ความตายนั้น หาได้มีเพียงแค่ “กลิ่น” เท่านั้น แต่ความตายนั้น ยังมี
“เสียง” อีกเช่นกัน เสียงมันเกิดขึ้นได้อย่างไร ความฉงนสงสัยทำให้คิ้วขมวดเข้าหากัน งั้นลองมาฟังเรื่องนี้ว่า ทำไมความตายนั้นมันถึงได้มีเสียง บันทึกแห่งความตายภาพนี้ ได้รับแรงจูงใจมาจากคำพังเพย
“ยุงร้ายกว่าเสือ” อีกทั้ง คำแนะนำด้านสาธารณะสุขเกี่ยวกับโรคต่างๆ ที่มันนำเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายเราในระหว่างที่ถูกมันดูดเลือด แต่มูลเหตุจูงใจในการยัดเยียดความตายให้กับไอ้ตัวนี้ หาได้มาจากคำพังเพยหรือการเป็นพาหะนำโรคแต่อย่างใด แต่มันเกิดจากประสบการณ์ในชีวิตจริง ที่ดำเนินมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อย่างไม่เปลี่ยนแปลง เสียงแห่งความตาย เสียงแรก คือ
“เสียงบ่นปนงอแง” (ถ้าคันมาก ก็จะยกระดับจากงอแง มา “พาล” คนที่อยู่ข้าง ๆ) นับว่าเป็นประสบการณ์ที่ไม่อยากพบเจอในยามโพล้เพล้พลบค่ำ หากเธอนั้น ใส่ขาสั้นออกไปรดน้ำต้นไม้นอกตัวบ้าน หากรู้เท่าไม่ถึงกาล เผลอเข้าไปเรอทัก หน้าเธอจะหัก ยักษ์จะ...ปรากฎตัว
ในวันหนึ่ง ยามตะวันชิงพลบ ย่างเข้าสู่สนธยา คือ เวลาที่เราทั้งคู่ได้พบเจอกัน เมื่อสายตาประสาน สื่อถึงกันและกัน ทำให้นึกถึงประสบการณ์
“หน้าเธอหัก ยักษ์ก็มา” ประทุ ครุกรุ่น หลอนในใจ จิตใต้สำนึก จึงสั่งให้สมอง เร่งตอบสนองต่อพฤติกรรมของร่างกาย อุ้งมือซ้ายย้ายไปประกบกับอุ้งมือขวา จัดวางตำแหน่ง(ไอ้)หอกหักนี้ไว้ระหว่างกลาง
“ปัง” เสียงดังคล้ายประทัด ที่เกิดจากการประสานอุ้งมือทั้งสองเข้าด้วยกัน ก็อุบัติเกิดเสียงดังขึ้นมา พลัน “ความตาย” ก็ปรากฏต่อหน้า สิ้นชีวา ในยามพลบค่ำ ณ บัดดล และนี่ก็คือ...
“เสียงแห่งความตาย”