สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 17 ม.ค. 68
... เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.เพชรบุรี 2521 ... : Amulet
 ห้องพระเครื่อง > พระเหรียญ
ความเห็น: 8 - [28 พ.ย. 59, 19:54] ดู: 30,471 - [17 ม.ค. 68, 20:18] ติดตาม: 1 โหวต: 4
... เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.เพชรบุรี 2521 ...
Mr.maku (82 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
26 ส.ค. 57, 18:52
1
... เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.เพชรบุรี 2521 ...
ภาพที่ 1
เป็นเหรียญที่จัดสร้างขึ้นในคราวที่มีการสมโภชช้างเผือกในจังหวัดเพชรบุรี เหรียญสมโภชช้างเผือกนี้เท่าที่จำได้มีการจัดสร้างขึ้นในสองครั้ง

ต่อเนื่องกันสองปี คือเหรียญสมโภชช้างเผือกปี 2520 ที่จังหวัดนราธิวาส และปี 2521 ที่จังหวัดเพชรบุรี ลักษณะเป็นเหรียญที่มีพระบรมฉายาลักษณ์

ของทั้งสองพระองค์หันข้าง ต้นแบบเหรียญนี้มาจากเหรียญครบ 3 รอบของในหลวงนะครับ
... เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.เพชรบุรี 2521 ...
ภาพที่ 2
"พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ" ซึ่งเป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ กมุท สีกายดังดอกกมุท หรือบัวสายแดง

ได้รับพระราชทานนามเต็มว่า "พระเศวตอดุลยเดชพาหน ภูมิพลนามนาคบารมี ทุติยเศวตกรีกมุทพรรโณภาส บรมกทลาสนวิศุทธวงศ์

สรรพมงคลลักษณคเชนทรชาต สยามราษฎรสวัสดิประสิทธิ์ รัตนกุญชรนิมิตบุญญาธิการ ปรมินทรบพิตรสารศักดิเลิศฟ้า ๚"

สำหรับพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เป็นช้างพลายเผือกโท เกิดในป่าเขตจังหวัดกระบี่ เมื่อปี 2494 ถูกคล้องได้ที่ บ้านหนองจูด

ตำบลดินอุดม อำเภอลำทับ เมื่อปี 2499 โดยนายแปลก ฟุ้งเฟื่อง และนายปลื้ม สุทธิเกิด(หมอเฒ่า) เป็นลูกช้างติดแม่อยู่ในโขลงช้างป่า

พร้อมกับช้างอื่นๆ อีก 5 เชือกคือ พังสาคร พลายทอง พังเพียร พังวิไล และพังน้อย โดยในตอนนั้น พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ

ได้ชื่อว่า "พลายแก้ว" มีความสูง 1.60 เมตร เมื่อพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ)ได้ตรวจสอบคชลักษณ์ แล้วพบว่าเป็นช้างสำคัญ

จึงนำมาเลี้ยงไว้ที่สวนสัตว์ดุสิต เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2500

ต่อมา พล.ต.บัญญัติ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ประธานองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย ได้นำขึ้นทูลเกล้าถวาย เมื่อวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2501

เพื่อประกอบพิธีขึ้นระวางเป็นช้างต้น และพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้กำหนดพระราชพิธีสมโภช

ขึ้นระวางช้างเผือกประจำรัชกาล ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต  เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2502

พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ เติบโตขึ้นโดยการดูแลขององค์การสวนสัตว์ ที่สวนสัตว์ดุสิต และมีอาการดุร้ายมากขึ้น จนควาญช้างควบคุมไม่ได้

จึงต้องจับยืนมัดขาทั้งสี่ไว้กับเสา จนกระทั่ง สมเด็จพระนางเจ้า พระบรมราชินีนารถ มีพระราชเสาวณีย์ โปรดเกล้าฯให้นำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ

