียวครับ หลวงพ่อโมท่านได้รับถ่ายทอดสรรพวิทยาคมจากท่านเจ้าคุณเปลี่ยนจนหมดสิ้น ต่อมาท่านเจ้าคุณปรากรมมุนี (เปลี่ยน) ท่านได้กลับลงมาครองวัดปทุมคงคา หลวงพ่อโมก็ติดตามกลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดสามจีน และเมื่อเจ้าอาวาสวัดสามจีนมรณภาพ หลวงพ่อโมท่านก็ได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าอาวาสสืบต่อมา สมณศักดิ์ครั้งสุดท้ายของท่านก็คือ "พระครูวิริยะกิจการี"
การสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อโมนั้นเข้าใจว่าท่านได้สร้างขึ้นเมื่อหลังจากกลับจากพิษณุโลกมาอยู่ที่วัดสามจีนแล้ว โดยท่านสร้างเป็นพระพิมพ์รูปพระพุทธชินราช สร้างด้วยเนื้อชิน ด้านหลังเรียบๆและท่านมักจะลงอักขระวิเศษ หัวใจพระพุทธมนต์ต่างๆ หลายแบบด้วยกัน และรูปแบบพระพุทธชินราชของหลวงพ่อโมนี้ ก็ยังมีพระคณาจารย์ในยุคต่อมาได้สร้างรูปแบบลักษณะนี้อยู่เช่นกัน เช่น พระพุทธชินราช เนื้อดิน วัดเสาธงทอง สุพรรณบุรี พระพุทธชินราช เนื้อชิน เฉพาะพิมพ์ใหญ่ ของวัดไลย์ ลพบุรี เป็นต้น
ในยุคที่หลวงพ่อโมท่านครองวัดสามจีนนั้น เป็นยุคที่นักเลงหัวไม้กำลังเฟื่อง แยกกันเป็นก๊กเป็นเหล่า มีเขตอิทธิพล เช่น ลั่กกั๊ก และเก้ายอด เป็นต้น และมักมีเรื่องมีราวกระทบกระทั่งตีรันฟันแทงกันอยู่เสมอ พระพุทธชินราชของท่านก็มีชื่อเสียงโด่งดังในยุคนี้ ในเรื่องอยู่ยงคงกระพันชาตรีเป็นเชื่อขนมกินได้เรียกว่าแมลงวันไม่ได้กินเลือดเลยทีเดียว
ในวันที่ 29 เดือนกันยายน พ.ศ.2461 หลังจากการทำวัตรเย็นเสร็จ ท่านก็ได้สั่งพระเณรเป็นพิเศษว่า "พรุ่งนี้เช้าขอให้พระเณรช่วยกันตื่นลงพระอุโบสถแต่เช้ามืดเป็นพิเศษหน่อย เพราะท่านจะสนทนาธรรมเป็นครั้งสุดท้าย" พอรุ่งอรุณของวันที่ 30 ท่านก็เทศนาสั่งสอนบรรดาศิษย์เป็นกรณีพิเศษ ในตอนสุดท้าย ท่านได้สั่งให้พระเณรทุกรูปช่วยกันทำนุบำรุงรักษาเสนาสนะให้เจริญก้าวหน้าและประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัยโดยเคร่งครัด" หลังจากนั้นท่านได้เจริญสมาธิเป็นลำดับและมรณภาพด้วยความสงบ สิริอายุได้ 55 พรรษาที่ 34