“เท้าหลังก็เดินตามเท้าหน้า” ย่อมเป็นธรรมชาติการเดินของสัตว์สี่เท้าเสมอ และในจังหวะการก้าวเดินของมันแต่ละก้าวนั้น หาได้มีเท้าหนึ่งเท้าใดแตกแยกความสามัคคีไม่ เช่น เท้าซ้ายหน้า...อยากวิ่งไปทางขวา ส่วนเท้าหลังขวา...ก็อยากวิ่งไปทางซ้าย เป็นต้น หลายความต้องการที่แตกต่างกันของขาแต่ละขา ในชิวิตร่างกายเดียวกันนั้น...เห็นทีคงไม่มี กฎแห่งธรรมชาติได้สร้างสานสัมพันธ์ ให้มันขาของมันแต่ละขาในหนึ่งร่างกายเดียวกัน เดินไปอย่างสมานฉันท์ร่วมกันได้เป็นอย่างดี เพราะต่างก็มีหน้าที่ นำพารัฐนาวาแห่งร่างกายเดินไปใน
“ทิศทางเดียวกัน”
“มนุษย์” มีเพียงแค่สองขา แต่อาจหาญกล้าตะโกนบอกสรรพสัตว์ประชาชีว่า “อันตัวข้าฯนี้ ถือว่าเป็นสัตว์อันประเสริฐ เลิศทุกกรณี” เพราะข้าฯ นั้นมีหนึ่งสมองและสองมือทำ ในเมื่อเอ็งถือดีคิดว่าเอ็งเก่งกว่าสรรพสัตว์ใดๆ ธรรมชาติจึงต้องสร้างสมดุลย์ (Balance) ให้กับการอวดตัวถือดีของมนุษย์สองขานั้น ด้วยการเพิ่มภาระให้สมองของมัน ทำให้มันต้องมีหน้าที่คิดหน้าคิดหลง หลายปัจเจกและหลากปัจจัย ต่างๆนานา หาใช่คิดแต่เพียงแค่ตื่นขึ้นมา ก็ขุ้ยเขี่ยหากิน แล้วไล่บี้กันก่อนเข้านอนอยู่เป็นนิจ เสมือนหนึ่งแห่งเฉกสรรพชีวิตสัตว์ประชามี และด้วยเหตุนี้ “นิ้วมือของมนุษย์ในร่างกายเดียวกันนี้ไซร้จึง...สั้นยาวไม่เท่ากัน” ไอ้นี่ชอบ...ยี่ห้อนี้ แต่ไอ้นั่น...ชอบแต่ “ริชาร์ด มิลล์” เป็นต้น
ถึงแม้ว่ามนุษย์จะมีแค่สองขา แต่ก็มากด้วยปัจเจกและหลายปัจจัย...ให้พรรณนา ในที่สุด ความต้องการอยากในร่างกายหนึ่งเดียวกันนี้...ดันไม่อยากสมานสามัคคี ขาข้างซ้าย...อยากย้ายไปอยู่ทางขวา อีกทั้ง ขาข้างขวา...ก็ดันอยากเดินไปฝั่งซ้าย สร้าง “ความอุ้ยอ้าย” ไม่กระชับ กระฉับกระเฉง ไม่สมกับการเป็นสัตว์สองขาที่ยกหางตัวเองว่าประเสริฐกว่าสรรพสัตว์ประชาชี ผลพวงที่ธรรมชาติสร้างความอยากต่างๆ มากมายเกิดขึ้นกับสมอง เริ่มจากความคิด ต่อยอดไปเป็นความอยากจะได้ไล่ไคว่คว้า และกลายเป็นความโลภภายในใจ(มนุษย์)ในที่สุด ครรลองนี้จึงมีให้เห็นเป็น
“เงาสะท้อน” ความนัยของจิตใจมนุษย์ลึกๆ ทุกยุคและรัฐสมัย สภาวะ “ลูบหน้า ปะจมูก” ฤ การ “พูดอย่าง ทำอย่าง” อีกทั้ง "ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ แต่พอเหลาลงไป ดันกลายเป็นบ้องกัญชา" (ไปซะนี่) ปรากฎการณ์ที่ไม่แปลกแบบนี้ ยังคงมีให้เห็น...อยู่ร่ำไป (แต่ยังหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลง)