เราล่องเรือตีกันมาเรื่อยๆ ได้ปลาเทโพมาอีกตัวกับชุดBFS ครับ
Japanese Style Bait Finesse by ADL>>>> Part 4 Bait Finesse
ข้อจำกัดของ Power Finesse ก็คือ จุดกำเนิดของ Bait Finesse
จากข้อจำกัดต่างๆ รวมถึงความต้องการของนักกีฬาตกปลาที่ได้พูดถึงใน Part ที่ผ่านมา ผู้ผลิตผู้ผลิตรายใหญ่ รวมถึงผู้ผลิตอุปกรณ์ปรับแต่งรอกในประเทศญี่ปุ่น จึงได้พยามพัฒนา Bait Finesse Tackle ออกมาให้นักตกปลาได้ใช้งาน โดยมีอุปสรรคสำคัญคือการพัฒนารอกเบทเคสติงค์ (Bait Casting Reel)
ถึงแม้ว่าการตกปลาด้วย Finesse Style จะมีมามากกว่า 20 ปีแล้วก็ตาม แต่การที่จะพัฒนารอก Bait Casting ที่จะสามารถตีเหยื่อที่มีขนาดเบา หรือ Finesse Lure ได้ โดยให้เกิดปัญหาการฟู่ของสาย (Backlash) น้อยที่สุดนั้นถือเป็นเรื่องยากมากในอดีต แต่ด้วยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีในปัจจุบัน ทำให้ผู้ผลิตสามารถผลิตสปูล (Spool) ที่มีน้ำหนักเบา และระบบหน่วงที่เหมาะสมออกมาได้สำเร็จ
จึงเกิดเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่แตกแขนงออกมาจาก Finesse Style ที่เรียกกันว่า Bait Finesse
โดยเราจะสามารถรู้ได้ว่าอุปกรณ์ใดคือ Bait Finesse Tackle สามารถสังเกตุได้จากรหัสที่ผู้ผลิตระบุไว้ ซึ่งส่วนใหญ่จะระบุว่า Bait Finesse, F-spec (Finesse Spec), BFS (Bait Finesse System), BFC (Bait Finesse Custom) หรืออาจจะระบุอยู่ในส่วนรายละเอียดของการใช้งานของอุปกรณ์นั้นๆ
รอก Bait Finesse รอก Bait Casting ที่ถูกออกแบบมาเฉพาะ หรือเป็นรอกที่ถูกปรับแต่ง (Tuning) มาสำหรับการใช้งานการตกด้วยกลยุทธ์ Bait Finesse เช่น Daiwa T3 Air, Shimano Aldebaran BFS XG, KTF PX Super Finesse และอื่นๆ
รอกประเภทนี้จะมีความจุสายค่อนข้างน้อย ส่วนใหญ่จะจุสาย Fluorocarbon ขนาด 8 ปอนด์ ได้สูงสุดประมาณ 50-75 เมตร แต่ส่วนใหญ่จะนิยมใส่สายแค่ครึ่งหนึ่งของความจุสปูลหรือน้อยกว่านั้นตามลักษณะการใช้งาน หรือตามคำแนะนำของผู้ผลิต เพื่อทำให้ให้สปูล (Spool) นั้นเบามากที่สุด ทำให้ส่งเหยื่อได้ไกลขึ้น และช่วยลดแรงเฉื่อยในการหมุนของสปูลเพื่อลดการฟู่ของสาย (Backlash) ในขณะตีเหยื่อ
ปัจจุบันเราสามารถปรับแต่งรอก (Tuning) รอกธรรมดาบางรุ่น ให้เป็นรอก Bait Finesse ได้โดยการหาซื้อชุดปรับแต่ง (Tuning Kit) จากผู้ผลิตรอกอย่าง และผู้ผลิตอุปกรณ์ปรับแต่งรอก เช่น ZPI และ KTF มาปรับแต่งรอกได้
สาย สาย Fluorocarbon ขนาดประมาณ 4-12 ปอนด์ เนื่องจากทนความเสียดสีได้ดีกว่า ทำให้สายขาดยากกว่าเมื่อเจอเข้ากับอุปสรรคใต้น้ำ และเนื้อสายยังมีความใสสูง ทำให้ช่วยลดความระแวงของปลาได้ดี และมีความยืดตัวต่ำ รวมถึงสปูลของรอก Bait Finesse นี้จะค่อนข้างบางมาก จึงไม่ค่อยเหมาะกับสาย Nylon ที่มีความยืดตัวสูงกว่า ซึ่งมีโอกาสที่สายจะรัดทำให้สปูลบิดตัวได้
