ถิ่นที่อยู่และรายละเอียด
วัวแดง เป็นวัวป่าชนิดหนึ่ง มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Bos javanicus รูปร่างคล้ายวัวบ้าน (B. taurus) ทั่วไป แต่มีลักษณะสำคัญที่ต่างไปจากวัวบ้านและกระทิง (B. gaurus) คือ มีวงก้นขาวทั้งในตัวผู้และตัวเมีย มีเส้นขาวรอบจมูก ขาทั้ง 4 ข้างมีสีขาวตั้งแต่หัวเข่าจนถึงกีบเท้า ระหว่างโคนขาของตัวผู้ไม่มีขน แต่เป็นหนังตกกระแข็ง ๆ เรียกว่า "กระบังหน้า" ความยาวลำตัวและหัวประมาณ 190–255 เซนติเมตร หางยาว 65–70 เซนติเมตร สูงประมาณ 155–165 เซนติเมตร และมีน้ำหนักราว 600–800 กิโลกรัม
พบในพม่า, ไทย, อินโดจีน, ชวา, บอร์เนียว, เกาะบาหลี, ซาราวัก, เซเลบีส สำหรับประเทศไทยเคยพบได้ทุกภาค วัวแดงกินหญ้าอ่อน ๆ ใบไผ่อ่อน หน่อไม้อ่อน ลูกไม้ป่าบางชนิด ใบไม้ ยอดอ่อนของพืช และดอกไม้ป่าบางชนิด ซึ่งสามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ชนิดย่อย ได้ดังนี้
B. j. birmanicus พบในไทย, พม่า, กัมพูชา, เวียดนาม ตัวผู้และตัวเมียมีสีเดียวกัน และในมาเลเซียส่วนใหญ่จะมีสีดำ
B. j. javanicus พบในชวา ตัวผู้สีดำ ตัวเมียสีเหลืองอ่อน
B. j. lowi พบในเกาะบอร์เนียว มีขนาดเล็กกว่าชนิดแรก เขามีความโค้งสูง ลำตัวสีน้ำตาลแดง
วัวแดงชอบหากินอยู่เป็นฝูง ไม่ใหญ่นัก ราว 10–15 ตัว ปกติจะเริ่มออกหากินตั้งแต่ตอนพลบค่ำไปจนถึงเช้าตรู่ บางครั้งอาจเข้าไปรวมฝูงกับกระทิงและกูปรี (B. sauveli) กลางวันนอนหลบตามพุ่มไม้ทึบ ชอบอยู่ตามป่าโปร่งหรือป่าทุ่ง ชอบกินดินโป่งไม่ชอบนอนแช่ปลัก รักสงบ ปกติไม่ดุร้ายเหมือนกระทิง หากินโดยมีตัวเมียเป็นจ่าฝูง เริ่มผสมพันธุ์ได้เมื่อมีอายุ 2 ปีเศษ ระยะตั้งท้องนาน 8–10 เดือน ปกติออกลูกครั้งละ 1 ตัว ลูกหย่านมเมื่อมีอายุราว 9 เดือน หลังคลอดลูกราว 6–9 เดือน แม่วัวแดงจะเป็นสัดและรับการผสมพันธุ์อีก มีอายุยืนประมาณ 30 ปี วัวแดงยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ อีก เช่น "วัวเพลาะ" [2] ขณะที่ตัวผู้เมื่อโตเต็มที่จะมีสีคล้ำคล้ายกับสีตาลโตนด คือสีน้ำตาลเข้ม บางตัวมีสีเข้มทำให้แลดูคล้ายกระทิงมาก ลักษณะเช่นนี้เรียก "วัวบา"[3]
เป็นสัตว์ที่มีรายชื่อในพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535