ภาพที่ 1
แกรี่ ลูมิส ตำนานที่ยังมีลมหายใจ
แกรี่ ลูมิสเริ่มตกปลาตั้งแต่ปี 1964(พ.ศ. 2507) เวลานั้นในลำธารมีปลาอยู่มากมาย แต่ปลาไม่ค่อยกินเบ็ด แกรี่จึงลองลดขนาดสายลงเหลือ 6 ปอนด์ ปลาเริ่มกัดดีขึ้น ปัญหาคือพอใช้สายเล็ก ปลาก็ดึงขาดอีก แกรี่จึงตัดสินใจ ทำคันเบ็ดขึ้นใช้เองโดยซื้อคันฟลายมาเรียงไกด์ใหม่ วางรีลซีทใหม่สำหรับรอกสปินนิ่ง ได้คันสปินยาวๆสำหรับสาย 6 ปอนด์ เพราะคิดว่าคันอ่อนและยาวจะช่วยผ่อนแรงจากปลา ช่วยให้สายขาดได้ยากขึ้น แกรี่รีบไปลองใช้ด้วยความมั่นใจ
ผลที่ได้คือ...คันยังหนักไปและสายก็ยังใหญ่เกินไป แกรี่จึงกลับไปซื้อคันฟลายที่เล็กลงกว่าเดิมมาบิ้วใส่ไกด์ใหม่ วางตำแหน่งใหม่เพื่อใส่รอกสปินนิ่งกับสาย 4 ปอนด์ และนำคันเบ็ดนี้เล็กลงกว่าเดิมไปลองอีกครั้ง ซึ่งได้ผลดีเกินคาด ปีนั้นแกรี่เป็นนักตกปลาเพียงคนเดียวในลำธารที่ได้ปลา และไม่ใช่แค่ปลาตัวสองตัว แกรี่ได้ปลาวันละ 4-6 ตัว เหตุการณ์นี้ทำให้แกรี่เริ่มเป็นที่สนใจของนักตกปลาคนอื่นๆ
เย็นวันหนึ่งมีนักตกปลาท้องถิ่นเข้ามาสอบถามว่าแกรี่ทำอย่างไรถึงได้ปลา ทั้งที่คนอื่นไม่ได้ปลาเลย แกรี่ยกคันเบ็ดขึ้นมาแล้วตอบว่า เพราะใช้อุปกรณ์และสายขนาดเล็กที่ออกแบบมาเอง ซึ่งนักตกปลาคนนั้นก็เหมือนจะไม่เชื่อ แต่หลังจากคุยกันซักพัก นักตกปลาคนนี้ก็อยากได้คันเบ็ดคันดังกล่าวมาลองใช้ดู จึงถามแกรี่ว่าซื้อคันแบบนี้มาจากที่ไหน แกรี่บอกว่าคันแบบนี้ไม่มีขายหรอกต้องทำเอง นักตกปลาหน้ามืดจึงเสนอขอซื้อที่ 100$ (ในตอนนั้นรายได้ของแกรี่ประมาณสัปดาห์ละ 100$) แต่แกรี่ก็ยังไม่ขาย เพราะตั้งใจทำมาใช้เองจริงๆ จนกระทั่งข้อเสนอมาที่คันละ 200$ คันเบ็ดคันนี้ก็ตกเป็นของนักตกปลาคนนั้นไป
เมื่อได้เงินก้อนนี้มา แกรี่ก็รีบไปซื้ออุปกรณ์มาทำคันใหม่ทันทีในคืนนั้นเลย และเริ่มทำคันเบ็ดตกปลามาอย่างต่อเนื่อง นี่คือจุดเริ่มต้นของชายที่ชื่อ “แกรี่ ลูมิส” จนกระทั่งได้เข้าทำงานกับบริษัทอุปกรณ์ตกปลาที่ชื่อ “Lamiglas”
ในปี 1973 (2516) คันเบ็ดยี่ห้อ Fenwick ได้โชว์คันเบ็ดกราไฟท์ออกมาเป็นครั้งแรกของโลกที่เมืองชิคาโก้ในงาน AFTMA และเมื่อแกรี่ได้ลองจับคันเบ็ดกราไฟท์ก็ชื่นชอบวัสดุนี้มาก จึงได้เสนอกับทางบริษัท Lamiglas ให้พัฒนากราไฟท์ขึ้นเองบ้าง ซึ่งคำตอบแรกจากบริษัทก็คือ “ไม่”
ด้วยความสนใจอย่างจริงจัง แกรี่จำเป็นต้องศึกษามันด้วยตัวเอง เพราะได้งบสนับสนุนจากบริษัทเพียงเล็กน้อย ในปีนั้นแกรี่ได้ผลิตคันเบ็ดกราไฟท์ออกมา 6 คัน เพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับโชว์ในงานแสดงสินค้าครั้งต่อไป แต่มันยังไม่ดีพอ
