... เหรียญนักกล้ามหลวงปู่มุม ปี 2517 ...
ภาพที่ 1ประวัติหลวงปู่มุม พระครูประสาธน์ขันธคุณ หรือที่พุทธศานิกชนชาวศรีสะเกษและชาวไทยรู้จักโดยทั่วไปในนาม หลวงปู่มุม หรือ
หลวงพ่อมุม เป็นอดีตเจ้าอาวาสวัดปราสาทเยอเหนือ อำเภอไพรบึง จังหวัดศรีสะเกษ บรรพชาเป็นสามเณรตั้งแต่ยังเด็กและอุปสมบท
เป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 20 ปี แล้วดำรงอยู่ในสมณเพศตลอดชีวิตจนมรณภาพ เป็นพระภิกษุผู้ถือเคร่งทางธรรมปฏิบัติธรรมกัมมัฏฐาน
ได้ฝึกเดินธุดงค์ไปตามป่าเขาในบริเวณเทือกเขา พนมดงเร็ก เขตจังหวัดทางภาคอีสานตอนล่างของประเทศไทย และเดินธุดงค์เข้าไป
ในประเทศกัมพูชาจำพรรษาอยู่ในประเทศกัมพูชาหลายปี หลังจากนั้นจึงได้กลับมาจำพรรษาอยู่ที่วัดปราสาทเยอเหนือ บ้านเกิด
ซึ่งเป็นหมู่บ้านที่มีกลุ่มชาติพันธุ์เยอ ตั้งถิ่นฐานอยู่ จากความสมถะ มักน้อย สันโดษและเคร่งครัดในวัตรปฏิบัติของสงฆ์
ทำให้เป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของพุทธศานิกชนทั่วไป และที่โด่งดังเป็นที่รู้จักของประชาชนทั่วประเทศก็คือความศรัทธาใน
วัตถุมงคลกลุ่มที่ชื่อ พระหลวงพ่อมุม ซึ่งท่านได้เคยสร้างและทำพิธีปลุกเสกด้วยตัวเอง โดยพิธีพุทธาภิเษกแบบเขมรโบราณ
ทั้งยังเป็นผู้มีส่วนร่วมบำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในบวรพระพุทธศาสนาและเพื่อสังคมไว้มหาศาล
ภาพที่ 2 วัดปราสาทเยอเหนือ เป็นวัดโบราณมีอายุเก่าแก่ที่สุดวัดหนึ่งของจังหวัดศรีสะเกษหรือจังหวัดขุขันธ์ ในอดีต
วัดแห่งนี้ได้รับการก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. 1313 หรือราวต้นพุทธศตวรรษที่ 14 ตั้งแต่สมัยทวารวดีและสมัยขอม อันเป็นช่วงเวลาก่อนการตั้งเมือง
ศรีนครลำดวน (ต้นเค้าเมืองขุขันธ์ที่พัฒนามาเป็นจังหวัดขุขันธ์และจังหวัดศรีสะเกษ) ใน พ.ศ. 2302 ปัจจุบัน ภายในวัดยังคงปรากฏซากปราสาทหิน
สมัยขอมซึ่งมีสภาพชำรุดมากแล้วคือ ปราสาทเยอ นั่นเอง
ภาพที่ 3วัดปราสาทเยอเหนือ ยังเป็นวัดแห่งแรกที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
เสด็จพระราชดำเนินเพื่อนมัสการพระครูประสาธน์ขันธคุณ และทรงทอดพระกฐินเป็นการส่วนพระองค์หรือกฐินต้นถวาย
เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม พ.ศ. 2514 ทั้งยังทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชทรัพย์ให้กับทางราชการ
เพื่อสร้าง ศาลา ภ.ป.ร. ถวาย ทดแทนศาลาวัดหลังเดิมที่มีสภาพชำรุดทรุดโทรม เหล่าพสกนิกรชาวจังหวัดศรีสะเกษและจังหวัดใกล้เคียง
มีโอกาสเฝ้ารับเสด็จ ทั้งสองพระองค์ อย่างล้นหลามเป็นประวัติการณ์ ท่ามกลางสายฝนที่โปรยลงมาอย่างหนัก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ
และสมเด็จพระบรมราชินีนาถ ก็ได้เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรท่ามกลางสายฝนเช่นเดียวกัน ยังความปลาบปลื้มยินดีแก่พสกนิกรอย่างล้นพ้น
ภาพที่ 4หนึ่งในพระที่ได้ศึกษากับสมเด็จลุน :
ในการออกธุดงค์หลวงปู่มุมได้พบกับหลวงพ่อโฮมและได้ศึกษาวิชาต่างๆ กับหลวงพ่อโฮมจนแตกฉานแล้วจึงออกออกธุดงค์ต่อไปอีก
ผ่านป่าดงดิบไปสู่เขตจังหวัดสระบุรี เพื่อกราบสักการะรอยพระพุทธบาท พระพุทธฉาย ที่วัดพระพุทธบาท แล้วล่องต่อมาจนถึง
จังหวัดพระนครศรีอยุธยา เข้าจำพรรษาอยู่หลายวัด ก่อนจะต่อไปยังจังหวัดสุพรรณบุรี เข้าสู่เขตอำเภอชัยบาดาล จังหวัดลพบุรี
