ประวัติ ผกค. กลุ่มเขาค้อ
เมื่อปี พ.ศ 2511 พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ได้ส่งผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์เข้ามาปฏิบัติงานในเขตรอยต่อ 3จังหวัด (พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, เลย) รวม 9 หน่วย คือ
1. หน่วยสหายสมหวัง
2. หน่วยสหายคำเพชร
3. หน่วยสหายชู
4. หน่วยสหายพิชัย
5. หน่วยสหายสด
6. หน่วยสหายทัด
7. หน่วยสหายเจริญ
8. หน่วยสหายรวม
9. หน่วยสหายชิวา
1.หน่วยสหายสดโดยมีสหายดั่ง (นายดำริห์) เป็นหัวหน้า ได้เข้ามาปลุกระดมมวลชน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นราษฏรชาวไทยภูเขาเผ่าม้ง ซึ่งอาศัยอยู่กระจัดกระจายตามเทือกเขาต่างๆ ในเขตบริเวณรอยต่อ 3 จังหวัด ซึ่งต่อมากลางปี 2511 ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์กลุ่มดังกล่าว ได้จัดตั้งทหารหลัก โดยแบ่งหน้าที่รับผิดชอบออกเป็น 3 ชุด คือ
ชุดที่ 1 มีหน้าที่รับผิดชอบ บริเวณภูหินร่องกล้า ภูขี้เถ้า และบ้านทับเบิก
ชุดที่ 2 มีหน้าที่รับผิดชอบ บริเวณเขาค้อ
ชุดที่ 3 มีหน้าที่รับผิดชอบ บริเวณที่ราบของอำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์
โดยแต่ละชุดจะเปิดโรงเรียนการเมือง การทหาร
ผกค. กลุ่มเขาค้อ มีชื่อรหัสเขตงานว่า เขต ข.33 ปฏิบัติงานด้านการเมือง การทหารครอบคลุมพื้นที่ อ.หล่มสัก อ.เมือง อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์ อ.เนินมะปราง รวมทั้งพื้นที่บางส่วนของ อ.นครไทย จ.พิษณุโลกผกค.กลุ่มเขาค้อ มีฐานที่มั่นประกอบด้วยสำนักอำนาจรัฐ โรงเรียนการเมืองการทหาร สำนักพลเขตนายร้อยพลาธิการ สำนักทหารช่าง สำนักเคลื่อนที่กองร้อยทหารหลัก 515 กองร้อยทหารหลัก 520 พยาบาลเขตและคลังเสบียง อาวุธ รวมทั้งหมู่บ้านปลดปล่อยในอิทธิพล คือ บ้านภูชัย บ้านแสงทอง หลักชัย ชิงชัย กล้าบุก ทุ่งแดง รวมพลัง รวมสู้ ต่อสู้ (ไม่ปรากฏในแผนที่เพราะเป็นที่จัดตั้ง)ฐานที่มั่นและหมู่บ้านในอิทธิพลเหล่านี้กระจายอยู่ตามเทือกเขาต่าง ๆ บริเวณบ้านหนองแม่นา สะเดาะพง เขาค้อ เขาย่า เขาหลังถ้ำ รวมพื้นที่ฐานมั่น ผกค. ประมาณ 50 ตร.กรม.
เมื่อ 20 พ.ย. 2511 ผกค. กลุ่มเขาค้อประกาศวันเสียงปืนแตก ด้วยการเข้าโจมตีหมู่บ้านเล่าลือ มีเจ้าหน้าที่บาดเจ็บล้มตายและ ผกค. ได้ยึดอาวุธยุทโธปกรณ์บางส่วน จากนั้นได้โฆษณาชวนเชื่อชาวเขาเผ่าม้ง บริเวณนี้ว่าเจ้าหน้าที่จะทำการแก้แค้นด้วยการกวาดล้างและฆ่าชาวม้งทุกคน จึงเป็นเหตุให้ชาวเขาเหล่านี้เกิดความหวาดกลัวต่างพากันอพยพเข้าร่วมเป็นสมัครพรรคพวกกับ ผกค. กลุ่มเขาค้อเป็นต้นมา
เมื่อ ผกค. กลุ่มเขาค้อ มีกำลังแข็งแผ่อิทธิพลครอบคลุมชาวเขาประมาณ 3,000 คน เหล่านี้ไว้ได้ทั้งหมด ประมาณปี 2513 ผกค. ได้จัดตั้งกองร้อยเคลื่อนที่เร็ว 515 และกองกำลังติดอาวุธ 511 นั้นมีหน้าที่เขตรับผิดชอบ
กองร้อย 515 แบ่งกำลังออกเป็น 2 ส่วน
ส่วนที่ 1 ปฏิบัติงานด้านการเมือง ตามหมู่บ้านพื้นราบเชิงเขา เขต อ.ชนแดน จ.เพชรบูรณ์
ส่วนที่ 2 กลางเมืองตามหมู่บ้านพื้นราบเชิงเขาเขต กิ่ง อ.เนินมะปราง จ.พิษณุโลก
ประมาณปี พ.ศ. 2514 ยุบกองร้อย 515 กับกองร้อย 511 รวมกันเป็นกองร้อย 515 ต่อมาปี 2520 ได้ยกระดับทหารบ้าน ซึ่งได้รับการฝึกเป็นกองร้อยทหารหลัก 520
