อ้างถึง: vnsurin posted: 08-03-2557, 00:50:15
......เรียนถามน้า to focus ว่าองค์นี้คือพระอะไรครับ เป็นวิทยาทานครับ เก็บมาไว้คู่กันกับองค์แรก นานแล้วครับ.........
.......ที่ฐานชำรุดครับ........
สมเด็จเผ่าวัดอินทรวิหาร ปี2495 ครับ สร้างโดยพระครูสังฆรักษ์ วัดอินทรวิหาร ในปี2495 ในตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ต่อมาจากลป.ภู วัดอินทร์ มวลสารที่นำมาสร้างเป็นมวลสารที่เหลือจากการสร้างพระในปี2485 พระชุดปี85นี้ นักเล่นพระส่วนใหญ่ รู้จักกันในนามสมเด็จพระครูสังฆ์ วัดอินทร์ ตัวท่านเองประวัติของท่านแปลกมากตรงที่ เป็นพระที่มาที่วัดแล้วมาหาลป.ภูและ บอกหลวงปู่ภูว่า สมเด็จโตให้ฉันมาสร้างพระ ซึ่งลป.ภูท่านก็เห็นชอบด้วย จึงให้ดำเนินการสร้างพระชุดแรกขึ้นมาโดยเอาแม่พิมพ์เก่าของลป.ภูมาสร้าง ส่วนรุ่นนี้ใช้เชื้อพระเก่ามวลสารดีๆมากมาย พิธีใหญ่ระดับประเทศ
มวลสาร
ผงวิเศษดั้งเดิมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่ท่านนำมาจากเศษพระพิมพ์สมเด็จที่ชำรุด
ผงตะไบพระกริ่งวัดสุทัศน์ ครั้งหล่อพระกริ่ง เมื่อพุทธศักราช 2485
ผงสมเด็จที่มอบให้แก่หลวงปุ่ภูวัดอินทรวิหารรักษาไว้
ผงของหลวงพ่อเดิม จังหวัดนครสวรรค์
ผงวิเศษจากสำนักของพระอาจารย์ต่างๆ ที่ได้รับนิมนต์เข้าร่วมบริกรรมปลุกเศก
เป็นต้น
รายนามพระเกจิ ที่ร่วมพิธีปลุกเศก ชนวนมวลสาร ใน วันที่ 22 ตุลาคม 2495
พระเทพเวที วัดสามพระยา
พระภาวนาโกศลเถระ วัดปากน้ำ
พระราชโมฬี วัดระฆัง
พระภาวนาวิกรม วัดระฆัง
พระศรีสมโภช วัดสุทัศน์ฯ
พระอาจารย์ แฉ่ง วัดบางพัง
พระครุวินัยธร วัดสัมพันธวงศ์
พระครูสรภัญญประกาศ วัดโปรดเกศ
หลวงพ่อแทน วัดธรรมเสน ราชบุรี
พระอาจารย์พลี วัดสวนพลู
พระครูอาคมสุนทร วัดสุทัศน์ฯ
พระปลัดเปล่ง วัดกัลยานิมิตร
พระอาจารยืใบฎีกาบัญญัติ วัดสุทัสน์ฯ
พระครุอินทรสมจารย์ วัดอินทรวิหาร
พระครุมงคลวิจิตร วัดอนงคาราม (มาแทน สมเด็จพระพุฒาจารย์ นวม)
รายนามพระเกจิที่ร่วมพิธี พุทธาภิเศก หลังจาก พิมพ์ผงมวลสารให้เป็นองค์พระสมเด็จแล้ว ในวันที่ 5 พฤศจิกายน 2495 มี
พลวงพ่อสด วัดปากน้ำ
หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว
หลวงปู่เหรียญ วัดหนองบัว กาณจนบุรี
หลวงพ่อช่วง วัดบางแพรกใต้ นนทบุรี
หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ
หลวงพ่อฮะ วัดดอนไก่ดี สมุทรสาคร
พระปลัด ตังกวย วัดประดู่ฉิมพลี กทม
หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก
หลวง่อนอ วัดกลางท่าเรือ
หลวงพ่อสำเนียง วัดเวฬุวนาราม นครปฐม
หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง
หลวงปู่นาค วัดระฆัง
.......................................................................................................................................................