กราไฟท์ในสมัยนั้นเป็นเรื่องที่ใหม่มาก มีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่ๆเท่านั้นที่สามารถผลิตให้กราไฟท์มีคุณภาพที่ดี เช่น โบอิ้งที่ใช้กราไฟท์ทำปีกเครื่องบิน
แกรี่ ลูมิส จึงพยายามติดต่อกับวิศกรของบริษัทโบอิ้งที่ผลิตเครื่องบินและมีเทคโนโลยีเรื่องกราไฟท์อยู่ในมือ ซึ่งเป็นเรื่องที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยจริงๆ แต่ในที่สุดแกรี่ก็สามารถหาทางติดต่อกับ Harry Mathison หนึ่งในสี่วิศกรของโบอิ้งที่สามารถรับฟังปัญหาเรื่องคันกราไฟท์ของแกรี่ได้
หลังจากได้ความรู้ใหม่ๆ คันเบ็ดกราไฟท์ของแกรี่รุ่นนี้ มีน้ำหนักแค่ 1 ใน 3 ของคันเบ็ดในสมัยนั้นถือว่าเบาแล้ว แต่คันกราไฟท์ของ Fenwick ยังเบากว่าเพราะมีน้ำหนักเพียง 1 ใน 6 ของคันปกติ จุดเด่นในคันเบ็ดกราไฟท์ของแกรี่ที่เหนือกว่า Fenwick คือคันของแกรี่เหนียวกว่ามาก ในงานโชว์ คันชุดนี้เมื่อประกอบรอกและสายเรียบร้อยแล้วสามารถยกของหนักถึง 8 lb (3.6kg) ให้ลอยได้โดยไม่หัก ซึ่งแกรี่กล้าพูดว่า “Lamiglas คือบริษัทที่ผลิตคันเบ็ดการไฟท์ที่ใช้ได้จริงเป็นเจ้าแรก”
ในปี 1978 แกรี่ออกจากลามิกลาส เพื่อตามความฝันเพื่อทำกิจการของตัวเอง แต่ก็ไม่คิดทำธุรกิจคันเบ็ดในทันทีเพราะไม่อยากกลายเป็นคู่แข่งกับ Lamiglas ที่เขาเคยทำงานมาก่อน เขาออกมาทำบริษัทผลิตลูกธนู แต่ไม่ประสบความสำเร็จ
ในปี 1981 แกรี่จำเป็นต้องไปช่วยถ่ายทอดประสบการณ์ทำงานกับบริษัทต่างชาติ แกรี่ได้ทำงานที่ไต้หวันเป็นเวลาสั้นๆ ซึ่งร่วมออกแบบคันเบ็ดที่ขายดีในบ้านเราที่ชื่อ Loomis Franklin นั่นเอง
แกรี่ ลูมิส กลับมาทำงานประจำอีกครั้ง ซึ่งเป็นงานที่ไม่เกี่ยวกับอุปกรณ์ตกปลา เขาทำมันเพื่อเงิน และเก็บเงินเป็นทุนสร้างแบรนด์ G.Loomis เพื่อผลิตคันเบ็ดตามความถนัดของเขาอีกครั้ง เป็นจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ยิ่งใหญ่สำหรับวงการตกปลาเลยทีเดียว
แกรี่ทำงานเก็บเงินได้ปีกว่า และขายของหลายอย่างในบ้านออกไปเพื่อเก็บเงินตั้งโรงงาน เริ่มมีอุปกรณ์สำหรับผลิตคันเบ็ดแล้ว แต่ยังขาดเงินทุนอีกราว 50,000$ ก็ถือว่ามากในยุคนั้น(ประมาณล้านกว่าบาท) วันหนึ่งมีโทรศัทพ์จาก Dennis Shiebe โทรมาติดต่อแกรี่เพื่อจ้างผลิตแบลงค์ให้ Cabela’s ที่เป็นบริษัทผลิตคันเบ็ดตกปลา แกรี่บอกว่าตอนนี้ยังผลิตไม่ได้ เพราะเงินทุนไม่พอ ขาดอยู่ประมาณ 50,000$ เมื่อ Dennis ได้ยินจึงถามกลับไปว่าถ้ามีทุนแล้วจะผลิตได้เลยใช่มั้ย แกรี่ตอบว่าได้ เดนนิสจึงขอเลขบัญชีของแกรี่ และสามวันต่อมา เงินก้อนใหญ่ก้อนนี้ก็เข้าบัญชีแกรี่โดยไม่มีการเซนสัญญาอะไรกันก่อนเลย
