นับตั้งแต่สิ่งมีชีวิตตัวแรกลืมตามาดูโลก (ซึ่งที่จริงคงลืมไม่ได้ เพราะมันไม่มีตา) เมื่อราว 4,000 ล้านปีมาแล้ว สิ่งที่เกิดควบคู่กับมันมาก็คือวิวัฒนาการ เจ้าวิวัฒนาการนี่เองที่ทำให้เกิดสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตที่หลากหลาย และมีการเปลี่ยนแปลงไปจากบรรพบุรุษในอดีตมากมาย
อาจพูดได้ว่าวิวัฒนาการเป็นเหมือนกฎของธรรมชาติที่สิ่งมีชีวิตทุกชนิดต้องเผชิญ แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีผู้ที่หาญกล้าแหกกฎนี้อยู่เหมือนกัน
จระเข้ แมงดาทะเล หอยงวงช้าง แปะก๊วย ฯลฯ คือตัวอย่างสิ่งมีชีวิตที่ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลงและเคารพรักบรรพบุรุษมาก พวกมันมีความสุขกับชีวิตแบบเดิมๆ บรรพบุรุษมันเป็นอย่างไร มันก็ขอเป็นแบบนั้น ซึ่งเราเรียกสิ่งมีชีวิตที่แทบจะมีรูปร่างลักษณะไม่ต่างจากบรรพบุรุษในอดีตของมันว่า สิ่งมีชีวิตคงสภาพดึกดำบรรพ์ (living fossil)
แต่ในบรรดาสัตว์อนุรักษ์นิยมเหล่านี้ คงจะไม่มีตัวไหนที่โด่งดังเท่ากับปลาประหลาดที่ชื่อว่า ซีลาแคนท์ (coelacanth) เรื่องราวของมันน่าสนใจอย่างไร ผมจะพาไปดูกันครับ
ซีลาแคนท์ปลาที่มีมาตั้งแต่ 400 ล้านปีก่อนในตั้งแต่ยุคดีโวเนียน
เรามาเริ่มด้วยเรื่องการค้นพบซีลาแคนท์เป็นๆ ตัวแรกกันก่อน (เรื่องนี้ถูกเสริมเติมแต่งความไร้สาระเข้าไปเล็กน้อย)
ในวันที่ 23 ธันวาคม ปี ค.ศ. 1937 ที่เมืองอีสต์ลอนดอน บริเวณปากแม่น้ำชาลัมเน ประเทศแอฟริกาใต้ มาจอรี ลาติเมอร์ (Marjorie Courtenay-Latimer) นักชีววิทยาผู้ดูแลพิพิธภัณฑ์ ได้รับข่าวจากชาวประมงว่า พวกเขาจับปลาประหลาดได้ และอยากให้เธอไปตรวจสอบ
มาจอรี ลาติเมอร์ ผู้ค้นพบซีลาแคนท์
แค่ปลาต้องเรียกให้ไปดูด้วยหรือ เป็นดาราก็ว่าไปอย่าง ถ้าไม่ประหลาดนะ ฉันจะวีนให้ดู เธอบ่นแล้วรีบเดินทางไปท่าเรือ
เมื่อไปถึง เธอก็พบชาวประมงกลุ่มหนึ่งกำลังมุงดูซากปลาตัวหนึ่ง มันมีรูปร่างเหมือนสัตว์ดึกดำบรรพ์ มีเกล็ดหนา สีน้ำเงินวาว ตัวใหญ่ ครีบอกและครีบก้นของมันมีเนื้อยื่นออกมาจากโคนครีบ ดูคล้ายขา หน้าตามันประหลาดกว่าปลาทุกชนิดที่เธอเคยเห็นหรือเคยกิน
อุ๊ยตาย นี่มันปลาอะไร หน้าตาประหลาดจัง แต่ก็สวยดีนะ ลาติเมอร์รู้สึกทึ่งและประทับใจ
คุณไม่รู้หรือครับว่ามันคือปลาอะไร ชาวประมงคนหนึ่งถาม ขณะนั่งถูเกล็ดปลา เผื่อจะเจอเลขเด็ดซ่อนอยู่บนนั้น
ถ้ารู้จะตกใจเหรอ ฉันไม่เคยเห็นปลาแบบนี้มาก่อน เธอตอบ
มันคือเจ้าแม่แห่งท้องทะเล ชาวประมงอีกคนพูดเสียงสั่น เราคงต้องหาเครื่องเซ่นไปให้ ก่อนที่พวกเราจะพบกับภัยพิบัติ
อย่าเหลวไหลแบบคนไทยไปหน่อยเลยน่า ฉันจะเอามันกลับไปศึกษาเอง ลาติเมอร์บอกและพาปลาประหลาดตัวนี้กลับไปศึกษา
ลาติเมอร์ศึกษาปลาตัวนั้นจากตำรา แต่ไม่พบปลาลักษณะแบบนี้เลย เธอไม่รู้ว่ามันคือปลาอะไร
เราคงต้องส่งให้ผู้เชี่ยวชาญ ฉันต้องติดต่อศาสตราจารย์สมิท เธอนึกถึงเพื่อนที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านปลา แล้วรีบล้วงกระเป๋าควานหามือถือ แต่นึกขึ้นได้ว่าสมัยนั้นยังไม่มีมือถือใช้ เธอจึงสเก๊ตภาพปลาประหลาดนี้ส่งจดหมายไปให้ศาสตราจารย์แทน
หลังจากกลับจากพักร้อน ศาสตราจารย์เจมส์ สมิธ (James Leonard Brierley Smith) นักมีนวิทยา (หมายถึงผู้ศึกษาเกี่ยวกับปลา) ผู้มีชื่อเสียง ก็ได้รับภาพสเก๊ตของปลาตัวนั้นจากลาติเมอร์