ประวัติ สมเด็จนายพลเผ่า( สมเด็จวัดอินทร์ ปี 2495 )
โดย ท่านอาจารย์ ฉันทิชัย กระแสร์สินธุ์
วันนั้นเป็น วันที่ 22 ตุลาคม พุทธศักราช 2495 เวลาประมาณ 10.00 นาฬิกา
ข้าพเจ้าได้รับโทรศัพท์ จากนายพันตำรวจตรี สังข์ เผ่าพิมพา ว่าให้เตรียมกระดาษดินสอ ไปที่พระอุโบสถวัดอินทรวิหาร เวลา 16.00 น. ครั้นข้าพเจ้าย้อนถามไปว่า เกี่ยวด้วยเรื่องอะไร พันตำรวจตรี สังข์ เผ่าพิมพา ก็บอกปัดว่าไปทราบเอาที่โบสถ์วัดอินทร ก็แล้วกัน และโดยมิทันที่ข้าพเจ้าซักไซ้อย่างไรต่อไปอีก พันตำรวจตรี สังข์ เผ่าพิมพา ได้วางโทรศัพท์เสียเป็นการตัดบท
ข้าพเจ้าเคยรับทราบจากนายพลตำรวจจัตวา เนื่อง อาขุบุตร ว่าจะมีการสร้างพระพิมพ์สมเด็จพระพุทฒาจารย์ (โต ) ขึ้น แต่ยังไม่กำหนดวันแน่นอน จึงเดาเอาว่าเห็นจะไม่ผิดไปจากเรื่องที่เคยทราบนั้น พอถึงเวลา 16.00 น. ข้าพเจ้าก็ถึงวัดอินทร์ ตามที่ พันตำรวจตรี สังข์ เผ่าพิมพา โทรศัพท์แจ้งไปโดยอาศัยรถยนต์ของหม่อมเจ้าปรีชา กัลยาณวงศ์ เป็นยานพาหนะ
ที่หน้าโบสถ์ ข้าพเจ้าได้พบนายพันตำรวจตรีเลื่อน บุณยจิตติ สหายรักผู้ร่วมงานกันมาอย่างใกล้ชิด พร้อมกับคุณชิต วิภาษธวัช ผู้สะพายกล้องอย่างดีสำหรับเก็บภาพในงานมงคลพิธี
ครั้งเข้าไปในพระอุโบสถ ข้าพเจ้าถึงกับตลึงงันด้วยความปิติ เพราะเบื้องหน้าพระประธาน เต็มไปด้วยสรรพวัตถุวิเศษ ที่นำมาเข้าในพิธีมณฑล และภายในพระอุโบสถนั้น ท่านายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ นั่งเป็นประธานอยู่เบื้องขวา ท่านนายพลจัตวา เนื่อง อาขุบุตร ก็อยู่ในพระอุโบสถด้วย
เมื่อได้กราบพระประธานแล้ว ข้าพเจ้าได้เข้าไปทำความเคารพ ท่านนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ซึ่งท่านได้กรุณาบัญชาว่า จดเหตุการณ์ในเรื่องนี้อย่างละเอียด สำหรับลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ตำรวจ
ขณะนั้นเป็นเวลา 16.00 นาฬิกา ท่านนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ กับบรรดาผู้ที่มีหน้าที่เกี่ยวข้องในงานมหามงคลพิธี มาพร้อมกันในพระอุโบสถ อาทิ ข้าราชการตำรวจที่เป็นกรรมการร่วมงาน และคหบดีผู้ที่ได้รับเชิญมาเป็นกรรมการด้วย ตลอดจนพระมหาราชครูพราหมณ์มุนีศรีวิสุทธิคุณ กับพระครูพราหมณ์ศิวาจารย์ พราหมณ์พิธีผู้อ่านโองการเชิญชุมนุมเทพยดา และร่ายวิษณุเวศย์ ศิวะเวศย์ ตลอดจนเทพมนต์ ร่วมในพิธีสร้างพระพิมพ์เพื่อความสมบรุณ์ โดยศิวศาสตร์ ตามแบบอย่างมหายัญพิธีแต่เบื้องบรรพ์ร่วมอยู่ด้วย
