หลังจากที่เก็บอุปกรณ์เรียบร้อยก็มานั่งรอหลานเพื่อมาดันรถกลับไปตลาดมหาชัย(ไกลพอสมควรเลยครับ)แดดก็ร้อนเกิ้น
...ต้นชะคราม ครับ ของดีริมทางริมถนน ที่หลายฯคนอาจจะไม่รู้ หรืออาจจะมองข้ามไปครับ ทุกครั้งที่ผมมาตกปลาผมจะแวะเก็บกลับทุกครั้งครับ
ขออนุญาติลงบทครามหน่อยนะครับ
นภาพร แก้วดวงดี
คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา
พืชจัดเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่มนุษยชาติใช้เป็นอาหารหลักในการดำรงชีวิตและใช้เป็นยารักษาโรค ซึ่งขณะนี้ประชากรโลกมีความต้องการในปริมาณมากที่จะใช้ในการพัฒนาและแปรรูปเป็นสารสกัดจากสมุนไพร โดยเฉพาะสมุนไพรไทย นอกจากนี้พืชยังเป็นแหล่งเศรษฐกิจที่ทำรายได้ให้แก่เกษตรกรในเชิงพาณิชย์ ดังนั้นจึงต้องมองหาพืชมาใช้ทดแทนแหล่งของพลังงานและใช้เป็นยารักษาโรค
พืชขนาดเล็กที่ทนทานต่อความเค็มได้ดี ลำต้นเตี้ยขึ้นอยู่ในช่วงเวลาที่ความเค็มของพื้นดินไม่มากจนเกินไปที่อยู่ในส่วนที่น้ำทะเลท่วมถึงแต่ไม่ต่อเนื่องเช่น ชะคราม หญ้าปราบน้ำเค็ม หญ้าขม เป็นต้น พืชน้ำเค็มที่น่าสนใจและน่าจะมีประโยชน์ทางด้านสารอาหารและสารต้านมะเร็งที่ว่านี้ก็คือ ชะคราม (Suaeda maritima) ซึ่งเป็นพืชน้ำเค็ม (saltmarsh Plant) จากภูมิปัญญาอาหารท้องถิ่นซึ่งเป็นปัจจัยที่จะนำไปสู่วิถีการดำรงชีวิตของชุมชนที่สอดคล้องกับธรรมชาติและความฉลาดของชุมชนจึงได้เรียนรู้วิธีการนำเอาพืชและไม้ป่าชายเลนมาใช้ประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ กันเช่น ใช้ประกอบอาหาร ใช้ทำฟืน ใช้เผาถ่าน สีย้อมผ้าธรรมชาติ โดยทุกวันนี้ชาวบ้านยังใช้วัชพืชบางชนิดในป่าชายเลนเป็นยาสมุนไพรรักษาโรค ในอนาคตอาจจะมีการแปรรูปของวัชพืชจากป่าชายเลนออกเป็นรูปแบบต่างๆ กันออกไปในเชิงพาณิชย์
ชะคราม (Suaeda maritima L., Dumort.) อยู่ในวงศ์ Chenopodiaceae เป็นพืชล้มลุกขนาดเล็กแตกกิ่งก้านเป็นพุ่มต่ำ กิ่งก้านเล็กมีสีน้ำตาลแดง ลำต้นเตี้ย ทนทานต่อความเค็ม เจริญเติบโตได้ดีบริเวณน้ำกร่อยและป่าชายเลน ลำต้นมีความสูงโดยเฉลี่ยประมาณ 30-80 เซ็นติเมตร มีใบ ดอก และผล ใบเป็นเส้นเล็กฝอยสีเขียว ในฤดูแล้งเมื่อต้นแก่ใบจะเปลี่ยนเป็นสีแดงอมม่วง มีใบเป็นใบเดี่ยว (simple leaf) ออกเรียงเวียนสลับ ใบมีขนาดเล็กค่อนข้างกลม อวบหนามีทั้งสีเขียวและสีแดง ปลายใบแหลม ขอบใบเรียบ ก้านใบสั้นมาก ใบมีรสเค็ม ดอก ออกเป็นช่อกระจุกขนาดเล็กตามซอกใบ ดอกย่อยขนาดเล็กมีสีขาวอมเขียว ผลรูปร่างทรงกลมรี ขนาดเล็ก ผิวเรียบ สีเหลืองอมส้ม ชะคราม มีชื่อเรียกแตกต่างกันตามสถานที่เช่น ต้นชะคราม ชักคราม (ภาคกลาง) ชั้วคราม ส่าคราม ล้าคราม หรือ ล่าคราม (สมุทรสาคร)
ชะครามเป็นพืชสมุนไพรที่น่าสนใจชนิดหนึ่ง ที่สามารถนำมาสกัดสารทดลองเพื่อยับยั้งหรือฆ่าเซลล์มะเร็งในอนาคตอันใกล้นี้ นอกจากนี้ยังมีข้อดีคือ ชะครามขยายพันธุ์ได้ง่ายและมีปริมาณมาก หาง่ายจากป่าชายเลน อันเป็นความหวังของผู้ป่วยมะเร็งอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะสามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยและยืดอายุต่อไปได้และเพื่อหาทางรักษาในรายที่เป็นมะเร็งในระยะเริ่มแรกได้ ซึ่งงานวิจัยทางด้านนี้ยังมีการศึกษาน้อยมากในประเทศไทย นอกจากนี้ชะครามยังสามารถนำมาใช้ประกอบอาหารตามบ้านเรือน และด้วยความชาญฉลาดของท้องถิ่นชาวบ้านได้นำวัชพืชชนิดนี้มาทำการปรุงเป็นอาหารแบบดั้งเดิมจนเป็นการสืบทอดความรู้ของคนโบราณมาจวบจนปัจจุบันโดยรวบรวม ถ่ายทอด