พระเจ้าจอร์จทอดกล้วย! ศาสตราจารย์อุทาน ฉันดูไม่ผิดไปใช่ไหม นี่มันปลาซีลาแคนท์ เขามือสั่นราวกับเป็นสันนิบาตขณะเพ่งมองรูป เป็นไปไม่ได้ มันสูญพันธุ์ไปตั้งแต่ 65 ล้านปีที่แล้วนี่ ลาติเมอร์วาดผิดหรือเปล่า หรือไม่เธอก็โกหกฉัน ผู้หญิงนี่ไว้ใจไม่ได้ ชอบหลอกผู้ชายอยู่เรื่อย เราต้องไปดูให้แน่ใจ
ศาสตราจารย์สมิท รีบเร่งเดินทางไปหานางลาติเมอร์ทันที แล้วเขาก็พบซากปลาตัวนั้น แค่มองแว่บแรก ศาสตราจารย์ก็รู้ว่ามันคือปลาซีลาแคนท์จริงๆ เขาดีใจมากๆ นี่คือการค้นพบครั้งสำคัญ
ศาสตราจารย์สมิทจึงตั้งชื่อปลาตัวนี้ว่า Latimeria chalumnae ตามชื่อของลาติเมอร์ ผู้ค้นพบ และชื่อปากแม่น้ำชาลัมเน แหล่งที่พบ (โชคดีที่มันไม่ได้พบโดยคนชื่อสำรวย ที่แม่น้ำแม่กลอง เพราะมันอาจมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า สำรวย แม่กลองเง)
แต่การค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ที่ยิ่งใหญ่ย่อมมีอุปสรรคเสมอ ซากซีลาแคนท์ตัวนี้ไม่มีกระดูกและเหงือก ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการศึกษาด้านอนุกรมวิธาน (หมายถึงวิชาเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่สิ่งมีชีวิต) ของปลา เพราะลาติเมอร์ ไม่รู้วิธีเก็บรักษาซากปลาที่ถูกต้อง จึงใช้วิธีสตัฟฟ์ ซากซีลาแคนท์ที่พบจึงไม่เหลือกระดูกและเหงือก ศาสตราจารย์สมิทจึงรู้สึกเสียดาย
แหม ก็ฉันไม่รู้นี่ ไม่เอาไปตากแดดทำเป็นปลาเค็มก็บุญแล้ว ลาติเมอร์ประชด
แต่ด้วยสายเลือดนักวิทยาศาสตร์ทำให้ศาสตราจารย์สมิทไม่ย่อท้อ เขาต้องการตัวอย่างปลาเพิ่มเพื่อจะศึกษาให้แน่ชัด เขาตั้งรางวัล 100 ปอนด์ให้แก่ผู้ที่พบซีลาแคนท์ แต่เนื่องจากสมัยนั้นยังไม่มีเว็บไซต์ให้โพสต์ ศาตราจารย์จึงต้องทำโปสเตอร์ติดประกาศแทน ซึ่งก็มีผู้ที่ร่วมกันหาเป็นจำนวนมาก
แต่เวลาผ่านไปเป็นสิบปี ก็ไม่มีข่าวว่าใครพบซีลาแคนท์เลย
หรือเราจะเปลี่ยนไปศึกษาปลาช่อนโบราณแถวประเทศไทยแทน เขารำพึงรำพันกับโชคชะตา
จนกระทั่งผ่านไป 14 ปี ในวันที่ 21 ธันวาคม ค.ศ. 1952 การรอคอยของศาสตราจารย์ก็สิ้นสุด เขาได้ข่าวว่ามีผู้จับซีลาแคนท์ได้ที่หมู่เกาะโคโมรอส ใกล้ๆ กับมาดากัสการ์ ทางตอนเหนือของบริเวณที่จับตัวแรกได้ ศาสตราจารย์จึงรีบขึ้นเฮลิคอปเตอร์ เดินทางไปยืนยันหลักฐานด้วยตัวเอง ก่อนที่มันเน่ากลายปลาซีลาแคนท์ร้าไปซะก่อน
และเมื่อมาถึง ศาสตราจารย์สมิทก็พบว่ามันคือซีลาแคนท์จริงๆ มันนอนตายอ้าปากหวอรอเขาอยู่
พระเจ้าช่วย มันกล้วยมาก! การเฝ้ารอของเราไม่เสียเปล่า ศาสตราจารย์ดีใจเหลือจะกล่าว นี่คือการค้นพบครั้งใหญ่ของวงการวิทยาศาสตร์ ปลาที่ทุกคนคิดว่าสูญพันธุ์ไปเมื่อ 65 ล้านปีก่อนยังมีชีวิตอยู่ และมันมีรูปร่างแทบจะไม่ต่างจากบรรพบุรุษของมันเมื่อ 400 ล้านปีก่อนเลย
มันมีชีวิตอยู่รอดมาได้ยังไง ฉันต้องไขปริศนานี้ให้ได้ ศาสตราจารย์พูดด้วยความมุ่งมั่น
เรื่องราวการค้นพบปลาซีลาแคนท์สร้างความตื่นเต้นไปทั่ววงการวิทยาศาสตร์โลก หลังจากนั้นก็มีการศึกษา ค้นคว้า วิจัยกันมาก จนทำให้เราได้เรียนรู้เรื่องราวที่แสนลี้ลับของมันมากมาย
แต่ขณะที่มนุษย์ได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ สำหรับซีลาแคนท์แล้ว นี่คือการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญของพวกมัน หลังจากดำรงชีวิตมากว่า 400 ล้านปี