กว่าผมจะตอบคำถามนี้ได้แบบนิ่งๆ ผมต้องใช้เวลาคิดทบทวนอยู่หลายปีครับ
คำว่า "การทำบาป" ในสังคมไทย มักจะมีความหมายสื่อไปในทาง "การทำผิด หรือทำความเลว"
แต่อันที่จริงแล้ว "บาป" ต้องพิจารณา "ศาสนา" ประกอบด้วย เพราะแต่ละศาสนาจะมีแนวคิด
เรื่อง "บาป" แตกต่างกันไป
หากเป็นศาสนาพุทธ การตกปลา พิจารณาอย่างไรก็เป็นการเบียดเบียนสัตว์อื่น อย่างนี้ยังไงก็บาป
จะมากจะน้อย จะตกอยู่ที่คนทำหรือคนกิน ก็สุดแล้วแต่แนวคิดของแต่ละท่าน แต่ละนิกาย
สำหรับผม ถึงที่สุดแล้วศาสนาก็เป็นเรื่องของหลักคิด ความเชื่อ และแนวทางปฏิบัติ ที่ศาสดาแต่ละท่าน
ได้ให้ไว้ ในแง่ของการอยู่ร่วมกันในสังคม เรายึดถือกฎหมายซึ่งจะระบุไว้ชัดว่าสิ่งใดผิด สิ่งใดถูก
ประเทศส่วนใหญ่ในโลก ก็จะยึดถือกฎหมาย ไม่ใช่ศาสนา เป็นหลักในการตัดสิน
มาถึงจุดนี้ ก็เพื่อที่จะชี้ให้เห็นว่าสำหรับผมแล้ว การทำบาป กับการทำเลว มันคนละเรื่องกัน
และผมก็คิดว่าการตกปลา เป็นการทำบาป หากพิจารณาตามหลักศาสนาพุทธ
ส่วนที่ผู้ตั้งกระทู้ตั้งคำถามไว้ว่า
ทำไงดีเมื่อเจอถามว่า ตกปลาไม่กลัวบาปบ้างไง
ผมจะตอบว่าไม่กลัวบาป
และถ้ามีคำถามเพิ่มเติมไปอีกว่า
ทำบาปแล้วไม่กลัว ตก นรกเหรอ
ผมก็จะตอบว่า ไม่กลัว
และถ้ามีคำถามเพิ่มเติมอีกว่า
ทำไมถึงไม่กลัว ตก นรก
ผมก็จะตอบว่า ผมไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด ไม่เชื่อเรื่องการมีอยู่ของนรก และสวรรค์
และถ้ามีคำถามเพิ่มเติมอีกว่า
ทำไมถึงไม่เชื่อเรื่องการเวียนว่ายตายเกิด
ผมก็จะตอบว่า ให้ลองอ่านบทความในสยามฟิชชิ่ง เรื่อง
การตกปลา พุทธศาสนา และชีวิต
http://www.siamfishing.com/content/view.php?id=183&cat=article
............................................
23 ธันวาคม 2545
จะว่าไป ผมเองมีประสบการณ์ที่ไม่ดีนักกับศาสนาพุทธ เพราะพี่ชายผมซึ่งเข้าวัดเข้าวา มาตั้งแต่สมัยวัยรุ่น ค่อนข้างจะมีแนวคิดและวิถีชีวิตแปลกแยกกับคนในครอบครัว ทำนองว่ายิ่งเข้าวัด ก็ยิ่งแปลกแยก พอเข้ามหาวิทยาลัยในปี 2529 ผมเจอกับชมรมพุทธในแนวที่วางตัวดุจผู้สูงส่งในธรรม ยกย่องเชิดชูการออกบวชตลอดชีพ มุ่งแสวงหาความสุขสูงสุดส่วนตน นั่นยิ่งตอกย้ำความขัดแย้งให้มากขึ้น
นอกจากการถูกตำหนิอย่างไม่ธรรมต่อการตกปลาแล้ว ความเหลื่อมล้ำต่ำสูง ปัญหาสังคมสารพัน ก็เป็นแรงผลักดันที่ผมมักจะนำไปโต้แย้งว่า แนวคิดเรื่องกฎแห่งกรรม ที่หยิบยกตัวอย่างขึ้นมานั้น ไม่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ทางสังคมอีกมากมาย รวมไปถึงการถกเถียงความมีอยู่จริงของชีวิตหลังความตาย บางครั้งก็ไปไกลถึงการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตนอกโลก การแลกเปลี่ยนถกเถียงก็มักจะจบด้วยการส่ายหัวทำนองว่าผมเป็นประเภทบัวใต้น้ำ บ้างก็สรุปว่าผมมีมิจฉาทิฐิ บางคนก็จะปิดประเด็นด้วยคำพูดทำนองว่า เขายังศึกษามาไม่มากพอ จะอธิบายเรื่องนี้ก็ต้องถามผู้รู้
อย่างไรก็ตาม ลึกๆแล้วผมก็ยังคิดว่าพุทธศาสนา ไม่น่าจะมีมุมมองที่คับแคบเช่นที่ปรากฏเห็น และที่สำคัญที่สุด ในยามที่ผมเฉียดตายทีไร ผมรู้สึกว่าความเข้มแข็งทางจิตใจผมมักสูญหายไปหมด ความเชื่อมั่นว่าไม่มีชีวิตหลังความตายก็สั่นคลอน แนวคิดเรื่องนรกสวรรค์ที่เคยปฏิเสธกลับมาวนเวียนให้กังวล ผมจึงตกอยู่ในสภาวะที่ดูเหมือนจะมั่นคงทางตรรกะ แต่ไม่มั่นคงในระดับจิตใต้สำนึก จะทำใจให้เชื่อตามคนหมู่มากก็ทำไม่ได้ แนวทางที่ตัวเองจะไปก็ไม่ชัดเจน
