ทั้งนี้ตามปกติแล้วปลากระเบนแม่กลองจะไม่อาศัยอยู่ในลำน้ำนิ่งและต้องการแหล่งน้ำซึ่งมีความอุดมสมบูรณ์เป็นที่อยู่อาศัย เพื่อคอยดักจับปู ปลา กุ้ง หอยและสัตว์น้ำซึ่งอยู่ตามหน้าดินเป็นอาหาร โดยแทรกตัวอยู่ใต้ผิวดินท้องน้ำโผล่ขึ้นมาเพียงช่องหายใจกับลูกตา แล้วใช้จะงอยตรงปากจับเหยื่อและกดทับไว้ก่อนกินเป็นอาหาร
สำหรับแหล่งอาศัยที่ค้นพบปลากระเบนแม่กลองนี้มีอยู่แห่งเดียวในประเทศไทยคือ แม่น้ำแม่กลองบริเวณจังหวัดกาญจนบุรี อันเป็นแม่น้ำสายใหญ่ที่ยังไม่ถูกรบกวนจากการทำประมงมากนัก ซึ่งการค้นพบปลากระเบนชนิดใหม่ในลำน้ำสายนี้เป็นตัวบ่งชี้ถึงคุณภาพของน้ำได้เป็นอย่างดี
ดร.ชวลิต ยังได้ให้ข้อสังเกตต่อปัจจัยแห่งความอยู่รอดของกระเบนชนิดใหม่นี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์น้ำค่อนข้างสูง หากแต่ยังขาดการศึกษาค้นคว้าอย่างจริงจัง อีกทั้งมาตรการการอนุรักษ์และการส่งเสริมด้านการวิจัยทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเลก็ไม่มีประสิทธิภาพเพียงพอ รวมไปถึงโอกาสในการได้รับความสนับสนุนในเชิงนโยบายและการปฏิบัติก็ยังมีไม่มากนัก จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่จะต้องผลักดันให้เกิดการขับเคลื่อนทางนโยบาย โดยอาศัยความร่วมมือจากทุกๆ ส่วนของสังคม ตั้งแต่ระดับชุมชน ท้องถิ่น องค์กรพัฒนาเอกชนและหน่วยงานที่มีภารกิจเกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม รัฐบาลไปจนถึงความร่วมมือกันระหว่างประเทศ
สังเกตได้ว่า ชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งใจล่าปลากระเบนเป็นหลัก ซึ่งหากมีการแบ่งเขตจับสัตว์น้ำที่ชัดเจน หรือมีการจัดการการประมงอย่างถูกต้องแล้ว ก็จะไม่ส่งผลกระทบต่อจำนวนประชากรของปลากระเบนในบริเวณนั้นมากนัก ซึ่งในที่สุดแล้วปลากระเบนอาจจะเป็นตัวบ่งชี้ก็ได้ว่า มาตรการในการอนุรักษ์ของชุมชนและระดับนโยบายมีประสิทธิภาพเพียงใด ดร.ชวลิตกล่าวทิ้งท้าย