เข้าไปยืนโรงในโรงช้างต้น ภายในพระราชวังสวนจิตรลดา เมื่อ พ.ศ. 2519

การนำพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ไปยังโรงในโรงช้างต้น พระราชวังสวนจิตรลดา ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้บันทึกคอลัมน์ ข้าวไกลนา

เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2519 ไว้ว่า

        "...ในขณะที่นำคุณพระจากสวนสัตว์ดุสิตไปยังสวนจิตรลดา ซึ่งเพียงแต่มีถนนคั่นอยู่สายเดียวนั้น คุณพระก็อาละวาดอย่างหนัก

ไม่ยอมออกเดิน เอางวงยึดต้นไม้จนต้นไม้ล้ม จนแทบจะหมดปัญญาเจ้าหน้าที่ กว่าจะนำคุณพระจากเขาดินไปถึงประตูสวนจิตรลดา

ซึ่งมองเห็นกันแค่นั้น ก็กินเวลาหลายชั่วโมง ต้องใช้คนเป็นจำนวนมากถือปลายเชือกที่ผูกไว้กับขาคุณพระทั้งสี่ขา คอยลากคอยดึง

และดูเหมือนจะต้องใช้รถแทรกเตอร์เข้าช่วยขนาบข้าง เสี่ยงอันตรายกันมากอยู่ แต่ในที่สุดก็นำคุณพระไปยังประตูพระราชวังได้

พอได้ก้าวเท้าเข้าไปในบริเวณพระราชวัง คุณพระก็เปลี่ยนไปทันที จากความดุร้ายก็กลายเป็นความสงบเสงี่ยม เดินอย่างเรียบ

ร้อยไปสู่โรงช้างต้น และเข้าอยู่อย่างสงบเรื่อยมา.."

ปัจจุบัน พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ ย้ายไปยืนโรง ณ โรงช้างต้น พระราชวังไกลกังวล หัวหิน โดยเคลื่อนย้ายคุณพระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ

เมื่อวันที่ 17-18 มีนาคม 2547 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชโรงช้างต้น เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2547
... เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.เพชรบุรี 2521 ...
ภาพที่ 3
หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช บันทึกว่า คุณพระเศวตเล็ก ถูกพบโดยนายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการอ โดยโขลงช้างเดินทาง

เข้ามาใกล้หมู่บ้านในเวลากลางคืน พอตอนเช้าก็พบเห็นลูกช้างพลัดฝูงอยู่ใต้ถุนบ้าน สันนิษฐานว่าแม่ช้างจะรู้ว่าลูกช้างตัวนี้เป็นช้างสำคัญ

และนำมาส่งที่หมู่บ้าน เพื่อเข้ามาสู่พระบารมี ตั้งแต่ยังไม่หย่านม เมื่อนายเจ๊ะเฮงได้เลี้ยงดูลูกช้างนั้นไว้ วันหนึ่งมีสุนัขตัวเมียป่วยหนักใกล้ตาย

ได้กระเสือกกระสนมาบริเวณที่คุณพระเศวตเล็กกำลังอาบน้ำอยู่ ได้กินน้ำที่ใช้อาบตัวคุณพระอาการป่วยก็หายไป คงเหลือเพียงอาการปากเบี้ยว

และกลายเป็นสุนัขที่คอยคลอเคลียติดตามคุณพระเศวตเล็กตลอดมา ได้ชื่อว่า "เบี้ยว"

ทางสำนักพระราชวัง โดยพระราชวังเมือง (ปุ้ย คชาชีวะ) เจ้ากรมช้างต้นได้ตรวจสอบ พบว่าลูกช้างนั้นมีมงคลลักษณะถูกต้องตามคชลักษณศาสตร์

อยู่ในพรหมพงศ์ ตระกูลช้าง 10 หมู่ ชื่อ “ดามพหัตถี” พระเศวตสุรคชาธารนับเป็นช้างต้นช้างที่สามในรัชกาลปัจจุบัน พ.ต.อ.ศิริ คชหิรัญ

ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวาย เมื่อวันที่ 9 มีนาคม พ.ศ. 2511 หลังจากพิธีสมโภชขึ้นระวาง

