นักวิชาการไทยแจงกรณีน้ำท่วมยุโรปจากหิมะละลายยังไม่อาจฟันธงเพราะโลกร้อน เพราะมีข้อมูลแค่ครั้งเดียว ต้องเก็บข้อมูล 10 ปีจึงชัด ชี้ไม่กระทบไทยมาก แต่ปัญหาไทยคือปรากฏการณ์ ลานินญา ซึ่งฝนจะมีฝนรำคาญต่อเนื่อง 18-24 เดือน พร้อมคาดกรุงเทพฯ ร้อนสุด 23 เม.ย. 2549
ขณะนี้หลายประเทศในยุโรปกำลังประสบกับภาวะน้ำท่วมจากการเอ่อล้นของแม่น้ำดานูบซึ่งมีระดับน้ำเพิ่มขึ้นสูงสุดในรอบ 111 ปี โยระดับน้ำเพิ่มมากขึ้นจากปกติกว่า 2 เท่า โดยในเดือนเมษายนของทุกปีจะมีอัตราน้ำไหลประมาณ 7,900 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแต่ในปีนี้มีอัตราน้ำไหลเกือบถึง 16,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีแล้ว ทั้งนี้เป็นผลพวงมาจากการละลายของหิมะ
ด้านนักวิชาการไทย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการศูนย์เครือข่ายศึกษาการเปลี่ยนแปลงของโลก จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความเห็นต่อเรื่องดังกล่าวว่าจะเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศหรือไม่นั้นยังฟันธงไม่ได้ว่ามีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ หรือภาวะโลกร้อน เพราะจะต้องดูความถี่จำนวนครั้งที่เกิดและสถิติ 10 ปี จึงจะชัด โดยสถิติที่ศึกษาการเปลี่ยนแปลงจะมีระยะเวลา 10 ปี
ในอดีตเคยเกิดเหตุกี่ครั้ง แล้วระยะเวลา 10 ปี ต่อมา เกิดกี่ครั้ง ถ้าในอดีตเกิด 5 ครั้ง แล้วมาเกิด 8-10 ครั้ง ก็มีความเป็นไปได้ว่าเกิดจากเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ เรื่องภูมิอากาศมีวงจรตามธรรมชาติอยู่ แต่ระยะหลังที่มีความกังวลเกิดขึ้นเนื่องจากภาวะโลกร้อน ดร.อานนท์ ชี้แจง
นอกจากนี้ ดร.อานนท์ยังได้กล่าวถึงประเทศไทยว่ายังไม่ถึงขั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศที่รุนแรง แต่ต้องเริ่มพิจารณาการก่อสร้างที่มีผลต่อโครงสร้างพื้นฐานระยะยาว ทั้งถนน หรือการสร้างอาคารที่มีอายุใช้งาน 30-50 ปี โดยจะต้องคิดว่าหากอากาศร้อนขึ้นจะระบายหรือปรับอากาศอย่างไร หรือแนวโน้มฝนเฉลี่ยเพิ่มขึ้นอาจจะต้องคิดวางแผนด้านการออกแบบวิศวกรรมโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนและสะพาน แต่ยังไม่ถึงกับต้องเตรียมความพร้อมระดับครัวเรือน
อย่างไรก็ตาม ดร.อานนท์กล่าวว่าปัญหาของไทยปีนี้คือการเข้าสู่ภาวะลานินญาของทั้งโลก ซึ่งมีแนวโน้มฝนจะมากขึ้นเนื่องยาวนาน 18 -24 เดือนคาบเกี่ยวปีนี้ถึงฤดูฝนปีหน้า ซึ่งโดยเฉลี่ยฝนจะเพิ่มขึ้นทั้งประเทศ แต่ไม่ได้หมายความว่าฝนจะตกมากขึ้น เป็นเพียงฝนรำคาญซึ่งจะเกิดบ่อยแต่ไม่มาก ทั้งนี้ไทยไม่มีข้อมูลในอดีตที่จะบอกรายละเอียดถึงปริมาณฝนที่จะเกิดในพื้นที่หรือจังหวัดใด ส่วนปรากฏการณ์หิมะละลายแม้จะเกิดบนพื้นที่ตอนบนของประเทศไทยขึ้นไปและจะมีผลกับระดับน้ำในแม่น้ำโขง แต่เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก เนื่องจากน้ำในแม่น้ำโขงมาจากหิมะที่ละลายเพียงร้อยละ 10 เท่านั้น
ลานินญาที่เกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่ของโลกจะไม่เหมือนกัน ขึ้นอยู่กับการตอบสนองต่อปรากฏการณ์ บางแห่งฝนมาก บางแห่งฝนน้อย หรือบางแห่งอุณหภูมิสูงขึ้น หรือบางแห่งลดลง แต่โดยเฉลี่ยของประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะมีฝนมากร้อยละ 10-15 เรายังคาดการณ์ไปถึงระดับความรุนแรงไม่ได้ ดร.อานนท์กล่าวพร้อมคาดการณ์ว่ากรุงเทพฯ จะร้อนที่สุดวันที่ 23 เม.ย. เพราะตำแหน่งของพระอาทิตย์จะอยู่ตรงศีรษะที่สุด แต่หากวันนั้นมีเมฆและฝนตามมาก็อาจจะไม่ร้อนมาก
สำหรับสถานการณ์ที่ยุโรปจากการรายงานของเอเอฟพีนั้น ที่ประเทศโรมาเนียรัฐบาลได้ประกาศเตือนภัย 12 เมืองชายฝั่งแม่น้ำดานูบ พร้อมทั้งเสริมกำลังตำรวจ 500 นายให้เสริมความแข็งแรงของกำแพงกั้นน้ำ ส่วนผู้มีอำนาจท้องถิ่นก็วางแผนในการอพยพผู้คน และพยายามแก้ปัญหาเฉพาะหน้าด้วยการควบคุมพื้นที่อุทกภัยไม่ให้น้ำไหลไปท่วมไร่นาบ้านเรือนราษฎรที่ตั้งอยู่ในชุมชนปลายน้ำ
ส่วนประเทศเซอร์เบียก็ได้ประกาศภาวะฉุกเฉินและอพยพประชากรออกจากพื้นที่ และมีรายงานว่าเกิดความเสียหายกับพื้นที่เพาะปลูก สาธารณูปโภคต่างๆ และประชาชนหลายสิบคนเสียชีวิต โดยน้ำในแม่น้ำดานูป และอีก 4 สาย ได้ไหลเอ่อเข้าท่วมบ้านเรือนราษฎรหลายร้อยหลังในเมืองสเมเดเรโว ขณะที่เมืองโกลูบัค ซึ่งเป็นศูนย์กลางทางภาคตะวันออกของเซอร์เบีย ถูกน้ำท่วมแล้ว ขณะที่บัลแกเรียมีรายงานว่าระดับน้ำในเมืองลอมซึ่งเป็นเมืองท่าใกล้สูงเป็นประวัติการณ์และรัฐบาลเตรียมแผนอพยพประชาชนไว้แล้ว
แหล่งที่มา : www.manager.co.th