พอดีวันนีอยากกินปูม้าเลยเปิดไปหาเมนูปูม้า ก็เลยเจอปูมะพร้ามไปอ่านเนื้อหากันเลยครับ
ปูมะพร้าว (อังกฤษ: Coconut crab; ชื่อวิทยาศาสตร์: Birgus latro) จัดอยู่ในประเภทสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไฟลัมอาร์โธรพอด เป็นสัตว์ที่วิวัฒนาการมาจากปูเสฉวน และเป็นสัตว์ขาปล้องขนาดใหญ่ที่สุดที่อาศัยอยู่บนพื้นดิน กิตติศัพท์ที่ว่าปูมะพร้าวสามารถเจาะลูกมะพร้าวด้วยก้ามอันทรงพลังนั้นเป็นที่รู้จักกันดี ในบางครั้งปูมะพร้าวถูกเรียกว่า ปูปล้น หรือ ปาล์มขโมย (เยอรมัน: Palmendieb) ทั้งนี้เนื่องจากปูมะพร้าวมักจะขโมยข้าวของเครื่องใช้ภายในบ้านที่ส่องประกาย อย่างเช่น หม้อ หรือถ้วยสแตนเลส บางคนเรียกปูมะพร้าวว่า ปูเสฉวนบก แต่อันที่จริงนอกจากปูมะพร้าวแล้ว ยังมีปูชนิดอื่นอีกที่จัดได้ว่าเป็นปูเสฉวนบกเช่นกัน นอกจากนี้ ปูมะพร้าวอาจมีชื่อเรียกต่างกันไปอีกในแต่ละที่ เช่น ที่เกาะกวม เรียกปูมะพร้าวว่า อายูยู
ลักษณะทางกายภาพ
ขนาดตัวของปูมะพร้าวนั้นหลากหลาย ตัวเต็มวัยของปูมะพร้าวสามารถเจริญเติบโตจนมีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม และความยาวของลำตัว 40 เซนติเมตร แต่ถ้านับรวมช่วงขาแล้วจะยาวถึง 1 เมตรได้ทีเดียว โดยทั่วไปตัวผู้จะมีขนาดใหญ่กว่าตัวเมีย มีรายงานว่ามีการพบปูมะพร้าวที่หนักถึง 17 กิโลกรัม และมีความยาวของลำตัว 1 เมตร ซึ่งเป็นที่เชื่อว่านี่คือขนาดตัวที่ใหญ่ที่สุดที่เป็นไปได้ของสัตว์ขาปล้องที่อยู่บนบก ปูมะพร้าวมีอายุประมาณ 30-60 ปี
ลำตัวของปูมะพร้าวก็เหมือนกับสัตว์ทศบาททั่วไป คือประกอบด้วยส่วนหัวอก (เซฟาโลโทแรกซ์) และส่วนท้อง ที่มี 10 ขา ขาคู่หน้าสุดของปูมะพร้าวเป็นก้ามขนาดใหญ่ ใช้สำหรับเจาะลูกมะพร้าว และสามารถยกน้ำหนักได้ถึง 29 กิโลกรัม ขาอีกสามคู่ถัดมามีลักษณะคล้ายแหนบ ใช้สำหรับเดินและปีนป่าย (ปูมะพร้าวสามารถใช้ขาทั้งสามคู่นี้ไต่ต้นมะพร้าวได้สูงถึง 6 เมตร) ส่วนขาคู่สุดท้ายนั้นเล็กมาก ใช้สำหรับทำความสะอาดอวัยวะหายใจ ขาคู่นี้มักจะอยู่ในกระดองตรงช่องที่บรรจุอวัยวะหายใจ
แม้ปูมะพร้าวจะวิวัฒนาการมาจากปูเสฉวน แต่มีเพียงตัวอ่อนของปูมะพร้าวเท่านั้นที่ต้องการเปลือกหอยมาปกป้องส่วนท้อง ตัวเต็มวัยของปูมะพร้าวสามารถสร้างส่วนท้องที่แข็งแรงขึ้นได้ด้วยไคติน และชอล์ค เปลือกแข็งที่ส่วนท้องนี้ช่วยป้องกันอันตรายและลดการเสียน้ำบนพื้นดิน ปูมะพร้าวจะลอกคราบเปลือกแข็งนี้ทุกๆ ช่วงเวลาหนึ่ง (ประมาณ 1 ปี) การลอกคราบครั้งหนึ่งใช้เวลาประมาณ 30 วัน โดยช่วงที่ลอกคราบเสร็จใหม่ๆ ส่วนท้องของปูมะพร้าวจะอ่อนแอ และต้องการการป้องกัน