จากการดำเนินงานด้านการข่าว ทำให้เราทราบว่า ผกค. (พรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย) ได้สถาปนาอำนาจรัฐประชาชนขึ้นในเขตฐานที่มันคงของ ผกค. กลุ่มเขาค้อเป็นแห่งแรกในประเทศไทยและมีอายุยืนยาวถึง 10 ปี และมีระบบโครงสร้างการจัดการค่อนข้างมั่นคง มีคณะกรรมการบริหารเรียกว่า "คณะกรรมการรัฐ" ซึ่งประกอบด้วย
- ประธานกรรมการรัฐ
- รองประธานกรรมการรัฐ
- กรรมการรัฐฝ่ายปกครอง
- กรรมการรัฐฝ่ายเศรษฐกิจ
- กรรมการรัฐฝ่ายทหาร
- กรรมการรัฐฝ่ายศึกษาและเยาวชน
- กรรมการรัฐฝ่ายสาธารณสุข
- กรรมการรัฐฝ่ายโฆษณา
- กรรมการรัฐฝ่ายการพาณิชย
- กรรมการรัฐฝ่ายสตรีและเด็ก
นอกจากนั้นยังมีสภาผู้แทนประชาชนปฏิวัติประกอบด้วยสมาชิกสภาจำนวน 55 คนที่ได้รับเลือกมาจากราษฎรและทหารในเขตฐานที่มั่น ทำหน้าที่กำหนดแก้ไขเพิ่มเติมและตัดทอนกฎหมายลงมติโครงการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อความสงบเรียบร้อย มั่นคง และก้าวหน้าของเขตฐานที่มั่น และติดตามตรวจสอบการบริหารของกรรมการบ้านและกรรมการรัฐในการพิจารณาคดีต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในฐานที่มั่น มีศาลประชาชนซึ่งประกอบด้วยศาลผู้พิพากษา และคณะกรรมการกฎหมายมีอำนาจหน้าที่พิจารณาคดีต่าง ๆ ทั้งคดีแพ่ง คดีอาญา และความผิดต่อความมั่นคงของรัฐ (ฐานที่มั่น) ตามกฎหมายที่กำหนดขึ้นไว้
ด้านการปกครอง มีการจัดองค์การบริหารถึงระดับหมู่บ้าน มีเจ้าหน้าที่คือ คณะกรรมการบ้านเป็นผู้บริหาร
ด้านการทหาร มีทหารหลักที่จะรักษาความปลอดภัยแก่ฐานที่มั่น และมีทหารบ้านเป็นกำลังสำรอง ทหารเหล่านี้มีขีดความสามารถพร้อมที่จะสู้กับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ด้านเศรษฐกิจ มีการวางโครงการเกี่ยวกับการผลิตแต่ละปีไว้อย่างแน่ชัด คือ ผลิตไว้เพื่อสำรองเวลาสู้รบกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาล ในกรณีที่การรบยืดเยื้อ ผลิตกเพื่อใช้ เลี้ยงทหาร ประชาชน ที่อยู่ในเขตฐานที่มั่น
ด้านการพาณิชย์ มีการซื้อของใช้ที่จำเป็นจากภายนอกเข้าไปจำหน่ายแก่ พวกทหารและประชาชนในเขตฐานที่มั่นไว้อย่างแน่นอน
ด้านการศึกษาและวัฒนธรรม มีการเปิดโรงเรียนสอนลูกหลานของทหารและประชาชนจนถึงระดับหมู่บ้าน
ด้านการสาธารณสุข มีหมอบ้าน สำนักเภสัชและยาป่ารวมทั้งมีการจัดตั้ง โรงเรียนแพทย์เพื่อผลิตหมอ ในอนาคตจะจัดตั้งสถานอนามัยขึ้นบริการแก่ชาวบ้าน 2 - 3 หมู่บ้านต่อ 1 แห่ง
ด้านสตรีและเด็ก มีการดำเนินงานจัดองค์การบริหารจนถึงระดับหมู่บ้าน
นโยบายด้านเศรษฐกิจ ให้ยืนหยัดทำการผลิตรวมหมู่เป็นหลักในการดำเนินการ และผลิตเพื่อใช้ส่วนตัวเป็นรองยึดมั่นการพึ่งตนเอง ความมุ่งหมายในการผลิต คือ การทำนา ปลูกฝ้าย เพื่อใช้ผลิต เครื่องนุ่งห่ม ผลิตยาสมุนไพร และการต้มเกลือ ใช้ประกอบอาหารและต้องผลิตให้เพียงพอ ทุกหมู่บ้าน จะต้องเตรียมข้าวสำรองไว้อย่างน้อยหมู่บ้านละ 4 - 5 ถัง พร้อมทั้งให้เตรียมเสบียงอาหารแห้งไว้ให้พร้อม ถ้าหากถูกโจมตีจะใช้ข้าวและเสบียงที่สะสมเป็นอาหารเลี้ยงชีพระหว่างการสู้รบหรืออพยพหลบหนี
นโยบายด้านการทหาร ต้องพึ่งจำนวนของตัวเองเป็นหลัก ให้ทุกหมู่บ้านส่งลูกหลานที่มีอายุเข้าเกณฑ์เป็นทหารให้ยกระดับทหารบ้านให้สูงขึ้น พร้อมที่จะจัดตั้งเป็นกำลังรบหลักหรือช่วยเหลือทหารหลักในการสู้รบกับเจ้าหน้าที่ให้ทหารทุกคนเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับฝ่ายรัฐบาล