เมื่อผลิตแบลงค์คันเบ็ดได้สำเร็จ แกรี่ปลดหนี้หมดภายในเวลาสองปี และสร้างชื่อกับคัน G.Loomis เรื่อยมาอย่างที่เรารู้กันดี แต่แล้วในปี 1995 วิกฤตในชีวิตก็มาอีกครั้ง แกรี่รู้ว่าตัวเองเป็นมะเร็ง พอถึงปี 1997(พ.ศ. 2540) จึงขาย G.Loomis ให้ Shimano American Corp ที่ต้องขายบริษัทเนื่องจากหมอบอกกับแกรี่ว่าเขาจะมีชีวิตอยู่ได้อีกไม่นาน
เหตุผลที่แกรี่ขายกิจการให้ชิมาโน ทั้งๆที่มีบริษัทอื่นยื่นข้อเสนอที่สูงกว่า เพราะแกรี่ไว้ใจชิมาโน ด้วยสัญญาที่จะไม่เปลี่ยนแปลงรูปแบบของบริษัทเป็นเวลา 5 ปี เพื่อช่วยยืนยันว่าลูกน้องของเขาทุกคนจะยังมีงานทำแน่นอนในช่วงเปลี่ยนผ่าน
ในช่วงแรกที่ขายหุ้นบริษัทให้ชิมาโน ก็มีปัญหาเล็กน้อยเรื่องพนักงาน เพราะมีการแบ่งพรรคแบ่งพวกเป็นฝั่งแกรี่ และฝั่งชิมาโน่ แกรี่จึงพยายามลดบทบาทตัวเองใน G.Loomis ให้มากที่สุด ทั้งๆที่ผู้บริหารระดับสูงอยากให้อยู่ช่วยกันต่อไป แต่แกรี่ต้องการแก้ปัญหานี้จึงจัดสินใจออก เพื่อไม่ให้เกิดความแตกแยกทางความคิดในบริษัท
เวลาผ่านมาสิบกว่าปี มะเร็งไม่ได้เอาชีวิตแกรี่ไป แกรี่ยังมีชีวิตอยู่ และได้ออกแบบเหยื่อปลอมออกขายโดยมีชื่อแกรี่ ลูมิส ลงในสินค้าด้วย ทำให้ Shimano American Corp ไม่พอใจถึงขั้นฟ้องศาล เนื่องจากซื้อชื่อของแกรี่มาแล้ว แกรี่ไม่ควรใช้ชื่อตัวเองในการค้าเกี่ยวกับอุปกรณ์ตกปลาอีก แต่ผลคือแกรี่ชนะคดี
เมื่อมิตรกลายมาเป็นศัตรู แกรี่และลูกชาย รวมทั้งทีมงานเดินหน้าสร้างคันเบ็ดอีกครั้ง โดยเน้นสร้างคันที่มีความเฉพาะเจาะจงกับงานตกปลาอย่างสูงสุด North Fork Composites จึงกำเนิดขึ้นเพื่อผลิตแบลงค์และคันเบ็ดที่ใช้ตกปลาอย่างแท้จริง
แกรี่คิดว่าสมัยนี้หลายบริษัทผลิตคันเบ็ดออกมาเพื่อดึงดูดนักตกปลาและเน้นยอดขาย แต่ที่แกรี่กำลังทำอยู่มันไม่ใช่แบบนั้น เขาทำคันเบ็ดเพื่อใช้ตกปลาด้วยประสิทธิภาพสูงสุด
North Fork Composites ยังผลิตแบลงค์ให้กับแบรนด์ต่างๆ อีกด้วย โดยให้คำแนะนำถึงคุณสมบัติต่างๆ ที่เหมาะกับความต้องการของแต่ละประเภท ซึ่งไม่ทำให้ใครผิดหวัง
ประมาณปี 2000 คันเบ็ดจากต่างประเทศจำนวนมากเริ่มเข้ามาในตลาด USA ซึ่งมีทั้งราคาถูกและแพง แต่แกรี่ไม่ได้ต่อต้านคันเบ็ดจากโรงงานต่างประเทศเลย เพราะมันทำให้นักตกปลามีทางเลือกมากขึ้น และแกรี่ก็ร่วมออกแบบคันเบ็ดให้กับ Temple Fork Outfitters(TFO) คันเบ็ดที่ผลิตในเกาหลีอีกหลายรุ่น เพราะอยากให้มีคันเบ็ดคุณภาพดีในราคาที่ไม่สูงนักในตลาดของ USA
ปัจจุบัน North Fork Composites ยังก้าวต่อไป และไม่เคยหยุดพัฒนาคันเบ็ด เพื่อรอยยิ้ม และความสุขของนักตกปลาทั่วโลก