สู่เส้นทางการใช้เหยื่อปลอม
กาลเวลาผ่านไป กิจกรรมตกปลาก็พัฒนาขึ้นในรูปแบบใหม่ ๆ ด้วยการติดต่อสื่อสารที่ฉับไวผ่านโลกไซเบอร์ ทำให้นักตกปลาไทยได้เปิดหูเปิดตา เปิดใจรับเอารูปแบบและวิธีการที่หลากหลาย วัฒนธรรม "Game Fishing" ด้วย "สายเบ็ดเล็ก พิชิตปลาใหญ่" ซึ่งนักตกปลารุ่นผมถูกปลูกฝังมา เริ่มค่อย ๆ จางหายไป อุปกรณ์ที่เคยคิดว่าถูกพัฒนาเกือบถึงขีดสุดแล้ว กลับมีการพัฒนาแบบ "ก้าวกระโดด" ด้วยแนวคิดและเทคโนโลยีที่น่าทึ่งจากทางประเทศญีุ่ปุ่น คันเบ็ดเรียวเล็ก รอกตัวเล็ก สายเบ็ดเส้นเล็ก ๆ แต่ทรงประสิทธิภาพเหลือเชื่อ จนอาจไม่มีปลาชนิดใดต้านทานได้ ก้าวเข้าครองใจนักตกปลาไทย ควบคู่ไปกับแนวทางที่เริ่มเปลี่ยนไป จาก "Game Fish" สู่ "Big Fish" และ "More Fish"
การตกปลา และธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการตกปลา ย่อมต้องผูกพันกันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ "น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า" คิดมากเกินไป มันก็ตกปลาไม่สนุก แต่จะไม่คิดเลยก็คงไม่ได้
ด้วยก้าวกระโดดของการพัฒนาอุปกรณ์ ทำให้การตกปลาและตกปลาได้ "ง่ายขึ้น" ในขณะที่ปลาหา "ยากขึ้น"
ในยุคที่ปลาทะเลอ่าวไทย เริ่มฝืดเคือง เรือบริการตกปลาหลายลำต้องเลิก บางลำควบรวมกิจการ จำหน่ายจ่ายโอน บางลำถูกเทคโอเวอร์ (ว่าเข้าไปนั่น) นักตกปลาที่มีกำลังทรัพย์เอื้ออำนวย เริ่มมองหาที่ตกปลาไกลออกไป รูปแบบการลงเรือออกทะเลที่เป็นสูตรสำเร็จ คือ "ลงเรือ หาเหยื่อ หาปลา อำลาไต๋" สู่รูปแบบการตกปลาแบบพักผ่อนจริง ๆ "เรือสบาย หมายดี มีปลา ราคาไม่เกี่ยง" พวกเราซึ่งแต่ละคนเป็นมนุษย์เงินเดือน เริ่มมองหน้ากันตาปริบ ๆ ด้วยการงานที่บีดรัด เศรษฐกิจที่ตกต่ำ และภาระความรับผิดชอบต่อครอบครัว ทำให้การลงเรือออกทะเลแต่ละครั้งที่ต้องการความพร้อมและทุนทรัพย์จากทุกคน เริ่มซาลง ประกอบกับกระแสการตกปลาโดยใช้เหยื่อปลอมเริ่มทวีความนิยมมากขึ้น พวกเราเริ่มให้ความสนใจอย่างจริงจัง
เมื่อโลกแคบลงด้วย Internet นิตยสารในวงการตกปลาหลายฉบับต้องขยับปรับปรุงตนเองเพื่อให้ทานกระแสได้ ที่อยู่ยั้งยืนยงก็มีมาก แต่ที่กำลังน้อยก็มีอันต้องปิดตัวเองลง Fish & Games ก็เป็นหนึ่งในนั้น ซึ่งก็เหมือนการยุติบทความข้อเขียนจาก Mr.SHARK Fishing Gang ไปโดยปริยาย