ใช้แฟลชไดรฟ์ให้เป็นประโยชน์
เดี๋ยวนี้แฟลชไดรฟ์มีราคาถูกอย่างน่าใจหาย เมื่อ 3 ปีก่อน เราเคยซื้อแฟลชไดรฟ์ 128 MB ในราคา 1,200 บาท เวลานี้ ขนาด 1 GB มีราคาเพียง 190 บาทเท่านั้น เมื่อแฟลชไดรฟ์กลายเป็นสื่อบันทึกข้อมูลที่สามารถหาซื้อและพกพากันได้ทั่วไป เราจะประยุกต์ใช้ความสามารถจากแฟลชไดรฟ์มาช่วยป้องกันตัวจากโปรแกรมมัลแวร์ สปายแวร์ และไวรัส ตามร้านอินเทอร์เน็ตกันดีกว่า
เริ่มจากดาวน์โหลดโปรแกรมที่ชื่อ Avast ไวรัส คลีนเนอร์ ได้ที่
www.avast.com/ eng/down_ cleaner.html ความสามารถของโปรแกรมตัวนี้ก็คือ ทำงานได้ด้วยตัวของมันเองโดยไม่ต้องติดตั้งลงตัวเครื่อง สามารถตรวจจับไวรัสเวิรม์และมัลแวร์ในเครื่องที่เราใช้งานได้ วิธีการใช้งานก็ง่ายมาก เพียงแค่คลิกสตาร์ต โปรแกรมก็จะเริ่มสแกนเครื่องให้เราทั้งเครื่องทันที โดยใช้เวลาไม่นานนัก ขึ้นอยู่กับขนาดไฟล์ในฮาร์ดดิสก์ด้วย
ที่เราใช้โปรแกรมตัวนี้ก็คือ ช่วยสแกนหาไฟล์ไวรัสและโปรแกรมที่จะเป็นอันตรายต่อการใช้งานอินเทอร์เน็ต แล้วถ้าฆ่าไม่ได้ก็ไม่ต้องสนใจครับ ปล่อยเอาไว้อย่างนั้น เพราะเป็นเรื่องของร้าน แต่เวลาเรากลับบ้านต้องเอาแฟลชไดรฟ์มาสแกนไวรัสอีกที
โปรแกรมต่อมาก็คือ โปรแกรม cpe17 ผลงานของนักศึกษาลาดกระบัง ซึ่งช่วยในการกำจัดไวรัสพวกออโตรันได้เป็นอย่างดี หากเครื่องคุณมีอาการดับเบิลคลิกเปิดแฟลชไดรฟ์ หรือไดรฟ์ใดไดรฟ์หนึ่งไม่ได้ ต้องคลิกขวาเลือกโอเพนเท่านั้น หรือปรากฏไฟล์สคริปต์ประหลาดโผล่อยู่ทั่วเครื่อง โปรแกรมตัวนี้ช่วยคุณได้แน่นอน สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.thaiware. com/main/ info.php? id=9307
2 โปรแกรมนี้ควรมีติดแฟลชไดรฟ์เอาไว้ครับ แถมให้อีกตัวก็คือ โปรแกรมแอนตีสปายแวร์ที่สามารถกำจัดสคริปต์ โหลดออปเจกต์ประหลาดในเครื่องของเราได้ แต่ต้องติดตั้งลงเครื่องเท่านั้นนะครับ ไม่สามารถรันได้ด้วยตัวเอง โหลดได้ที่ www.antispyware. com/download. php เผื่อบางร้านเขาไม่ได้ล็อกรหัสป้องกันการลงโปรแกรมเอาไว้
เปลี่ยนการบันทึกในเบราเซอร์
ร้านอินเทอร์เน็ตบางร้านจะตั้งค่าเบราเซอร์ให้จดจำรหัสผ่านเอาไว้ เราสามารถเข้าไปแก้ไขได้ที่ Tools>Internet Options>เลือก Tab-Contents ไปที่ Auto complete> จากนั้นให้ติ๊กช่อง Username and password on forms และช่อง Prompt me to save password ออก เท่านี้เครื่องก็จะไม่จำล็อกอินและพาสเวิรด์ของเราแล้ว เว้นแต่ว่าเครื่องนั้นจะลงโปรแกรมพวกคีย์ล็อกเกอร์ ซึ่งเราไม่สามารถตรวจจับได้ นอกจากลงโปรแกรมแอนตีสปายแวร์ ซึ่งทางร้านก็มักจะล็อกการลงโปรแกรมเอาไว้เพื่อป้องกันตัวของเขาเองอีกส่วนหนึ่ง เวลาใช้งานจึงต้องระวังข้อความที่เป็นส่วนตัวนิดนึงครับ
สิ่งที่ไม่ควรกรอกในร้านอินเทอร์เน็ต
หากเราไม่สามารถป้องกันโปรแกรมสปายแวร์ ควรจำไว้ว่าสิ่งต่อไปนี้อย่าพิมพ์ในร้านอินเทอร์เน็ตเป็นอันขาด
1.ล็อกอินและพาสเวิรด์อีเมล เราควรมีอีเมลปลอมสักหนึ่งเมลที่ไม่สำคัญต่อการใช้งาน เอาไว้ใช้ในร้านอินเทอร์เน็ต หรืองานบางอย่างที่เปิดเผยได้โดยไม่ซีเรียสมาก ใช้เมลปลอมในร้านเน็ต ถ้าไม่มีให้สมัครใหม่ทันที
2.อย่าเข้าใช้งานเว็บไซต์ด้านการเงินในร้านอินเทอร์เน็ต เว็บพวกเพย์พาล หรือเว็บไซต์ธนาคารไม่ควรใช้เด็ดขาด แต่ล็อกอินสมาชิกเว็บคอมมูนิตีต่างๆ ใช้งานได้ตามปกติ เพราะเว็บเหล่านี้ถึงร้านจะเอาไปใช้ก็ไม่ได้มีสาระสำคัญอะไรกับเรา ซึ่งเราสามารถเปลี่ยนพาสเวิร์ดได้ในเครื่องคอมพ์ที่บ้าน
3.โปรแกรมแชต ไม่ควรใช้โปรแกรมแชตเพราะเป็นโปรแกรมที่เป็นช่องทางในการส่งไวรัสและโทรจันชั้นยอดอย่างหนึ่ง แม้เราจะใช้อีเมลปลอมในการใช้งานคุยกับเพื่อน แต่เพื่อนเราจะซวยที่โดนไวรัสทางโปรแกรมแชตไม่รู้ตัว ถ้ารักเพื่อนก็อดใจไว้นิดนึง โทร.คุยหรือกลับไปล็อกอินที่บ้านก็ไม่ขาดจากความเป็นเพื่อนหรอกครับ
ทั้งหมดนี้คือคำแนะนำสั้นๆ ในการเข้าใช้งานร้านอินเทอร์เน็ต เดี๋ยวคราวหน้าเรามาดูกันว่าร้านเน็ตหน้าตาแบบไหนที่ไว้ใจได้หรือไม่ได้ นั่งตรงไหนปลอดภัยมากที่สุด และวิธีการแก้เผ็ดร้านที่เราจับได้ว่าลงโปรแกรมสปายแวร์เอาไว้
ลิงค์ดาวน์โหลด
www.avast.com/ eng/down_ cleaner.html
www.thaiware. com/main/ info.php? id=9307
www.antispyware. com/download. php
ตรงนี้เข้าลิงค์ไม่ได้ไปด้านล่างครับ