อวนลากคู่ หมายถึง อวนลากที่ใช้เรือสองลำช่วยถ่างปากอวน
อวนลากชนิดนี้ใช้เรือยนต์สองลำ ทำหน้าที่ลากอวนและถ่างปากอวนโดยการรักษาระยะห่างและความเร็วเรือขณะลากให้เท่ากัน ใช้ลูกเรือ 18-22 คน ส่วนใหญ่ใช้จับปลาหน้าดิน ปลาผิวน้ำและหมึก ยังไม่พบว่าใช้เครื่องมือชนิดนี้จับกุ้งโดยเฉพาะ จังหวัดที่นิยมใช้กันมาก ได้แก่ จังหวัดสมุทรปราการ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม จันทบุรี สงขลาและภูเก็ต
เครื่องมือและอุปกรณ์ เรือประมง มีขนาด 14-25 ม. ส่วนใหญ่ใช้ขนาด 18-25 ม. ขนาดเครื่องยนต์ 60-550 แรงม้า เรือ 2 ลำ อาจมีขนาดเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ ในกรณีที่ไม่เท่ากัน ลำที่มีขนาดใหญ่ทำหน้าที่กู้อวนคัดเลือกและเก็บรักษาสัตว์น้ำนิยมเรียกว่า เรือปลา หรือเรืออวน อีกลำหนึ่งช่วยลากอวนเรียกว่า เรือหู ส่วนใหญ่ติดตั้งเครื่องหาที่เรือจากดาวเทียม เรดาร์ เอคโคซาวเดอร์และวิทยุสื่อสาร
เครื่องมืออวน ความยาวคร่าวบนรอบปากอวน 40-47 ม. และความยาวคร่าวล่าง 36-46 ม. ความยาวปลายปีกอวนถึงก้นถุง 48-55 ม. ขนาดตาปีกอวนเริ่มที่ขนาดตา 200 หรือ 180 มม. ขนาดตาอวนส่วนที่ถัดมาลดลงตามลำดับ ได้แก่ ขนาดตา 160, 120, 80, 60, 40 มม. ส่วนที่เป็นก้นถุงขนาดตาเล็กที่สุด 20, 25 หรือ 30 มม. คร่าวบนใส่ทุ่นขนาด 14-20 ซม. จำนวน 25-50 ทุ่น ขึ้นอยู่กับความยาวรอบปากอวนและขนาดทุ่น ชนิดเนื้ออวนที่นำมาประกอบใช้เนื้ออวนโปลีเอทธีลีน ขนาดเบอร์ 700/21 ปลายสุด ของปีกอวนทั้งสองข้างต่อเข้ากับเชือกปลายปีกหรือเรียกว่า ปีกฟรี ซึ่งส่วนนี้ไม่มีเนื้ออวนยาว 36-90 ม. โดยเส้นบนผูกทุ่น หรือไม่มีทุ่น ส่วนเส้นล่างประกอบเหมือนคร่าวล่างรอบปากอวน คือ มีลูกกลิ้งไม้และยางร้อยผ่านลวดสลิง ปลายสุดของปีกฟรีทั้งสองข้างต่อเข้ากับเหล็กสามเหลี่ยม หรือเรียกว่า จิ้งจก บางรายใช้ท่อนเหล็กแทน ส่วนที่ต่อเข้ากับจิ้งจก คือ สายกวาด หรืออ้ายเหลือม ยาว 50-60 ม. จากนั้นจึงต่อเข้ากับสายลากซึ่งเป็นลวดสลิงยาว 400-600 ม.
วิธีทำการประมง ส่วนใหญ่ทำประมงในเวลากลางวัน ตั้งแต่เช้ามืดถึงพระอาทิตย์ตกดิน แต่จะพบทำการประมงเวลากลางคืนเป็นครั้งคราว โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเดือนหงาย แหล่งทำการประมงตั้งแต่บริเวณที่มีน้ำลึก 5-60 ม. โดยเริ่มจาก เรือหูฉุดอวนจากเรือปลาลงน้ำทางท้ายเรือ แล้วกลับลำตั้งหัวเรือไปในทิศเดียวกับเรือปลาพร้อมทั้งปล่อยสายลากจนได้ระยะที่เหมาะสมแล้วเร่งเครื่องยนต์เต็มที่เพื่อทำการลากอวน ความเร็วเรือขณะลากอวนประมาณ 4-5 น๊อต หรือ 7.4-9.3 กม./ชม. ขึ้นอยู่กับขนาดเรือและเครื่องยนต์ การลากอวนแต่ละครั้ง (รอย) ใช้เวลา 3-4 ชม.ในรอบหนึ่งวันจะลากอวนและกู้อวน 3 ครั้ง วิธีกู้อวนเรือทั้งสองจะหันหัวเรือกลับในทิศตรงข้ามกับแนวที่ลาก แต่ละลำกว้านสายลากเก็บ จากนั้นเรือหูจะปลดสายลาก และสายกวาดออกจากตัวอวนแล้วส่งให้เรือปลาทำหน้าที่กู้อวนต่อ พร้อมทั้งคัดเลือกและเก็บรักษาสัตว์น้ำในเรือต่อไป
สัตว์น้ำส่วนใหญ่ที่จับได้ เช่น ปลาทู ปลาลัง ปลาสีกุน ปลาอินทรี ปลาดาบลาว ปลาทรายแดง ปลาปากคม ปลาตาหวาน ปลาจวด หมึกกล้วย หมึกกระดอง ปูม้า และปลาเป็ด (ใช้ทำอาหารสัตว์)