เรียน สมาชิก SiamFishing
เรื่อง การศึกษาวิจัยปะการังเทียมเพื่อบูรณาการชายหาด
กระผมนายพยอม รัตนมณี อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ (E-mail : payom.r@psu.ac.th มือถือ 081-5999655 เปิด 24 ชั่วโมง) อาจารย์ผู้สอนรายวิชา วิศวกรรมชลศาสตร์ (Hydraulic Engineering) และวิศวกรรมชายฝั่งทะเล (Coastal Engineering) ทำงานทางทะเลและชายฝั่งมาร่วม 10 ปีแล้วครับ เห็นว่าปัญหาทางด้านทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งมีการถดถอยอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องกุ้งหอยปูปลา และแถมด้วยปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเลทั้งฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน รวมถึงปัญหาด้านความขัดแย้งด้านการใช้ทรัพยากรทางทะเลอีกหลากหลาย ในฐานะที่ผมสัมผัสงานด้านนี้มาบ้าง กระผมเชื่อว่าการแก้ปัญหาทางทะเลและชายฝั่ง ยังต้องการงานวิจัยเชิงปฏิบัติ (Action Research) เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ของคนไทยเองอีกเยอะ
เมื่อปลายปี พ.ศ. 2548 กระผมจึงได้ค้นคว้าและศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับการแก้ปัญหาชายฝั่งทะเลแบบบูรณาการ โดยได้รับความกรุณาจากท่านอาจารย์คนึงนิตย์ ลิ่มจิรขจร อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล ภาควิชาวาริชศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้รับคำแนะนำเรื่อง การวางปะการังเทียมเพื่อบูรณาการระบบนิเวศทางทะเล ต่อมาเมื่อปลายปี 2549 กระผมได้รับแนวความคิดจากอาจารย์ชาวต่างประเทศ (ที่ฟลอริดา) ท่านทำงานด้านทะเลมามากว่า 30 ปี ท่านเป็นนักทฤษฎีและปฏิบัติอย่างแท้จริง ได้แนะนำถึงวิธีการใช้ปะการังเทียมเพื่อการป้องกันชายฝั่งทะเลด้วย กระผมคาดว่าหลักการดังกล่าวน่าจะเหมาะสมที่จะนำมาดัดแปลง/ประยุกต์ให้เกิดประโยชน์ต่อบ้านเราได้ กระผมได้นำเสนอแนวความคิดอันนี้ต่อหน่วยงานราชการและบริษัทเอกชนหลายแห่ง เพื่อให้ความช่วยเหลือทางด้านวัสดุและอุปกรณ์การวิจัย
ในการนี้ ทางกรมทรัพยากรธรณีได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการศึกษาวิจัยลักษณะดังกล่าว จึงได้ให้ความร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ โดยได้ให้ทุนการศึกษาวิจัยแก่ทางมหาวิทยาลัยเพื่อ ก่อสร้างอุปกรณ์และห้องปฏิบัติการทดลองในศึกษาด้านการใช้ปะกาเทียมเพื่อบูรณาการชายฝั่งทะเลของประเทศไทยเป็นการเร่งด่วน นอกจากจะใช้ปะการังเทียมในการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งแล้ว จะทำการดัดแปลงปะการังเทียมให้สามารถด้านทานแรงจากคลื่นลมด้วย เพื่อประโยชน์ทางด้านการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้วย เนื่องจากประเทศเราประสบปัญหาการกัดเซาะอย่างต่อเนื่องและอย่างรุนแรง การก่อสร้างโครงการป้องกันขนาดใหญ่ใช้งบประมาณสูงเหลือเกิน คงไม่เหมาะสมกับประเทศจนๆ อย่างเรา นอกจากกนี้การก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ยังทำให้ภูมิทัศน์ริมหาดเสียไปด้วย ทั้งยังมีผลกระทบด้านสังคมอีกมากมาย เช่นทำให้เกิดความขัดแย้งในสังคม และกลุ่มคนหลายกลุ่ม
ถ้าผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้ให้ผลในทางดี ก็อาจจะดำเนินโครงการนำร่องที่หาดสมิหลา แต่คงต้องอาศัยประชามติเป็นส่วนใหญ่ด้วย ฉะนั้นอย่าตื่นตูมไป เราแค่คิดและศึกษาวิจัยครับ ยังไม่ก่อสร้าง รอผลการศึกษาวิจัยก่อนครับ งานลักษณะนี้ต้องมีการศึกษาวิจัยเพื่อพัฒนาองค์ความรู้ก่อนออกแบบครับ
ในกรณีที่ท่านต้องการเข้าเยี่ยมชมการศึกษาทดลอง กราบเรียนเชิญที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ มอ. โทร 081-5999655 (ตรงอาจารย์พยอม) หรือ 074-287135 (ติดต่อคุณสุกานดา) กรุณาแจ้งล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 6 ชั่วโมง ทางคณะผู้ศึกษาวิจัยยินดียิ่งที่จะต้อนรับบุคคลหรือคณะกลุ่มคนผู้สร้างสรรค์ร่วมเสนอแนะ ทั้งนี้กระผมในนามหัวหน้าคณะวิจัยยินดีเลี้ยงต้อนรับด้วยอาหารเพียง 1 มื้อ แต่เบียร์สิงห์ตลอดการดำเนินโครงการบูรณาการชายฝั่ง
เราใช้ทรัพยากรชายฝั่งทะเลมายาวนาน โอกาสนี้จะน่าถึงเวลาแล้วที่พวกเราจะได้ร่วมมือกันทำประโยชน์เพื่อทะเลไทยอย่างเป็นรูปธรรม ปล่อยวางจาก (1) การวิจารณ์เชิงทำลาย (2) เลิกอิจฉาตาร้อนชิงดีชิงเด่น (3) เลิกยุแยงตะแยงรั่ว (4) ลดการคุยโวโอ้อวด พูดน้อยลงทำมากขึ้น (5) ลดฐิถิแห่งตัวข้า ลดความอวดรู้ เพิ่มความอยากรู้ (6) ปล่อยวางจากการทะเละวิวาทกับคนชาติเดียวกัน พฤติกรรมเหล่านี้เป็นบ่อยทำลายชาติ หันมาร่วมออกแรงกาย ร่วมแรงใจ และแรงสมอง เพื่อให้เกิดคุณประโยชน์ต่อองค์กรและประเทศชาติ ต่างประเทศเขาเจริญไปไกลแล้ว เรายังทะเลาะกันอยู่ ไม่นานประเทศลาวก็คงจะแซง เชิญพวกเรามาร่วมกันสร้างสรรค์และฟื้นฟูบูรณาการทรัพยากรชายฝั่งจะดีกว่า
รักและเคารพยิ่ง
พยอม รัตนมณี