การสร้างลักษณะเด่นในงานศิลปะ คือการทำให้บริเวณใดบริเวณหนึ่งมีความน่าสนใจ บังคับให้มองเห็น (Forcing Attention) เป็นวิธีการที่ศิลปินใช้บังคับสายตาของผู้ชมให้ติดตามไปสู่จุดที่ต้องการให้เห็น เราเรียกบริเวณที่โดดเด่นว่า จุดเด่น (Dominance) หรือ จุดสนใจ หรือจุดรวมสายตา (Point of Interest)
สิ่งเร้าที่มีคุณภาพด้อยอาจไม่ได้รับการรับรู้ สิ่งเร้าที่มีคุณภาพสูงจะได้รับการรับรู้ดีกว่า มีกฎบางประการที่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพของสิ่งเร้าได้ หรือทำให้เป็นจุดเด่นได้
หนึ่งในวิธีการที่จะการย้ำให้เกิดจุดเด่น (Emphasis) ก็คือการวางตำแหน่งสิ่งที่เราต้องการให้ผู้ดูภาพสนใจเป็นพิเศษไว้ที่จุดตัดเก้าช่อง
ภายในกรอบสี่เหลี่ยมของงานจิตรกรรม เราไม่สามารถวางจุดสนใจได้ทุกตำแหน่ง ทั้งนี้เพราะในบางตำแหน่งจะทำให้ภาพสูญเสียความสมดุลได้ง่าย หรือดูขัดตา ศิลปินยุคเรเนซอง (Renaissance) ได้พัฒนาวิธีการกำหนดตำแหน่งจุดสนใจในภาพ ที่เรียกว่า กฎสามส่วน (Rule of Thirds) โดยมีรากฐานมาจากความคิดที่ว่า การจัดองค์ประกอบภาพแบบนี้ทำให้มีพื้นหลังเล่าเรื่องประกอบ และการค้นพบว่ามนุษย์เราไม่ได้พักสายตาที่กลางภาพ โดยมีข้อกำหนดดังนี้ว่า ให้ลากเส้นตรงแบ่งพื้นที่ภาพออกเป็น 3 ส่วน ทั้งแนวตั้งและแนวนอน บริเวณที่ตัดกันของเส้นตรง คือบริเวณที่ควรวางจุดสนใจของภาพ หรือที่คนไทยนิยมเรียกกันว่าจุดตัดเก้าช่องนั่นเอง
สมาชิกท่านได้มีภาพที่ใช้หลักการจัดองค์ประกอบนี้ ส่งมาร่วมแจมกันได้นะครับ