และนำมาสั่งสอนให้คนรุ่นใหม่ได้รับรู้ถึงวิธีการดัดแปลงการทำอาหารจากวัชพืชที่ไร้ค่าแล้วสามารถเก็บมาใช้ประโยชน์ได้อีกเช่น ต้ม ยำ ทำแกงได้ โดยเก็บใบมาทำแกงส้ม หรือนำใบมารับประทานกับจิ้มน้ำพริกกะปิ หรือเป็นเครื่องเคียง ในอนาคตคาดว่าชะครามอาจจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำมาแปรรูปเป็นอาหารที่มนุษย์นิยมรับประทานเพื่อสุขภาพ ทั้งนี้เนื่องจากชะครามเป็นพืชที่หาง่ายพบขึ้นทั่วไปตามป่าชายเลน และที่สำคัญที่สุดคือ สารสกัดจากต้นชะครามยังมีประโยชน์ใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคในทางการแพทย์ได้ดีอีกด้วย
จากข้อมูลสมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศอินเดียพบว่า ชะครามมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระได้ ซึ่งตรงกับรายงานของ Jithesh และคณะ (2006) พบว่า ชะครามมีคุณสมบัติเป็นสารต้านอนุมูลอิสระหรือที่เรียกกันว่า สารแอนติ ออกซิแดนท์ (antioxidant) และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกัน นอกจากนี้ในสารสกัดจากพืชน้ำเค็มในป่าชายเลนหลายชนิดรวมทั้งต้นชะคราม สามารถรักษาภูมิคุ้มกันในหนูเมาส์ได้ในการทดลองในห้องทดลอง (Seo et al., 2005) นอกจากนี้ต้นชะครามยังมีประโยชน์ในทางการแพทย์โดยไม่ระบุส่วนที่ใช้ พบว่าชะครามสามารถขับปัสสาวะ รักษาโรคโกโนเรีย (เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ, 2549) รักษารากผมและใช้เป็นยาแก้พิษจากยางของต้นตาตุ่มที่ทำให้เกิดอาการผื่น คัน และบวมแดงได้เมื่อสัมผัส จากความเฉลียวฉลาดของปัญญาชาวบ้านได้นำมาใบชะครามและมะพร้าวที่ขูดแล้วมาคั้นรวมกันแล้วกรองน้ำด้วยผ้าขาวบาง จากนั้นจึงนำมาทาผิวบริเวณที่สัมผัสยางของต้นตาตุ่ม หรืออีกวิธีหนึ่งก็คือรีบหาน้ำฝนมาทาหรือล้างบริเวณที่สัมผัส อาการก็จะค่อยๆ ทุเลาลงได้ซึ่งเป็นวิถีชีวิตที่พอเพียง
ชะครามเป็นวัชพืชชนิดหนึ่งและยังเป็นพืชสมุนไพรที่น่าสนใจในการนำมาแปรรูปเป็นอาหารและสามารถสกัดสารเพื่อใช้เป็นยาสมุนไพรรักษาโรคอันเป็นความหวังของผู้วิจัยและผู้ป่วยมะเร็งอีกทางหนึ่ง ซึ่งจะสามารถช่วยชีวิตของผู้ป่วยและยืดอายุต่อไปได้ ในอนาคตคาดว่าชะครามนี้อาจจะเป็นพืชเศรษฐกิจที่นำมาแปรรูปและพัฒนาเป็นรูปแบบอาหารที่มนุษย์นิยมรับประทานเพื่อสุขภาพ และใช้เป็นพืชเพิ่มพลังงานให้แก่ประเทศไทยได้ ทั้งนี้เนื่องจากชะครามเป็นพืชที่หาง่ายพบขึ้นทั่วไปตามป่าชายเลนและที่สำคัญที่สุด สารสกัดจากต้นชะครามยังมีประโยชน์ทางการแพทย์ทางเลือกได้อีกทางหนึ่งในอนาคตซึ่งมนุษย์ไม่ควรจะละเลย
เอกสารอ้างอิง
พรทิพา พิชา. (2549). สมุนไพรต้านมะเร็ง. การประชุมวิชาการกรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. กรุงเทพมหานคร.
เพ็ญนภา ทรัพย์เจริญ. (25497. สมุนไพรในอุทยานแห่งชาติภาคใต้. กรุงเทพฯ : สามเจริญพาณิชย์.
Huang, M., Ho, C., and Lee, C. (1992). Phenolic compounds in food and their effects on health II: Antioxidants and cancer prevention. New York: American Chemical Society.
Jithesh, M.N., Proshonth, B.R., Sivaprokash, K.R., and Parida, A.K. (2006). Oxidative response mechanism in halophyte: their role in stress defense. J. Gent. 85(3): 237-254.
Seo, Y., Lee, H.J., Kim, Y.A., Youn, H.J., and Lee, B.J. (2005). Effect of several salt marsh plants on mouse spleen and thymus cell proliferation using MTT assay. Ocen. Sci. J. 40(4):209-212.