ลักษณะทั่วไปของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตั้งอยู่บนชายฝั่งด้านตะวันออกของภาคใต้ มีเนื้อที่ 9807 ตร.กม. (6,129,375 ไร่) แบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นพื้นดินมีเนื้อที่ประมาณ 8761 ตร.กม. และส่วนที่เป็นพื้นน้ำมีพื้นที่ประมาณ 1046 ตร.กม. มีความกว้างจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกประมาณ 20 กม. ส่วนความยาวจากทิศเหนือไปทิศใต้ประมาณ 75 กม. ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสงขลา คือ อำเภอเมือง อำเภอหาดใหญ่ อำเภอสะเดา อำเภอรัตภูมิ อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอควนเนียง อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอนาหม่อม อำเภอบางกล่ำ อำเภอคลองหอยโข่ง จังหวัดพัทลุงทั้งหมด และจังหวัดนครศรีธรรมราช คือ อำเภอชะอวด และอำเภอหัวไทร
ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
+ ทิศเหนือ ติดต่ออำเภอปากพนัง อำเภอเชียรใหญ่ อำเภอร่อนพิบูลย์ จังหวัดนครศรีธรรมราช
+ ทิศใต้ ติดต่อประเทศมาเลเซีย
+ ทิศตะวันออก ติดต่ออำเภอจะนะ อำเภอนาทวี จังหวัดสงขลา และทะเลอ่าวไทย
+ ทิศตะวันตก ติดต่อเทือกเขาบรรทัด จังหวัดตรัง และจังหวัดสตูล
ลักษณะภูมิอากาศ
สภาพภูมิอากาศบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา อยู่ภายใต้อิทธิพลของลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือและลมมรสุมตะวันออกเฉียงใต้ จึงสามารถแบ่งฤดูกาลออกได้เป็น 2 ฤดู คือ ฤดูร้อนและฤดูฝน ฤดูร้อนเริ่มตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ถึงกลางเดือนกรกฎาคม ส่วนฤดูฝนจะเริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคมถึงเดือนมกราคม โดยฝนจะตกหนักมากที่สุดในเดือนพฤศจิกายน
ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา
ลักษณะภูมิประเทศของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ประกอบด้วยพื้นที่ภูเขาสูงบริเวณทิศตะวันตกและทิศใต้ของลุ่มน้ำ ด้านตะวันตกจะเป็นแนวเทือกเขาบรรทัดที่ทอดตัวในแนวเหนือใต้ ตั้งแต่รอยต่อระหว่างจังหวัดพัทลุงกับจังหวัดตรัง ลงมาถึงรอยต่อระหว่างจังหวัดสงขลากับจังหวัดสตูล ส่วนทางด้านทิศใต้เป็นแนวเทือกเขาสันกลาคีรีบางส่วน ภูเขานี้ปกคลุมด้วยป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์จึงเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่ไหลลงสู่ทะเลสาบสงขลา สำหรับบริเวณด้านเหนือและด้านตะวันออกของพื้นที่ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งทะเลจึงเกิดจากการทับถมของตะกอน
ทะเลสาบสงขลาเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญแห่งหนึ่งของประเทศไทย เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ซึ่งมีทั้งน้ำจืด น้ำกร่อย และน้ำเค็มอยู่ใกล้เคียงกัน จึงทำให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงของระบบนิเวศน์อยู่ตลอดเวลา
ดินแดนรอบ ๆ ทะเลสาบสงขลา ปัจจุบันคือพื้นที่ของจังหวัดพัทลุง อำเภอชะอวด อำเภอหัวไทร อำเภอระโนด อำเภอสทิงพระ อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสิงหนคร อำเภอเมือง อำเภอหาดใหญ่ และอำเภอรัตภูมิ จากหลักฐานของแผนที่ของชาวต่างประเทศ พื้นที่บริเวณนี้ พ.ศ. 2000 มีลักษณะแตกต่างจากปัจจุบันมากพอสมควร โดยเฉพาะบริเวณอำเภอหัวไทร อำเภอระโนด อำเภอกระแสสินธุ์ อำเภอสทิงพระ และอำเภอสิงหนคร บริเวณนี้แต่เดิมเป็นเกาะสองเกาะ คือพื้นที่ในส่วนอำเภอหัวไทรไปจนถึงอำเภอสิงหนครซึ่งเป็นเกาะขนาดใหญ่ ส่วนเกาะขนาดเล็กก็คือ "เกาะใหญ่" ในปัจจุบัน อันเกิดจากระดับน้ำที่ลดลงทำให้พื้นที่ดินเดิมใต้ผิวน้ำโผล่ขึ้นมาเป็นภูเขาเตี้ย ๆ ประกอบกับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดเอาทรายทะเลมาทับถมทางด้านซีกตะวันออกของภูเขา ทำให้เกิดสันทรายงอกออกไปเรื่อย ๆ ในขณะที่ซีกตะวันตกของภูเขาก็เกิดดินตะกอนที่ลำน้ำสายสั้น ๆ คือ คลองนางเรียม คลองปากประ คลองลำปำ คลองท่าเดื่อ คลองอู่ตะเภา และแม่น้ำสายยาวที่พาดจากจังหวัดสตูลไหลออกทะเลที่บริเวณทะเลสาบตอนในในปัจจุบัน ทำให้แผ่นดินทั้งสองด้านงอกออกไปเรื่อย ๆ จนกลายเป็นเกาะขึ้น ซึ่งภายหลังเกาะนี้ก็ได้กลายเป็นที่ตั้งถิ่นฐานทำมาหากินเป็นชุมชนหนาแน่นเพราะมีความเหมาะสมที่จะเป็นท่าเรือ และสามารถกำบังลมได้เป็นอย่างดี แม้แผ่นดินทางด้านทิศเหนือจะงอกออกไปจนติดเป็นแผ่นดินเดียวกันแล้ว บริเวณเกาะซึ่งพัฒนาเป็นแหลมก็ยังคงเป็นชุมชนที่หนาแน่นยิ่งขึ้น เมื่อน้ำในทะเลสาบตอนในเปลี่ยนเป็นน้ำจืด เพราะได้รับอิทธิพลจากน้ำในลำคลองที่ได้กล่าวถึงข้างต้นมากกว่าน้ำทะเล พื้นที่โดยรอบของทะเลสาบจึงเริ่มกลายเป็นพื้นที่เพาะปลูก เนื่องจากบริเวณนี้มีดินตะกอนทับถมกันมากซึ่งเหมาะแก่การเพาะปลูก จึงกลายเป็นแหล่งผลิตข้าวที่สำคัญของภาคใต้ โดยเฉพาะบริเวณฝั่งตะวันตก หรือพื้นที่ของจังหวัดพัทลุงในปัจจุบัน ขณะเดียวกันทะเลสาบที่เกิดขึ้นก็เป็นแหล่งของสัตว์น้ำนานาชนิดด้วย
ส่วนบริเวณตอนบนหรือแถบต้นน้ำเชิงเขาก็เป็นเขตป่าที่มีป่าดงดิบขึ้นปกคลุมหนาแน่น จึงมีผลผลิตจากป่าจำนวนมาก เช่น หวาย ไม้ไผ่ สมุนไพร งาช้าง เครื่องหนัง เขาสัตว์ และของป่า อื่น ๆ ซึ่งของพวกนี้พ่อค้าชาวจีนและอินเดียต้องการมาก พ่อค้าชาวจีนและอินเดียจึงเดินทางเข้ามาค้าขายและนำเอาอารยธรรมเข้ามาเผยแพร่ในบริเวณคาบสมุทรมลายูและเอเซียตะวันออกเฉียงใต้
ทะเลสาบสงขลา สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 ตอนใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