ข้าพเจ้านั่งอยู่ข้างนายพลจัตวาเนื่องอาขุบุตร และนายพันตำรวจตรี เลื่อน บุณยจิตติ ได้กระซิบถาม นายพลจัตวาเนื่องอาขุบุตร ถึงเร่องต่างๆที่ประสงค์ทราบให้ชัดเจน จึงได้ทราบว่า บรรดาข้าวของวิเศษต่างๆที่นำมาเป็นพิธีกรรมทั้งหมดนี้ นายพลจัตวาเนื่องอาขุบุตร กับนายพันตำรวจตรี สังข์ เผ่าพิมพาเป็นผู้จัดมาโดยบัญชาของท่านนายพลตำรวจเอกเผ่า ศรียานนท์ ครบต้องตามตำราแห่งปุราณคัมภีร์ ทุกประการ
ด้านขวาพระอุโบสถ พระสงฆ์ราชาคณะและพระครูตลอดจนพระอาจารย์สำนักต่างๆ ที่ได้รับนิมนต์ให้มาเข้าร่วมในการสร้างพระพิมพ์ รวม 14 รูป มี
พระเทพเวที วัดสามพระยา
พระศรีสมโพธิ์ วัดสุทัศน์เทพวราราม
พระภาวนาวิกรม วัดระฆัง
พระภาวนาโกศลเถระ วัดปากน้ำ
พระอาจารย์ แฉ่ง วัดบางพัง
พระครูสรภัญญประกาศ วัดโปรดเกษ
ฯลฯ รวม 14 รูป
และโดยที่ในงานนี้ได้ ได้นิมนต์ สมเด็จพระพุฒาจารย์ วัดอนงคาราม มาเป็นประธานด้วย แต่บังเอิญท่านอาพาธโดยกระทันหันมาไม่ได้ จึงให้พระภิกษุผู้ทรงวิทยาคุณมาแทน
พระภิกษุทุกองค์บรรดาที่ได้รับนิมนต์มาในมหามงคลพิธี ล้วนแต่ทรงไว้ซึ่ง ศีลาจารวัตรอันงดงาม นุ่งห่มเป็นปริมณฑลได้สมณสารูป สมเป็นสมณะผู้ศิษย์พระตถาคต นั่งรอกาลเวลาอันงามอยู่อย่างสงบ
เบื้องหน้าพระประธาน แบบพระมารวิชัยภายใต้เศวตรฉัตร 9 ชั้นนั้น ภายในวงสายสิญจน์ มีสรรพวัตถุวิเศษ ที่จะประมวลเข้าในพิธีกรรมสร้างพระพิมพ์หลายหลาก มี
ผงเกษรดอกไม้
ผงเกษรบุนนาค
ผงเกษรบัวหลวง
ผงเกษรสาภี
ผงเกษตรพิกุล
ผลซิงอ๊อกไซด์
ปูนขาว
กระดาษฟาง
น้ำมันมะพร้าว
ดินสอพอง
น้ำมันก๊าส
น้ำอ้อย
เครื่องตำมี ครก สากหิน แผ่นกระเบื้อเคลือบสำหรับกดแม่พิมพ์ มีดทองเหลือสำหรับตัดพระพิมพ์ 84000 องค์ และถาดสำหรับรองพระพิมพ์เพื่อผึ่งในร่ม (ไม่ใช่ผึ่งแดด )ให้แห้ง
บนพานแว่นฟ้า มีผงวิเศษดั้งเดิมของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ที่ท่านนำมาจากเศษพระพิมพ์สมเด็จที่ชำรุดบดให้เป็นผงผสมให้เข้ากันแล้วใส่ ผอบ รออยู่ และมีผลตะไบพระกริ่งวัดสุทัศน์ ครั้งหล่อพระกริ่ง เมื่อพุทธศักราช 2485 ผงสมเด็จที่มอบให้แก่หลวงปุ่ภูวัดอินทรวิหารรักษาไว้ ก็ได้นำมาใส่ ผอบ เป็นพิเศษเพื่อคุลีการเข้าด้วยกัน และยังมีผงของหลวงพ่อเดิม จังหวัดนครสวรรค์ ซึ่งนายพลจัตวาเนื่อง อาขุบุตร นำมารวมเข้าไว้อีกด้วย
นอกนั้นบรรดาพระอาจารย์ต่างๆ ที่ได้รับนิมนต์เข้าร่วมบริกรรมปลุกเศกด้วยพระกฤตยาคม ยังได้ให้ผงวิเศษจากสำนักของท่าน เพื่อรวมเข้ากับการสร้างพระพิมพ์ครั้งนี้อีกเล่า
จึงนับว่าการสร้างพระพิมพ์สมเด็จครั้งนี้ พรั่งพร้อม ด้วยผงวิเศษและสมบรูณ์ตามศาสตร์ครบถ้วนตามหลักการสร้างเช่นปางบรรพ์ทุกประการ