และย้ายไปยืนโรงที่โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต นางเบี้ยวก็ได้ติดตามมาด้วย และออกลูกหลานติดตามคุณพระเศวตเล็ก

อยู่ภายในพระราชวังดุสิต อีกหลายสิบตัว
... เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.เพชรบุรี 2521 ...
ภาพที่ 4
สำหรับช้างเผือกทั้ง 10 เชือกในรัชกาลปัจจุบัน ประกอบด้วย

        1.พระเศวตอดุลยเดชพาหนฯ
       
ช้างพลายเผือกโท ลูกเถื่อน นายแปลก คล้องได้ที่จังหวัดกระบี่ เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๙ พลโท บัญญัติเทพหัสดิน ณ อยุธยา

ประธานคณะกรรมการองค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย น้อมเกล้าฯถวาย เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๑เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์

จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ กมุท สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๑๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๐๒

        2.พระเศวตวรรัตนกรีฯ

ช้างพลายเผือกลูกบ้าน ตกลูกที่บ้านนายแก้ว ปัญญาคง ตำบลอ่อนใต้ อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พันตำรวจเอกนิรันดร ชัยนาม

ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๔มกราคม พ.ศ. ๒๕๐๙

        3.พระเศวตสุรคชาธารฯ

ช้างพลายเผือกลูกเถื่อน นายเจ๊ะเฮง หะระตี กำนันตำบลการออำเภอรามัน จังหวัดยะลา ได้ลูกช้างพลัดแม่ พันตำรวจเอก ศิริ คชหิรัญ

ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา น้อมเกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๙ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑ เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกช้าง ๑๐ หมู่

ชื่อ ดามพหัตถี สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดยะลา เมื่อวันที่ ๑๑ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๑๑

        4.พระศรีเศวตศุภลักษณ์ฯ

ช้างพังเผือกลูกเถื่อน ชื่อเจ้าแต๋น กรมป่าไม้ได้มาจากอำเภอพนมสารคาม จังหวัดฉะเชิงเทรา ได้นำไปเลี้ยงไว้ ณ วนอุทยานเขาช่อง จังหวัดตรัง

ผู้ว่าราชการจังหวัดตรัง และอธิบดีกรมป่าไม้ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์

สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น สวนจิตรลดาพระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ.๒๕๑๙

        5.พระเศวตศุทธวิลาศฯ

ช้างพลายเผือกลูกเถื่อน ชื่อบุญรอด คนงานของกรมป่าไม้ได้พบลูกช้างที่ป่าบริเวณแม่น้ำแควน้อย จังหวัดกาญจนบุรี ต่อมาได้นำมาเลี้ยงไว้

ณ อุทยานเขาเขียว จังหวัดชลบุรี อธิบดีกรมป่าไม้ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อดามพหัสดินทร์

สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๒๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐

        6.พระวิมลรัตนกิริณีฯ

ช้างพังเผือกลูกเถื่อน ชื่อขจร นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้มาจากจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และได้นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้าน ณ ทุ่งสีกัน

กรุงเทพฯ นายปรีชาและนางพิมพ์ใจ วารวิจิตร ได้น้อมเกล้าฯ ถวาย เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์จำพวกอัฏฐทิศ ชื่อ กมุท

สมโภชขึ้นระวาง ณ โรงช้างต้น พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน พระราชวังดุสิต เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๒๐

        7.พระศรีนรารัฐราชกิริณีฯ

ช้างพังเผือก ลูกเถื่อน ชื่อจิตรา นายมายิ มามุ ราษฎรบ้านกูมุง หมู่ที่ ๗ ตำบลจะแนะ อำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ได้ลูกช้างพลัดแม่

บนเทือกเขากือซา นายวัชร สิงคิวิบูลย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาส น้อมกล้าฯ ถวาย เมื่อวันที่ ๒๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐

เป็นช้างสำคัญในตระกูลพรหมพงศ์ จำพวกอัฏฐทิศ ชื่ออัญชัน สมโภช ขึ้นระวาง ณ จังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ ๒๔ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๒๐

