16.สังกะวาด 17. ปั๊กเป้า ปลาสองชนิดนี้ ทั้งไม่นิยมมาบริโภค และอีกตัวกินไม่ได้ไม่ขอกล่าวถึงนะครับ แต่จะบอกว่ามันกัดเหยื่อปลอมเหมือนกัน ถ้าเอาแค่สนุกล่ะก็พอได้
18. ปลาบู่แดง หรือบู่ทราย เป็นปลาที่หากินตั้งแต่ผิวน้ำบางช่วงเวลา กลางน้ำถึงหน้าดิน เป็นปลาที่เคลื่อนไหวช้า ชอบอยู่ตามตอ โพรงตอม่อสะพานหรือขอนไม้ล้มใต้น้ำ
เหยื่อที่ใช้ ตอนน้ำแรงมันจะไม่เคลื่อนไหว นอนอยู่กับโพรงเราต้องรู้ว่ามีตอตรงไหนมีโพรงตรงไหน แล้วหย่อนหัวจิ๊กปลายางลงไปจิ๊กสั้นๆช้าๆระดับหน้าดินแค่นี้ก็ได้ตัวมันแล้วล่ะครับ ถ้าช่วงน้ำอ่อนเช่นหัวน้ำขึ้นหรือหัวน้ำลงมันจะออกหากิน ปลั๊กดำลึกก็ใช้ได้ผลดีเหมือนกันสีให้เหมือนลูกปลานะครับ แอคชั่นแบบช้าๆนิดนึง ปลายางก็จิ๊กมาช้าๆก็โดนแล้วครับ
ทำเลที่เหมาะสม ท้ายประตูน้ำที่น้ำเดินอ่อนๆ ชายตลิ่งที่มีตอ ตอม่อสะพาน
คันเบ็ด เวทสัก 8 - 14 ก็พอแล้วครับ เคยตกได้ตัวใหญ่สุดไม่เกิน 3 โล
การเซ็ตเบรค เอาแค่หนืดๆก็พอครับ
ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตก น้ำอ่อนๆครับ หรือ หัวน้ำขึ้น หัวน้ำลงก็ได้
การปรกอบอาหาร ปลาบู่เป็นปลาเนื้อดีอีกตัว สมัยก่อนไม่นิยมกินกันมักเรียกว่าอีเอื้อยตามความเชื่อในนิทานพื้นบ้านเรื่องปลาบู่ทองของชาวบ้าน มาสมัยนี้ไม่เหลือแล้วล่ะครับ ส่งออกไปภัตตาคารจีนก็มาก เป็นปลาเนื้อละเอียดครับ มาต้มยำก็อร่อย นึ่งซีอิ๊ว และอีกหลากหลายเมนูล้วนน่ากินทั้งนั้นครับ
บทส่งท้าย
จากประสพการ์ที่สั่งสมมานับสิบปีในการตีเหยื่อปลอมที่แม่น้ำเจ้าพระยาสายนี้ ได้ตกผลึกทางความคิดและกลั่นกรองเรียบเรียงมาเป็นตัวหนังสือให้ทุกท่านได้ชมไปแล้วนั้น หวังว่าคงเป็นประโยชน์และเป็นแนวทางให้นักตกปลาตีเหยื่อปลอมที่มาเยือนแม่น้ำสายนี้บ้างไม่มากก็น้อย และหวังว่าผู้มาเยือนจะช่วยดูแลแม่น้ำสายนี้ให้คงอยู่และอุดมด้วยหลายพันธุ์ปลาตลอดไป
รู้น้ำ รู้เวลา รู้ทันปลา รู้เหยื่อ เชื่อฝีมือตน ถ้าทำได้ดังนี้แล้ว มาเจ้าพระยาไม่กลับบ้านมือเปล่าแน่นอนครับ