ปูมะพร้าวมีอวัยวะพิเศษสำหรับหายใจ เรียกว่า branchiostegal lung อวัยวะนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็นครึ่งเหงือกครึ่งปอด ตั้งอยู่ด้านหลังของส่วนหัวอก มีเนื้อเยื่อคล้ายเหงือก แต่เนื้อเยื่อนี้ทำหน้าที่แลกเปลี่ยนก๊าซจากในอากาศ ไม่ใช่ในน้ำ ปูมะพร้าวมีเหงือกอยู่เหมือนกัน แต่เหงือกนี้ก็ไม่สามารถรับออกซิเจนได้มากนัก จึงไม่มีประโยชน์อะไร เหงือกนี้น่าจะเป็นสิ่งหลงเหลือจากวิวัฒนาการมากกว่า ปูมะพร้าวจึงว่ายน้ำไม่เป็น และอาจจะจมน้ำตายได้ถ้าอยู่ในน้ำนานๆ
อาหารการกิน
อาหารหลักของปูมะพร้าวคือผลไม้ โดยเฉพาะมะพร้าว อย่างไรก็ดี อะไรอย่างอื่นที่เป็นชีวภาพ ปูมะพร้าวสามารถกินได้หมด ไม่ว่าจะเป็น ใบไม้ ผลไม้เน่า ไข่เต่า ซากสัตว์ และเปลือกของสัตว์อื่นๆ ปูมะพร้าวอาจกินสัตว์อื่นเป็นๆ ที่เคลื่อนไหวช้า เช่น เต่าทะเลที่เพิ่งฟักออกจากไข่ เป็นต้น บ่อยครั้ง ปูมะพร้าวชอบที่จะขโมยอาหารจากปูมะพร้าวตัวอื่น และเอาอาหารลงไปกินในรูของมัน
ปูมะพร้าวชอบปีนต้นไม้เพื่อหาอาหาร นอกจากนั้นยังเพื่อหลบร้อนและหลีกภัย บางคนเชื่อว่าปูมะพร้าวตัดลูกมะพร้าวจากต้นแล้วลงมากินที่พื้น แต่นักชีววิทยาชาวเยอรมัน โฮลเกอร์ รัมพ์ฟ บอกว่าปูมะพร้าวไม่ได้ฉลาดพอที่จะคิดแผนการได้ถึงขนาดนั้น มันเพียงบังเอิญทำลูกมะพร้าวหล่นตอนที่จะกินลูกมะพร้าวบนต้นเท่านั้นเอง ถ้าไม่นับมนุษย์แล้ว ถือว่าปูมะพร้าวเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวในอาณาจักรสัตว์ที่สามารถเจาะลูกมะพร้าวและกินเนื้อมะพร้าวข้างในได้
การกระจายตัว
การกระจายตัวของปูมะพร้าว
ปูมะพร้าวสามารถพบได้ที่หมู่เกาะในมหาสมุทรอินเดียและหมู่เกาะทางตะวันตกของมหาสมุทรแปซิฟิก เกาะคริสต์มาสต์ในมหาสมุทรอินเดียนับได้ว่าเป็นแหล่งอาศัยของปูมะพร้าวที่ใหญ่และสมบูรณ์ที่สุด หมู่เกาะคุกในมหาสมุทรแปซิฟิกก็นับว่ามีปูมะพร้าวจำนวนมากไม่แพ้กัน นอกจากนี้ปูมะพร้าวยังพบได้ที่อื่นอีก เช่น ในเซเชลส์ เป็นต้น การกระจายตัวของปูมะพร้าวสามารถแสดงคร่าวๆ ได้ดังรูปด้านขวามือ