ท ะเลสาบสงขลามีสภาพทางนิเวศวิทยาที่หลากหลาย เนื่องจากเป็นที่ไหลรวมจากต้นน้ำลำคลองเล็ก ๆ มากมายและยังมีทางออกสู่ทะเลอ่าวไทย ปริมาณและสภาพน้ำในทะเลสาบขึ้นอยู่กับน้ำจืดที่ไหลลงมาและน้ำเค็มจากทะเลหนุนเข้ามา ซึ่งในฤดูน้ำหลากประมาณเดือนพฤศจิกายนถึงธันวาคมจะมีน้ำจืดไหลลงสู่ทะเลสาบจำนวนมาก จึงไปผลักดันน้ำเค็มออกสู่อ่าวไทย ในช่วงนี้น้ำในทะเลสาบจะขุ่นและเป็นน้ำจืด แต่เมื่อถึงฤดูแล้งปริมาณน้ำจืดที่ไหลลงสู่ทะเลสาบจะมีน้อย น้ำเค็มจะไหลเข้ามาแทนที่ในช่วงนี้ น้ำในทะเลสาบจะกร่อย สามารถแบ่งทะเลสาบสงขลาออกได้เป็น 4 ตอนใหญ่ ๆ ได้ดังนี้
1. ทะเลน้อย
อยู่ตอนบนสุดมีพื้นที่ประมาณ 28 ตารางกิโลเมตร ความลึกเฉลี่ยประมาณ 1.5 เมตร เป็นทะเลสาบน้ำจืดโดยแยกส่วนกับทะเลสาบ โดยมีคลองนางเรียมเชื่อมต่อระหว่างทะเลน้อยกับทะเลหลวง ทิศตะวันตกของทะเลน้อยเป็นส่วนของจังหวัดพัทลุง ทิศเหนือเป็นส่วนของจังหวัดนครศรีธรรมราชและทิศตะวันออกจรดอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา ทะเลน้อยเป็นทะเลสาบน้ำจืดที่มีพืชน้ำนานาชนิดขึ้นอยู่โดยรอบ มีป่าพรุขนาดใหญ่ มีวัชพืชพวกผักตบชวา กกจูด และยังเป็นแหล่งของนกน้ำนานาพันธุ์ทั้งที่ประจำถิ่นและที่อพยพมาจากแหล่งอื่น
2. ทะเลหลวง (ทะเลสาบสงขลาตอนบน) เป็นส่วนของทะเลสาบสงขลาถัดจากทะเลน้อยลงมาจนถึงเกาะใหญ่ อำเภอกระแสสินธุ์ เป็นห้วงน้ำกว้างใหญ่ที่สุดมีพื้นที่ประมาณ 458.80 ตร.กม. ความลึกประมาณ 2 เมตร ในอดีตเป็นท้องน้ำจืดขนาดใหญ่ แต่ในบางปีมีการรุกตัวของน้ำเค็มค่อนข้างสูงในช่วงฤดูแล้ง
3. ทะเลสาบ (ทะเลสาบตอนกลาง)
อยู่ถัดจากทะเลหลวงลงมา ตั้งแต่บริเวณแนวเกาะใหญ่ทางใต้ไปบรรจบกับเขตอำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง อำเภอสทิงพระจนถึงบริเวณปากรอ อำเภอสิงหนครจังหวัดสงขลามีพื้นที่ประมาณ 377.20 ตร.กม. ความลึกประมาณ 2 เมตร เป็นส่วนของทะเลสาบที่มีเกาะมากมาย เช่น เกาะสี่ เกาะห้า เกาะหมาก เกาะนางคำ พื้นที่ส่วนนี้เป็นการผสมผสานของน้ำเค็มและน้ำจืดจึงทำให้มีสภาพเป็นทั้งน้ำจืดและน้ำกร่อย ในช่วงที่เป็นน้ำจืดจะมีพืชปกคลุมโดยทั่วไป
4. ทะเลสาบสงขลา (ทะเลสาบสงขลาตอนล่าง)
เป็นส่วนของทะเลสาบตอนนอกสุดที่เชื่อมต่อกับอ่าวไทย มีพื้นที่ประมาณ 182 ตร.กม. ความลึกประมาณ 1.5 เมตร ยกเว้นช่องแคบที่ติดต่อกับทะเลอ่าวไทย ซึ่งเป็นช่องเดินเรือมีความลึกประมาณ 12-14 เมตร ทะเลสาบส่วนนี้เป็นบริเวณที่มีน้ำเค็ม แต่บางส่วนในช่วงฤดูฝนจะเป็นน้ำกร่อย และได้รับอิทธิพลจากน้ำขึ้น น้ำลง บริเวณทางตอนใต้มีพื้นที่ป่าชายเลนปกคลุมโดยทั่วไป แต่ปัจจุบันถูกเปลี่ยนไปเป็นพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่เพาะเลี้ยงกุ้ง
--------------------------------------------------------------------------------