เครื่องบุชาพระพุทธรูปและเครื่องบวงสรวงสังเวยนั้นทางคณะกรรมการจัดงานได้จัดเครื่องทองน้อย ตั้งเทียนชัยแปดทิศ ใส่กะบะมุกมาตั้งดูอร่ามและศักดิ์สิทธ์หนักหนา เบื้องซ้ายตั้งบายศรีเจ็ดชั้นข้างละคู่ มีรูปถ่ายสมเด็จพระพุฒาจารย์(โต) ขนาดใหญ่ตั้งไว้ด้วย และมีธรรมาสน์มุกตั้งเป็นสำคัญในการอัญเชิญให้พระวิญญานสมเด็จฯมาเป็นประธาน
พอได้ศุภฤกษ์มงคล 16 นาฬิกา 20 นาที พระมหาราชครูพราหมณ์มุนีศรีวิสุทธิคุณ แต่งกายด้วยเครื่องขาวสวมครุยทอง เข้ากราบพระพุทะรูป และกราบพระภิกษุผู้เป็นประธานแล้ว กล่าวคำบวงสรวงสังเวยปรารภเหตุในการจัดสร้างพระพิมพ์ครั้งนี้เพื่อวัตถุประสงค์ ในการสืบต่อเกียรติคุณ แห่งสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังษี ) และเพื่อเฉลิมศรัทธาปสาทะของประชาชนที่เป็นพทธมามกะ จะได้น้อมนำเอาไปเคารพบูชา ตลอดเป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา
เสร็จการบวงสรวงสังเวยแล้ว ก็อ่านโอมนะโมแปดบท (นะโมการอัฎฐกะ ) แล้วเชิญชุมนุมเทวดา ด้วยบท สัคเคกาเมจรูเป จบบทสัคเคฯ พราหมณ์เป่าสังข์ไกวบัญเฑาะ สิ้นเสียงสังข์ พระครูศิวาจารย์อ่านโองการ พระมหาราชครู อาราธนาพระปริตรสุตรต่างๆ เป็นการบรรจุพระพุทธวจนะ และหัวใจพระสุตรทั้งหลายให้แทรกซึมเข้าไปในสรรพสิ่งพัสดุอันวิเศษที่ตั้งอยู่ภายในสายสิญจน์ พระศรีสมโภชแห่งวัดสุทัศฯ เป็นผู้ขัดตำนาน จบขัดตำนานก็เริ่มสวดพระมงคลสูตร อันเป้นพระชัยมงคลคาถาตามประเพณี
ในการสร้างพระพิมพ์ ท่ามกลางมหามงคลสันนิบาตครั้งนี้ นายสิงห์ อินทเวช ผู้มีวัตรปฎิบัติเช่นชีปะขาว อายุ 80 ปีเศษ ได้อุตสาหะพยุงสังขารอันชราเข้ามาร่วม บริกรรมสร้างพระพิมพ์อยู่ด้วย โดยห่างจากหัตถบาตแห่งพิธีกรรมของพระภิกษุ แล้วนั่งสมาธิบริกรรมคาถา และร่ายเวทย์วิษณุมนต์ เพื่อยังความสำเร็จและความ ศักด์สิทธิ์ให้เกิดขึ้น และภายหลังการบริกรรมพระเวทย์แล้วได้สวดทำนองรัตนมาลาเพื่อยัญพิธีครั้งนี้อีกด้วย ได้ทราบว่าเป็นคำสวดพิเศษที่ถ่ายทอดศึกษาสืบเนื่องมาแต่ครั้งแผ่นดินสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ครั้งอัญเชิญพระศรีศากยมุนี จาก กรุงสุโขทัยมายังวัดสุทัศน์ฯ
ในบาตรดินอันศักดิ์สิทธิ์ มีพระพิมพ์และพระกริ่งใส่อยู่รวมสี่องค์ ท่านายพลตำรวจจัตวา เนื่อง อาขุบุตรได้แจ้งแก่ข้าพเจ้าว่า เป้นพระกริ่งวัดสุทัศน์ รุ่น พ.ศ. 2425 องค์หนึ่ง พระปทุมใหญ่ (พระกริ่งโบราณ ) องค์หนึ่ง พระกริ่งชัยวรมันที่สอง องค์หนึ่ง และพระพิมพ์สี่ทิศสร้างในสมัยสมเด็จพระนาราย์มหาราช องค์หนึ่ง
