ครั้นเมื่อแอบนึกคิดถึงวัตถุที่สร้างขึ้นเพื่อแขวนห้อยคล้องไว้ใช้ติดตัว (ด้วยความเคารพมิได้ลบหลู่) กระบวนการผลิตคงจะเริ่มมาจากความเชื่อ ไต่ระดับ ขยับไซด์ กลายเป็นแรงศรัทธา
“ขวัญและกำลังใจ” นั้นหนา คือ วัตถุประสงค์ที่ผลิตขึ้น ถ้าอุปสงค์ (Supply) ในการผลิตมีจำนวนน้อย แต่อุปทาน (Demand) หรือความต้องการในตลาดมีมาก ตามหลักเศรษฐศาสตร์จึงถือกำเนิดเกิดมี “ราคา” กับผู้ที่อยากจะ
“ซื้อ” หามาไว้ครอบครอง (ผมไม่ใช้คำว่า “เช่า” ตามที่ใครต่อใครพูดกล่าวกันนะครับ ทั้งนี้ ก็เพราะว่ากรรมสิทธิ์ในการซื้อขายสังหาริมทรัพย์นั้น ย่อมโอนไปยังผู้ซื้อตั้งแต่ขณะเมื่อได้ทำสัญญาซื้อขายกัน ตามมาตรา 458 ปพพ. แต่ทว่า การซื้อขายสังหาริมทรัพย์ในกรณีนี้ กฎหมายมิได้กำหนดให้วัตถุสร้างขึ้นเพื่อแขวนห้อยคล้องไว้ใช้ติดตัวนี้ต้องจดทะเบียนตามมาตรา 703 ปพพ. ดังนั้น การโอนกรรมสิทธิ์จึงสมบรูณ์ด้วยการที่ผู้ขาย “ส่งมอบ” วัตถุให้แก่ผู้ซื้อ ตามมาตรา 461 ปพพ. เมื่อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์มันโอนกรรมสิทธิ์ไปได้ ดังนั้น มันจึงไม่ใช่การ “เช่า” แต่อย่างใด)
วันหนึ่ง มีเด็กน้อยขี้สงสัยคนหนึ่ง เอ่ยถามท่านผู้ใหญ่ด้วยเสียงอันกล้า ๆ เกรง ๆ ว่า ท่านผู้ใหญ่ครับ อันว่า
“ปืนผาหน้าไม้” จะถือว่าเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์อย่างหนึ่งได้หรือไม่ ลูกบ้านหลายคน เมื่อได้ยินคำถามของเด็กน้อย ก็เริ่มสงสัยว่า “ไอ้นี่มันคงจะบ้า!” ด้วยรูปลักษณ์และลัคนาของมัน ถ้าหากฉันเป็นมัน คงจะไม่กล้าคิด เอ่ยถามอะไรออกมาเช่นว่านี้ โถไอ้หม่า! เมื่อเด็กน้อยได้ยินเสียงบ่นของลูกบ้าน พิจารณาแล้วหาได้เป็นผลลัพธ์แห่งคำตอบในใจ จึงโยนคำถามถัดไปให้กับผู้ใหญ่ไปอีกหนึ่งคำถามว่า แล้วไฉนในเวลาที่ท่านผู้ใหญ่ไปไหนมาไหนในที่เปลี่ยว ทำไมถึงต้องมี
“โค้ลท์ตราควาย” เหน็บที่เอวละครับ สรรพคุณของมันใช้กดทับเส้นประสาทแห่งความกล้า ณ ที่เอว แล้วให้เลี้ยวกลับขึ้นไปสร้างความอบอุ่นได้ที่ใจของท่านผู้ใหญ่ อย่างงั้นเหรอ พลางก็ทำหน้านิ่วคิ้วชนกันเมื่อจบคำถามที่สองให้ท่านผู้ใหญ่ได้เห็นถึงความสงสัยของเด็กน้อย ด้วยความใคร่รู้ เด็กน้อยจึงหันกลับไปถามลูกบ้านลิ่วล้อท่านผู้ใหญ่คนนั้นอีกหนึ่งคำถามว่า ไอ้ความรู้สึก “อุ่นใจ” ที่ว่านี้มันคือ “ขวัญและกำลังใจ” ที่ทำให้ท่านผู้ใหญ่หัวใจพองโต หึกเหิม กล้าเดินในซอยเปลี่ยว ตัวคนเดียว...ใช่ไหมครับ
ระหว่างที่ท่านผู้ใหญ่กำลังคิดหาคำตอบให้กับปุจฉาของเด็กน้อยคนนั้น เด็กน้อยก็ยิงความสงสัยออกไปให้ผู้ใหญ่อีกหนึ่งคำถามเพิ่มเติมออกไปว่า “ปุถุชน คนธรรมดา” จะเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์สร้างขวัญและกำลังใจให้กับคนอื่นได้ด้วยไหมครับ คำถามนี้ ทำให้ท่านผู้ใหญ่นึกย้อนอดีตกลับไปในสมัยที่ยังเป็นเด็กวัดขึ้นมา เรื่องก็มีอยู่ว่า “เฮ้ย! ไอ้เกลอแก้วเพื่อนรัก เอ็งช่วยเดินไปส่งข้าฯ เอาเชี่ยนหมากให้หลวงตาที่กุฎิหลังวัดหน่อยดิว่ะ” อ้าวเฮ๊ย! (มึง)กำลังจะเอา(กู)ไปแขวนห้อยคล้องไว้สร้างขวัญและกำลังใจให้(มึง) “อุ่นใจ” (ไม่กลัวผี)แล้วหรือ การช่วยหาวิสัชนาให้กับผู้ใหญ่นั้น เห็นทีคงต้องย้อนกลับไปตั้งคำถามให้เป็นอีกหนึ่งปุจฉา อันว่าความอุ่นอกอุ่นใจในร่างกายของมนุษย์นั้นหนา สามารถ “เกิดขึ้นเอง” ได้ด้วย
“จิต” ของตัวเราเอง...หรือไม่