เรื่องนี้ เป็นเรื่องขายฝาก
ตามกฎหมายแล้ว การทำสัญญาขายฝาก กรรมสิทธิ์ในที่ดินจะโอนไปยังผู้ซื้อฝาก (เจ้าหนี้) ทันที โดยมีเงื่อนไขเพียงว่า ผู้ขายฝากมีสิทธิ์ไถ่ทรัพย์คืน โดยนำเงินไปชำระให้แก่เจ้าหนี้ภายในกำหนดเวลาตามสัญญาเท่านั้น หากครบกำหนดแล้วผู้ขายไม่ไถ่ กรรมสิทธิ์ในทรัพย์ (ที่ดิน) ก็ตกเป็นของผู้ซื้อฝากโดยสมบูรณ์ ดังนั้น กรณีนี้ผู้ที่จะต้องฟ้องดำเนินคดี (หากตกลงกันไม่ได้) คือ พ่อเพื่อนน้า โดยต้องฟ้องเพิกถอนสัญญาขายฝาก ซึ่งเป็นเรื่องยากตามที่ผมให้ความเห็นมาข้างต้น
การจะเพิกถอนนิติกรรมการขายฝาก ฝ่ายพ่อเพื่อนน้า ต้องนำพยานหลักฐานเข้านำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่าพ่อเพื่อนน้าไม่มีเจตนาทำสัญญาขายฝาก ที่ทำไปเพราะโดนเจ้าหนี้หลอกให้ทำโดยเจ้าหนี้บอกว่าจะทำสัญญาจำนอง นอกจากนี้เจ้าพนักงานที่ดินก็ไม่ได้อธิบายให้พ่อน้าฟังเกี่ยวกับการทำนิติกรรมดังกล่าว พ่อเพื่อนน้าอ่านหนังสือไม่ออกจึงไม่ทราบว่านิติกรรมที่ทำเป็นสัญญาขายฝาก
นอกจากนี้ ในส่วนมูลหนี้ ฝ่ายน้าต้องมีพยานบุคคลหรือพยานเอกสาร รวมทั้งพยานแวดล้อมอื่นๆ มานำสืบให้ศาลเชื่อได้ว่า พ่อเพื่อนน้าเป็นหนี้เจ้าหนี้เพียง 90,000 บาท ไม่ใช่ 400,000 บาท ที่เป็น 400,000 เพราะเจ้าหนี้คิดดอกเบี้ยเกินอัตราเข้าไป มูลหนี้จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ไม่สามารถบังคับได้
ข้อแนะนำเบื้องต้น ผมว่า ฝ่ายเพื่อนน้าควรเจรจาพูดคุยกับเจ้าหนี้ก่อน โดยเอาเรื่องจริงในส่วนหนี้สินมาคุยกับเจ้าหนี้ว่า เป็นหนี้เพียง 90,000 ทำไมถึงเป็น 400,000 ให้เขาอธิบายให้ฟัง ในการไปคุยควรอัดเสียงการเจรจาไว้ด้วย เผื่อใช้เป็นหลักฐานได้ หากเขารับว่าเป็นหนี้จริง 90,000 แต่เขาคิดดอกเบี้ยเพิ่มเนื่องจากไม่ได้จ่ายมานานดอกทบต้นต้นทบดอกจึงเป็น 400,000 บาท หรือมิเช่นนั้น ก็ลองคุยต่อลองยอดหนี้กันดู เพราะเรากู้เขาจริง 90,000 บาท และไม่ได้จ่ายมานาน ใจเขาใจเรา การให้กู้เขาก็ต้องคิดดอกเบี้ยเป็นธรรมดา คงต้องให้เขาบ้าง แต่หากเขาคิดเกินไปก็ต่อลองและขอผ่อนดู หากตกลงกันได้ก็ให้ทนายทำสัญญาประนีประนอมยอมความกันให้เรียบร้อย
แต่หากตกลงกันไม่ได้ และประสงค์จะเอาที่ดินไว้ ฝ่ายเพื่อนน้าต้องไปฟ้องเจ้าหนี้ต่อศาล และวัดดวงเอา แต่อย่างไรก็ดีแม้จะมีการฟ้องศาลแล้ว พ่อเพื่อนน้าและเจ้าหนี้ ก็สามารถเจรจาไกล่เกลี่ยกันที่ศาลได้อีก โดยศาลจะมีคนกลางเข้ามาไกล่เกลี่ยเพื่อให้ทั้งสองฝ่ายพูดคุยตกลงกัน โดยผู้ไกล่เกลี่ยของศาลจะช่อยหาทางออกให้ทั้งสองฝ่ายเพื่อให้ตกลงกันได้ โดยต่างฝ่ายต่างพอใจ หากตกลงกันไม่ได้อีก ก็ต้องดำเนินคดีกันต่อไป
ที่ให้คำแนะนำมานี้ คงเป็นแนวทางให้น้าได้เห็นและคงเป็นประโยชน์แก่น้าไม่มากก็น้อย อย่างน้อยก็มีแนวทางให้น้าในการตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร
แต่อย่างไรผมก็เอาใจช่วย ขอให้จบกันได้ หากมีการฟ้องร้องกันก็ขอให้พ่อเพื่อนน้าชนะคดีนะครับ