ลองอ่านดูครับน้า
สางห่า
มีอันตรายร้ายกาจจริงหรือ ?
"สางห่า" เป็นชื่อสัตว์ที่กล่าวขานร่ำลือกันว่า มีพิษร้ายกาจรุนแรงน่าสะพรึงกลัว แต่ก็ไม่มีผู้ใดยืนยันได้ว่า เป็นสัตว์ชนิดใด มีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไรกันแน่
เมื่อวันที่ ๓๑ มีนาคม ๒๕๓๒ ราชบัณฑิตยสถานได้รับเกียรติจาก น.อ.วิโรจน์ นุตพันธุ์ กรรมการจัดทำอนุกรมวิธานสัตว์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญทางสัตววิทยาได้มาบรรยายทางวิชาการเรื่อง "เปิดศักราชปีมะเส็ง" ให้คณะราชบัณฑิต ภาคีสมาชิก กรรมการ อนุกรรมการ และข้าราชการราชบัณฑิตยสถานฟังในโอกาสครบรอบ ๕๕ ปี ราชบัณฑิตยสถาน
ในตอนหนึ่งของการบรรยาย น.อ.วิโรจน์ได้กล่าวถึงความเข้าใจและความเชื่อผิด ๆ ของคนทั่วไปเกี่ยวกับสัตว์และงูหลายชนิด สัตว์ชนิดหนึ่งที่นำมายกตัวอย่างคือ "สางห่า"
ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคเหนือ กล่าวกันว่า สางห่าเป็นสัตว์คล้ายจิ้งเหลน จิ้งจก หรืองู ชอบอยู่ตามถ้ำหรือแอ่งน้ำในถ้ำ ตัวเล็กนิดเดียวแต่มีพิษแรงมาก บ้างว่าพิษอยู่ที่เล็บซึ่งแหลมคม บ้างก็ว่ามีเขี้ยวพิษ บางคนว่ามีพิษที่หางเพราะยาวมาก ถ้ามันเอาหางฟาดหรือพันใครก็จะเป็นผื่นไหม้อาจถึงตาย เพียงเอาเส้นหวายไปคล้อง หวายยังถึงกับไหม้เกรียม
พระภิกษุและพรานป่าแถบนครราชสีมาและอุทัยธานี เล่าว่า สางห่าคืองูชนิดหนึ่ง แต่มีขาเล็ก ๆ อาศัยอยู่ตามป่าหญ้าสูง ๆ เกาะอยู่กับหญ้ากอใด หญ้ากอนั้นก็จะเฉาตาย แล้วมันก็จะย้ายไปเกาะอาศัยหญ้าสดกออื่น ๆ ต่อไป
ทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือบางท้องที่และภาคตะวันตก เช่น กาญจนบุรี และที่ระนอง มีผู้เข้าใจว่า สางห่า คือ คากคกป่า ซึ่งมีพิษ และส่งเสียงร้องคล้ายเสียงสุนัขเห่า
นอกจากนี้ยังมีผู้กล่าวถึงสางห่าในลักษณะต่าง ๆ อีกมาก ซึ่งสรุปได้ว่า สางห่าอาจเป็นงู จิ้งเหลน (งูมีขา) หรือคางคก แต่เมื่อขอให้นำตัวจริงมายืนยันกัน ก็มักไม่สามารถหามาให้ได้ เพราะเป็นเพียงการได้ยินเขาเล่าว่า สืบต่อกันมาเป็นส่วนใหญ่ เท่าที่มีผู้นำตัวจริงที่ยังมีชีวิตอยู่ และตัวอย่างจริงที่ดองไว้มาให้ดู ก็ได้รับการยอมรับเป็นส่วนใหญ่ว่า สางห่า คือ จิ้งเหลนหางยาว (Takydromus sexlineatus )
ในการประชุมคณะกรรมการจัดทำอนุกรมวิธานสัตว์ เพื่อชำระชื่อพรรณสัตว์ในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๒๕ ที่ประชุมได้พิจารณาคำอธิบาย "สางห่า" กันอย่างรอบคอบ โดยนำตัวจริงซึ่งยังมีชีวิตอยู่มาดูลักษณะกันอย่างใกล้ชิด ในที่สุดได้อธิบายคำ "สางห่า" ไว้ดังนี้
"สางห่า (ถิ่น-อีสาน) น. ชื่อเรียกจิ้งเหลนหางยาวชนิด Takydromus sexlineatus ในวงศ์ Lacertidae พบทุกภาคของประเทศไทย ตัวเล็ก หางยาวประมาณ ๕ เท่าของความยาวลำตัว ที่เรียกสางห่าเพราะเข้าใจผิดว่ามีพิษร้ายแรง"
สางห่าเมื่อโตเต็มวัย ลำตัวขนาดประมาณเท่าหลอดดูดกาแฟ ความยาวจากปลายจมูกถึงทวารยาวประมาณ ๓๕ เซนติเมตร หัวค่อนข้างโตเมื่อเทียบกับขนาดลำตัว ปากแหลม เกล็ดหยาบ รอยต่อระหว่างเกล็ดยกเป็นสัน หางแข็งแรง ยาว และไม่ขาดง่าย มองเผิน ๆ จะเห็นว่า สางห่ามีสีน้ำตาล แต่เมื่อสังเกตจะเห็นลายเส้นสีครีมพาดจากท้ายมาถึงโคนหาง และลายเส้นสีน้ำตาลเข้มจากปลายจมูกพาดผ่านตา ช่องหู ปาก ใต้คาง และท้องขาว ขาและหางสีน้ำตาลอ่อนตัวผู้มักมีสีขาวอ่อนบริเวณข้างลำตัว
โดยปรกติสางห่าจะอาศัยอยู่ตามป่าหญ้าและละเมาะไม้พุ่มเตี้ย มักไม่ค่อยขึ้นอาศัยตามต้นไม้สูง ชอบนอนผึ่งแดดอ่อน ๆ ตามยอดพุ่มไม้และกอหญ้าโดยใช้หางพาดระหว่างใบหญ้า และปล่อยตัวแขวนลอยเป็นอิสระ เหวี่ยงตัวแว้งงับกินแมลงได้อย่างรวดเร็ว สางห่าออกไข่ครั้งละ ๒-๔ ฟอง ในประเทศไทยพบทั่วทุกภาค แม้แต่ในกรุงเทพมหานคร
"สางห่า" ไม่มีพิษ ไม่ดุ ไม่กัด และไม่มีอันตรายแต่อย่างใด แต่กลับมีประโยชน์อยู่บ้างที่ช่วยกินแมลงศัตรูพืชบางชนิด.
ที่มา : จดหมายข่าวราชบัณฑิตยสถาน ปีที่ ๑ ฉบับที่ ๓, กุมภาพันธ์ ๒๕๓๒
ปล.ขอบคุณน้าๆๆ ที่ให้ข้อมูลครับ
http://th.answers.yahoo.com/question/index?qid=20080126050148AAAszBv