ลักษณะสีของปูมะพร้าวจะต่างกันไปตามแต่ละเกาะ ตั้งแต่สีม่วงอ่อน สีม่วงเข้ม ไปจนถึงสีน้ำตาล เนื่องจากปูมะพร้าวว่ายน้ำได้เฉพาะช่วงที่เป็นตัวอ่อนเท่านั้น และช่วงที่ตัวอ่อนของปูมะพร้าวมีระยะเวลาเพียง 28 วัน จึงสันนิษฐานว่าการกระจายของปูมะพร้าวจากเกาะหนึ่งไปสู่อีกเกาะหนึ่งที่อยู่ไกลๆ น่าจะเป็นด้วยวิธีเกาะขอนไม้ หรือสิ่งอื่นที่ลอยได้ มากกว่าจะว่ายน้ำไป
การกระจายตัวในรูปพบว่ามีช่องว่างที่ช่วงเกาะบอร์เนียว และปาปัวนิวกินี คาดว่าที่ไม่มีปูมะพร้าวอยู่บนเกาะเหล่านี้เป็นเพราะปูมะพร้าวถูกมนุษย์จับกินหมดแล้วนั่นเอง
ปูมะพร้าวในประเทศไทย
จนถึงปี พ.ศ. 2542 มีหลักฐานการพบปูมะพร้าวในประเทศไทยเพียง 3 ครั้ง ครั้งแรกเป็นในปี พ.ศ. 2530 เมื่อชาวประมงจับปูมะพร้าวได้ที่บริเวณเกาะสี่ ในหมู่เกาะสิมิลัน และได้ส่งปูตัวนั้นให้เรือจุฬาภรณ์มอบต่อให้สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต ปัจจุบันปูตัวนี้แสดงอยู่ที่สถานแสดงพันธุ์สัตว์น้ำภูเก็ต (อะควอเรี่ยมแหลมพันวา) ส่วนหลักฐานอีกชิ้นเป็นซากสตัฟฟ์อยู่ที่ภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นปูมะพร้าวที่ค่ายมวยจังหวัดระนองเลี้ยงไว้ โดยให้กินมันหมูเป็นอาหาร ปรากฏว่าปูชอบมากอยู่มาได้หลายปี เมื่อตายจึงส่งตัวอย่างให้ภาควิชา
จนเมื่อ พ.ศ. 2540 ขณะที่ทหารเรือจากกองเรือภาคที่ 3 เฝ้าไข่เต่าตนุอยู่ที่เกาะหนึ่ง ในหมู่เกาะสิมิลัน พบปูมะพร้าวน้ำหนักประมาณ 1 กิโลกรัม ออกมาหากินที่ชายหาดแถวนั้นเป็นประจำ โดยมีภาพถ่ายจากนาวาเอกวินัย กล่อมอินทร์ เป็นหลักฐาน อย่างไรก็ตาม เมื่อสถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต ส่งทีมงานเข้าไปสำรวจหาปูมะพร้าวที่เกาะหนึ่ง ในปี พ.ศ. 2542 ก็ไม่พบปูมะพร้าวแม้แต่ตัวเดียว กล่าวได้ว่าปูมะพร้าวเป็นสัตว์ที่พบเห็นได้ยากมากในเมืองไทย เช่นเดียวกับ หอยมือเสือยักษ์ หรือนกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร เลยทีเดียว
เป็นเรื่องน่ายินดีที่ในปี พ.ศ. 2542 เรือสำรวจแหล่งปลาทูน่าในทะเลสากลของกรมประมง เมื่อเดินทางไปสำรวจมหาสมุทรอินเดียแล้ว ได้นำปูมะพร้าวจำนวน 23 ตัว จากเกาะแอสซัมชัน ประเทศเซเชลส์ กลับมาประเทศไทยด้วย โดยเป็นตัวผู้ 4 ตัว และตัวเมีย 19 ตัว ซึ่งตอนนี้เลี้ยงไว้ที่สถาบันวิจัยชีววิทยาและประมงทะเล จังหวัดภูเก็ต คาดว่าปูมะพร้าวที่นำมานี้จะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาวิจัยเรื่องปูมะพร้าวในประเทศไทยต่อไป[2]
คงไม่เบื่อผมนะครับ