ในปัจจุบันมีการนำสาย PE มาใช้งานกับรอก Bait Finesse ในกลุ่มนักตกปลาแบสแบบเดินตกจากฝั่ง (Bank Fishing) หรือในภาษาญี่ปุ่นที่เรียกว่า OKAPPARI ในกรณีที่ต้องการตีเหยื่อไกลๆในบางสภาพหมาย รวมถึงนักตกปลาเทราต์ก็นิยมใช้สาย PE กับรอก Bait Finesse เช่นกัน ทำให้เริ่มมีการผลิตสาย Bait Finesse PE ออกมาจำหน่ายให้นักตกปลาเลือกใช้ได้ตามความต้องการ
คัน Bait Finesse คัน Bait Casting ที่ถูกออกแบบมาเฉพาะเพื่อการตกด้วยกลยุทธ์ Bait Finesse เช่นกัน
โดยมีตั้งแต่คันที่ออกแบบสำหรับการเล่นเหยื่อยาง และคันสำหรับเหยื่อปลั๊กโดยเฉพาะ จนถึงคันเอนกประสงค์ ซึ่งคันกลุ่มนี้ส่วนใหญ่จะมี Power (หรือรหัส) เป็น Light (L) ขนาดสายอยู่ที่ประมาณ 4-12 ปอนด์
ตัวแบลงค์ของคันนอกจากที่เป็น Tubular ก็ยังมีคันที่เป็น Solid Tip รวมถึง All Solid ให้เลือกใช้งานตามความเหมาะสมกับเหยื่อ และเทคนิคการสร้างแอคชั่นแต่ละวิธีในกลยุทธ์แบบ Finesse Style เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ที่ดีที่สุด
เหยื่อปลอม - เหยื่อยางขนาดเล็ก รวมถึงปลั๊กขนาดเล็ก ประมาณ 1/16 3/8 ออนซ์ หรือ Finesse Lure
แน่นอนครับว่ากลยุทธ์ Bait Finesse ไม่สามารถตอบโจทย์ของการตกปลาได้ทุกสถาณการณ์ แต่เมื่อถึงสถานการณ์ที่ ใต้น้ำมีอุปสรรค และ ปลาไม่กัด ถ้าไม่ใช่ Finesse Lure นั่นก็คือเวลาของ Bait Finesse นั่นเอง
ส่งผลให้ Bait Finesse Tackle นี้ เป็นอุปกรณ์ที่มาเติมเต็มความต้องการ จนถือเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้เลย สำหรับนักกีฬาตกปลาแบสด้วยเรือแบสในประเทศญี่ปุ่น
แต่ในวงการตกปลาในประเทศญี่ปุ่น ก็ยังมีนักตกปลาทั้งมืออาชีพ และทั่วไปที่ตกปลาแบสจากฝั่ง (Bank Fishing) หรือในภาษาญี่ปุ่นที่เรียกว่า OKAPPARI นั้นก็นิยมใช้ Bait Finesse Tackle เป็นจำนวนมาก เนื่องจากการที่ต้องเดินตกไปเรื่อยๆตามฝั่ง จำนวนคันที่สามารถถือติดตัวไปได้ค่อนข้างจำกัด และสภาพหมายก็หลากหลาย พวกเขาเหล่านั้นก็จะเลือกใช้คันและรอก Bait Finesse รุ่นที่ใช้งานได้หลากหลายตั้งแต่ Light Rig จนถึงปลั๊กขนาดเล็กในชุดเดียวกันติดตัวไป แทนที่จะถือคันไปมากขึ้น เพื่อความสะดวกสบายในการเดินตกปลาที่บางครั้งอาจจะต้องเดินเปลี่ยนหมายทั้งวัน
นอกจากนี้ รอก Bait Finesse ไม่ได้ถูกจำกัดอยู่แต่ในวงการตกปลาแบสเพียงอย่างเดียว ปัจจุบันยังถูกนำไปใช้ในการตกปลาเทราต์ และปลาประเภทอื่นๆที่ต้องการใช้เหยื่อขนาดเล็กมากขึ้นเช่นกัน
ทั้งหมดนี้คือ ที่มาที่ไป ของ Bait Finesse ที่เราได้ยินกันจนติดหูในช่วงที่ผ่านมานี้
สุดท้ายนี้ ผม ADL หวังว่าข้อมูลนี้จะเป็นประโยชน์ให้เพื่อนๆนักตกปลาสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการตกปลาปลาในบ้านเราให้สนุกมากขึ้นครับ
ขอบคุณที่ติดตามครับ