        8.พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ

ช้างพลายเผือก ลูกเถื่อน ชื่อภาศรี นายสุรเดช มหารมย์เจ้าของไร่ภาศรี ใกล้เขื่อนแก่งกระจาน อำเภอ ท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี

ได้มาจากชาวบ้านกะเหรี่ยงบ้านหนองปืนแตก ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์

ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวายสมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์ จำพวกอัฏฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์

        9.พระเทพวัชรกิริณีฯ

ช้างพังเผือกลูกเถื่อน ชื่อขวัญตา พระปลัดบุญส่ง ธัมมปาโลเจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ อำเภอเมืองเพชรบุรีจังหวัดเพชรบุรี

ได้มาจากนายสนิท ศิริวานิชกำนันตำบลเขาน้อย อำเภอปราณบุรี จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์

ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑

เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์จำพวก อัฎฐคช ชื่อ ดามพหัสดินทร์

        10.พระบรมนัขทัศฯ

        ช้างพลายเผือกเล็บครบ ลูกเถื่อน ชื่อดาวรุ่ง พระปลัดบุญส่งธัมมปาโล เจ้าอาวาสวัดเขาบันไดอิฐ ได้มาจากราษฎร อำเภอปราณบุรี

จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ได้นำมาเลี้ยงไว้ที่วัดเขาบันไดอิฐ คู่กับช้างพัง"ขวัญตา" นายศุภโยค พาณิชย์วิทย์ ผู้ว่าราชการจังหวัดเพชรบุรี

น้อมเกล้าฯ ถวาย สมโภชขึ้นระวาง ณ จังหวัดเพชรบุรี เมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๒๑ เป็นช้างสำคัญในตระกูลวิษณุพงศ์

จำพวกอัฏฐคช ชื่อครบกระจอก เป็น ช้างที่มีเล็บครบ ๒๐ เล็บ คือเท้าละ ๕ เล็บทั้ง ๔ เท้า
... เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.เพชรบุรี 2521 ...
ภาพที่ 5
เหรียญนี้ได้จัดสร้างขึ้นในคราวที่สมโภชช้างเผือกทั้ง 3 คือ พระเศวตภาสุรคเชนทร์ฯ  พระเทพวัชรกิริณีฯ และพระบรมนัขทัศฯ

เหรียญนี้มีทั้งสิ้น 3 เนื้อนะครับ เป็นเหรียญเนื้อทองคำ เนื้อเงิน และเนื้อทองแดง
... เหรียญสมโภชช้างเผือก จ.เพชรบุรี 2521 ...
ภาพที่ 6
แม้ว่าเหรียญนี้จะไม่ได้มีมูลค่าอะไรที่สูงมากมาย หลายๆ คนคงจะไม่สนใจด้วย ผมเองก็เช่นกัน เพิ่งจะมาหยิบๆ จับๆ ส่องดูเมื่อวันก่อนนี้เอง

จำได้ว่ามีอยู่สองสามเหรียญและมีเหรียญเนื้อเงิน หนึ่งเหรียญ แต่หาไม่เจอไว้ต้องลองค้นดูครับ พอได้เหรียญนี้มาถึงมาลองหาข้อมูลดู

กลับไปสะดุดใจกับเรื่องของพิมพ์ของเหรียญที่นำเอาพิมพ์ของเหรียญครบ 3 รอบมาเป็นแม่แบบในการสร้างและเรื่องของ "แม่เบี้ยว"

สุนัขคู่บุญของพระเศวตฯ จึงค้นต่อก็พบเรื่องราวเกี่ยวกับช้างเผือกมากมาย รู้สึกว่าสนุกและน่าสนใจ จึงนำเสนอผ่านเหรียญสมโภชฯ นี้

ขอขอบคุณเพื่อนๆ ที่เข้ารับชมนะครับ...Mr.maku





กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2025
siamfishing.com/content/view.php?cat=amulet&nid=176331