ขอบคุณพวกน้า ๆ ทั้งหลายมากเลยครับ ได้ความรู้ไปเต็ม ๆ เดี๋ยวมีเวลาว่างต้องไปลองซะแล้ว
ปกติผมตกแบบไม้ตายเป็นประจำ ยังเคยสงสัยอยู่ว่าการตั้งทุ่นแบบบาลานซ์ หรือแบบอื่น ๆ เขาทำกันอย่างไร ตอนนี้แจ่มแจ้งแล้วครับ
อย่างไรก็ตามผมมีข้อสังเกตุดังนี้ครับ ผิดถูกอย่างไรรบกวนชี้แจงด้วยนะครับ
1. การตั้งทุ่นแบบกินดิบ (จริง ๆ น่าจะเรียกว่าตั้งแบบบาลานซ์มากกว่า การตั้งทุ่นแบบบาลานซ์ที่เราเรียกกันในตอนนี้เสียอีก เพราะว่าน้ำหนักตะกั่วที่ใส่ กับความสามารถในการพยุงน้ำหนักของทุ่นต้องเท่ากัน เป๊ะ ๆๆ เพราะยอมให้เหลือก้านทุ่นโผล่มาแค่ 3-4 ข้อ ซึ่งไม่เพียงพอในการพยุงน้ำหนักอื่นใดที่มากกว่านี้แล้วหละ)
ข้อดี คือ ตกในสภาพพื้นน้ำต่างระดับได้ดี เพราะการที่ตะกั่วเรี่ยพื้น หมายความว่ายังมีระยะให้ตัวของสายหน้าอีก 2-3 นิ้ว สำหรับระดับพื้นน้ำที่แตกต่างกัน โดยที่หางทุ่นยังคงโผล่พ้นน้ำในระยะเท่าเดิม
ข้อเสีย คือ การสื่อสารของทุ่นจะไม่ไวเท่าการตั้งทุ่นแบบบาลานซ์ ทั้งนี้เพราะถ้าแรงที่มากระทำกับเหยื่อมีน้ำหนักไม่เพียงพอในการทำให้ตะกั่วฟิวส์ที่ใส่ไว้เคลื่อนไหว ก็หมายถึงทุ่นก็ไม่เคลื่อนไหวด้วยเช่นกัน (ในความเป็นจริงโอกาสเกิดแบบนี้ยากมาก) และข้อเสียอีกข้อคือเราจะไม่ทราบเมื่อเหยื่อหมด (อันนี้สำคัญ)
2. การตั้งทุ่นแบบบาลานซ์ (ซึ่งที่จริงใช้หลักการบาลานซ์น้อยกว่าการตั้งทุ่นแบบด้านบนเสียอีก เพราะน้ำหนักของตะกั่วที่ใส่ยังน้อยกว่าความสามารถในการพยุง (รับน้ำหนักของทุ่นได้) เพราะปกติเราจะตั้งทุ่นให้หางทุ่นโผล่ทั้งหมด หรือเห็นบริเวณคอทุ่น นั่นหมายความว่ายังสามารถเพิ่มน้ำหนักได้อีกนิดหน่อยทุ่นถึงจะจม)
ข้อดี คือ ทุ่นจะสื่อสารไวมาก ทั้งนี้เพราะว่าแนวเส้นของ เหยื่อ สายหน้า ตะกั่ว สายเอ็น จนถึงทุ่น นั้นเป็นแนวตั้งตรง ดังนั้นเมื่อมีแรงกระทำที่เหยื่อแม้เพียงน้อยนิด การกระทำนั้นจะสื่อสารไปยังทุ่นทันที ข้อดีอีกอย่างคือ เราจะสามารถทราบอาการของเหยื่อได้ทันที่ว่า เหยื่อหมด (ทุ่นลอยขึ้นมาเห็นคอทุ่น) หรือเหลือแต่กระโปรง (ทุ่นลอยขึ้นมาส่วนหนึ่ง แต่ยังไม่เห็นคอทุ่น)
ข้อเสีย คือ เมื่อตกในสภาพพื้นน้ำต่างระดับ ความสูงของหางทุ่นที่โผล่ขึ้นมาจะเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นอาจทำให้ท่านต้องคอยปรับระยะทุ่นตลอดเวลา หรือจำเป็นต้องใช้คันยาว ๆ เพื่อที่จะสามารถหย่อนเหยื่อลงที่เดิมทุกครั้ง