ครั้นได้ฤกษ์ เวลา 17.30 นาฬิกา นายพลจัตวา เนื่องอาขุบุตร ก็นิมนต์พระคณาจารย์ผู้ทรงคุณวิเศษลงมาจากอาสนสงฆ์ เพื่อนั่งบริกรรมปลุกเศกพัสดุ อันเป็นองคลยิ่งที่อยู่ในวงสายสิญจน์ พระคณาจารย์ผู้เชี่ยวชาญทางวิปัสสนาและพระอภิธรรม ต่างนั่งบริกรรม เป็นวงล้อมเครื่องมงคลพิธี เว้นแต่พระเทพเวที กับ พระศรีสมโภช มิได้เข้าร่วมบริกรรม เนื่องจากท่านชำนาญโดยเฉพาะ ทางคันถธุระ จึงนั่งห่างจากหัตถบาศที่กระทำพิธีนั้น และสำรวมจิตเพ่งดูการนั่งปรกของพระคณาจารย์ ทั้งนั้นโดยดุษณียภาพ
การนั่งบริกรรมปลุกเศก เป็นคณะปรก ในพิธีกรรมครั้งนี้ มีกำหนด 40 นาที ขณะที่นั่งบริกรรมอยู่นั้น พระคณาจารย์ทุกองค์อยู่ในลักษณะอันสงบเงียบหลับตานั่งนิ่งเหมือนรูปปั้น ส่งกระแสจิตมุ่งไปยังสรรพพัสดุ อันวิเศษที่นำเข้ามาในมณฑลพิธีโดยพร้องเพรียงกัน และได้ห้ามปรามกันไว้เสร็จสรรพว่าผู้หนึ่งผู้ใดที่อยู่ในมณฑลพิธีจะกระทำให้บังเกิดเสียงอื้ออึงขึ้นมิได้ และกำหนดกังสดาลดังขึ้นเป็นสำคัญ เมื่อไรได้ยินเสียงกังสดาล เมื่อนั้นเป็นสัญญานว่าครบกำหนดฤกษ์บรรจุมโนมัยอิทธิเข้าสู่สรรพพัสดุวิเศษที่นำมาในมณฑล พิธีกรรมนั้นแล้ว
ในโอกาสนั้นชีปะขาวสิงห์ อินทเวช ก็ได้นั่งบริกรรม สวดรัตนมาลาคาถาอยู่ห่างจากหัตถบาศ เบื้องหน้ามีกระดานชนวนเขียนมหายัญพิธี นั่งในท่าทรมานกาย โดยคู่เข่าทับกันแล้วนั่งแพนงเชิงมือซ้ายท้าวพื้นเบื้องหน้าเข่าที่คู้เข้ามา มือขวายกขึ้นจี้ที่นลาฏ บริกรรมรัตนมงคลคาถาอยู่เป็นเอกเทศส่วนหนึ่ง
ภายในมณฑลพิธีเงียบกริบ ได้ยินแม้นกระทั่งเสียงสูดลมหายใจ ร่ายเวทย์เป็นคาบๆ ของชีปะขาวสิงห์ พระมหาราชครูพราหมณ์มุนีวิสุทธิคุณ กับพระครู ศิวาจารย์ นั่งสมาธิบริกรรมพระวิษณุเวทย์ พระสิวะเวทย์ และพระเทพมนต์ตามมหายัญพิธีอยู่อย่างเคร่งเครียด ได้ยินเสียงสายลมรังใบโพธิ์ข้างโบสถ์อยู่หวิวๆ
วันนั้นเป็นวันขึ้น 4 ค่ำ เดือน 12 ( วันที่ 22 ตุลาคม 2495 )
ครั้งภายหลัง เมื่อพิมพ์พระสมเด็จเสร็จเรียบร้อยแล้ว ได้นำเข้าพิธีปลุกเศกอีกครั้งหนึ่ง เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2495 มีพระอาจารย์ร่วมปลุกเศก ณ พระอุโบสถวัดอินทร์ ดังนี้
หลวงพ่อ สด วัดปากน้ำ
หลวงปู่ เผือก วัดกิ่งแก้ว
หลวงปู่ เหรียญ วัดหนองบัว กาณจนบุรี
หลวงพ่อ ช่วง วัดบางแพรกใต้ นนทบุรี
หลวงพ่อ รุ่ง วัดท่ากระบือ
หลวงพ่อฮะ วัดดอนไก่ดี สมุทรสาคร
พระปลัด ตังกวย วัดประดู่ฉิมพลี กทม
หลวงพ่อ จง วัดหน้าต่างนอก
หลวงพ่อ นอ วัดกลางท่าเรือ
หลวงพ่อ สำเนียง วัดเวฬุวนาราม นครปฐม
หลวงพ่อ แฉ่ง วัดบางพัง
หลวงปู่ นาค วัดระฆัง