ต่อเนื่องไปยังพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเลย อาณาจักรล้านช้าง เมืองเวียงจันทน์ ท่าแขก และสุวรรณเขต ตลอดระยะเวลา
และเส้นทางในช่วงที่ท่านธุดงค์มานั้นก็ได้พบกับพระอาจารย์ที่มีวิชาอาคมเก่งกล้าหลายๆท่าน พระมุมได้ปวารนาตนเป็นศิษย์
ขอศึกษาเล่าเรียนและแลกเปลี่ยนความรู้วิชาต่างๆมากมาย จนได้รับคำแนะนำจากพระอาจารย์เหล่านั้น ให้ไปหาสมเด็จลุน
เกจิอาจารย์แห่งนครจำปาศักดิ์ ประเทศลาว ท่านจึงธุดงค์ต่อไปเพื่อไปหาสมเด็จลุน แต่ต้องผิดหวังเพราะสมเด็จลุนเดินทาง
ไปยังจังหวัดอุบลราชธานี พระมุมจึงได้ตามไปที่จังหวัดอุบลราชธานี จนพบกับสมเด็จลุนและฝากตัวเป็นศิษย์ติดตามกลับเข้า
ไปนครจำปาศักดิ์อีกครั้ง ได้ศึกษาความรู้ทางอาคมขลัง เลขยันต์ต่างๆ สมเด็จลุนยังได้มอบตำราวิทยาคมไสยเวทย์ให้กับท่าน
เพื่อนำมาศึกษาเพิ่มเติม
จากนั้น พระมุมได้ลาสมเด็จลุนออกจากจำปาศักดิ์เดินทางกลับมาทางจังหวัดอุบลราชธานี ระหว่างนั้นได้พบพระอาจารย์ดีๆ
ในตัวเมืองอุบลราชธานีระยะหนึ่ง แล้วจึงเดินทางต่อไปยังเมืองขุขันธ์ จนกลับถึงบ้านเกิดอีกครั้ง
การจาริกธุดงค์ของท่านแต่ละครั้งได้เดินทางเข้าป่าหาวิเวกแสวงธรรมไปตามป่าเขา ตามถ้ำ จนทั่วประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง
ทั้งลาว พม่า เขมร และมาเลเซีย ใช้เวลาธุดงควัตรอยู่ 10 พรรษา หลายครั้งของการออกเดินทางธุดงค์ต้องประสบกับความยากลำบาก
และอันตรายจึงเกือบถึงแก่ชีวิต เพราะต้องเดินด้วยเท้าเปล่า บางครั้งต้องเดินผ่านป่าดงดิบนับสิบๆวัน โดยมิได้พบหมู่บ้านเลย
สาเหตุที่หลวงพ่อมีความอดทนอดกลั้นได้นั้น เนื่องจากท่านมีสมาธิจิตที่แข็งกล้าและอาศัยอำนาจของ พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ
และพระสังฆคุณ อันยึดมั่นอย่างแน่วแน่อยู่เสมอนั่นเอง
ภาพที่ 5หลวงปู่มุม ยังเป็นหนึ่งในพระเถระผู้ร่วมประกอบพิธีพุทธาภิเษก พระกริ่งมหาราช ระหว่างวันที่ 3 ธันวาคม - 4 ธันวาคม พ.ศ. 2512
ซึ่งวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม หรือวัดโพธิ์ จัดสร้างขึ้นเพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
ภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เนื่องในวโรกาสมหามงคลที่ทรงได้รับการเทิดทูนอย่างสูงสุดจากปวงชนชาวไทย
โดยการถวายพระบรมราชสมัญญานาม มหาราช ต่อท้ายพระปรมาภิไธ
ภาพที่ 6เหรียญนักล้ามหลวงปู่มุม เป็นหนึ่งในเหรียญที่นักสะสมพระเครื่องสนใจมากอีกชิ้นหนึ่่ง ด้วยแรงประสบการณ์ล้วนๆ
ว่ากันว่า "ห้อยเหรียญนี้ แมลงวันไม่ได้กินเลือด" เป็นพุทธคุณที่โดดเด่นที่สุดอีกเหรียญหนึ่ง ที่ลงให้ชมนั้นเป็นเหรียญทั้งสองเนื้อนะครับ
รูปชุดแรกเป็นเนื้อนวะโลหะ ส่วนรูปล่างเป็นเนื้อทองแดง เหรียญชุดนี้หลวงปู่จารมือที่หลังเหรียญทุกเหรียญ
นักสะสมพระเครื่องที่ชื่นชอบพระเหรียญจะรู้จักเหรียญชุดนี้เป็นอย่างดี ในเนื้อทองแดงราคายังไม่สูงมากนะครับ
น่าจะหลักพันกลางๆ แล้วแต่ความสวยงาม ยังพอหาได้ครับ ส่วนเนื้อนวะก็ขึ้นไปอีกกว่าเท่าตัว ของพื้นที่ไม่ต้องไปหาเลยครับ
เก็บกันเงียบ แถมยังซื้อกลับพื้นที่อีก ถ้ามีก็ตลาดกลางนี่แหละครับ ยังมีของออกมาหมุนเวียนกันเรื่อยๆ
ของเก๊เพียบครับ ไม่ต้องห่วงมีเก๊ทุกสภาพ ทั้งงานฝีมือและงานสนาม ใครที่ชอบพระเหรียญลองหาดูนะครับ Mr.maku...//