ในเมื่อหาคำตอบจากใครไม่ได้ ก็น่าจะลองศึกษาเองดูบ้าง ด้วยความที่ไม่มีศรัทธามาเป็นตัวนำ หนังสือพุทธศาสนาที่อ้างถึงสิ่งที่เป็นเรื่องของความเชื่อ สิ่งเหนือธรรมชาติ ผมก็มักจะผ่านไปเลย ส่วนที่มุ่งเน้นในเรื่องการทำสมาธิ ผมก็เห็นว่า โดยสภาพแล้ว ผมก็ไม่ได้มีปัญหาในเรื่องนี้ จะพูดกันอย่างถึงที่สุด ผมคาดหวังว่าอย่างไรเสียพุทธศาสนา ก็น่าจะเป็นไปอย่างมีเหตุมีผล แม้จะไม่สามารถอธิบาย หรือเป็นทางสว่างให้กับสังคมได้ แต่อย่างน้อยก็น่าจะเป็นแนวทางให้ผู้ปฎิบัติได้ยกระดับจิตใจให้สูงขึ้นได้
จนกระทั้งในที่สุด ต้นปี 2541 ผมก็ได้ไปพบหนังสือซึ่งมีอธิพลต่อชีวิตผมที่สุดเล่มหนึ่ง ชื่อ "พุทธธรรม" ตอนนั้นผมไม่เคยได้ยินใครเอ่ยถึงหนังสือเล่มนี้มาก่อน รวมทั้งไม่เคยแม้แต่ได้ยินชื่อของผู้แต่งหนังสือเล่มนี้ อย่างไรก็ดี หนังสือเล่มนี้มีความพิเศษ โดดเด่นกว่าหนังสือธรรมมะทั่วไปอย่างสิ้นเชิง ตั้งแต่รูปเล่มที่ทำอย่าง ประณีต มีการอ้างอิงคัมภีร์ที่อย่างละเอียด ในส่วนสารบาญ แบ่งเป็นตอนๆ เริ่มตั้งแต่ ชีวิตคืออะไร? ชีวิตเป็นอย่างไร? ชีวิตเป็นไปอย่างไร? ชีวิตควรให้เป็นอย่างไร?
ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้มีความมุ่งหมายที่จะแสดงหลักธรรมเป็นไปอย่างเที่ยง ตรงที่สุด โดยส่วนใหญ่แล้วท่านจะอ้างเฉพาะสิ่งที่ปรากฏในพระไตรปิฎกเท่านั้น โดยยึดหลักของความสอดคล้องของหลักธรรมโดยรวม พร้อมทั้งนำเอาพุทธประวัติมาพิจารณาประกอบในส่วนที่จำเป็น ทำให้พุทธศาสนาในการตีความของท่าน มีความน่าเชื่อถือตามหลักวิชาการเป็นอย่างยิ่ง และด้วยความตั้งใจที่จะให้ประชาชนโดยทั่วไปเข้าถึงพุทธธรรมได้ หากไม่จำเป็นต้องใช้บาลี ท่านก็จะเลี่ยง หากจำเป็นต้องใช้ ท่านก็จะอธิบายประกอบอย่างละเอียด
ผมเพิ่งมาสังเกตว่า ในช่วงสามสีปีที่ผ่านมา ผมมีความสนใจที่จะอ่านหนังสือพุทธศาสนา ไปพร้อมความสนใจในการอ่านหนังสืออารยะธรรมที่สาบสูญ หนังสือดาราศาสตร์ รวมไปถึงหนังสือที่เกี่ยวกับดาวเคราะห์น้อยและอุกาบาต ส่วนแรกทำให้ผมได้พบปัญญาที่ยิ่งใหญ่ รวมไปถึงแนวทางการพัฒนาชีวิตให้ดีงามขึ้น ส่วนที่สองผมทำให้ได้เห็นว่าชีวิตในเป็นเรื่องชั่วคราวโดยแท้ ในระดับเอกภพแล้วโลกเรานั้นเพิ่งรวมกันเป็นก้อนกลมได้ไม่นาน ชีวิตบนโลกปรากฏขึ้นมาได้ก็หลังจากที่โลกเริ่มเย็นตัว ส่วนเผ่าพันธุ์มนุษย์นั้นก็เป็นสิ่งมีชีวิตที่เพิ่งปรากฎขึ้นบนโลกในระยะ หลัง และอารยะธรรมในยุคปัจจุบันดำรงอยู่ได้จนถึงวันนี้ ก็เป็นเพียงแค่ความโชคดีที่ธรรมชาติให้โอกาสเราในชั่วขณะ
ถึงจุดนี้ ผมรู้สึกว่า ความกังวลใจในชีวิตหลังความตายที่มักจะเผยตัวเมื่อชีวิตอยู่ในยามคับขัน นั้นลดลงไปมาก เพราะความคิดดังกล่าว เอาเข้าจริงๆแล้ว ก็มีพื้นฐานมาจากแนวความเชื่อในการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งซ่อนความเชื่อการดำ รงค์อยู่ของเผ่าพันธุ์มนุษย์อย่างเป็นนิรันดร์ ขณะที่ความจริงแล้วมนุษย์เป็นเพียงแค่สิ่งมีชีวิตหนึ่ง ที่เพิ่งปรากฏขึ้นในซอกหนึ่งของจักรวาลเมื่อเร็วๆ นี้เอง
.............................................