สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 20 เม.ย. 67
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1) : Fishing Reel Inside
 ห้องผ่ารอก > วิธีผ่า/ล้าง/ซ่อม
ความเห็น: 1 - [15 ก.พ. 51, 19:54] ดู: 16,907 - [20 เม.ย. 67, 07:32]
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
เสือนอนกิน offline
15 ก.พ. 51, 17:58
1
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 1
รอกสปินนิ่งอีกรุ่นของ  Daiwa ที่เสือนอนกินคิดว่าเป็นรอกที่มีความแข็งแรงทนทาน มีประสิทธิภาพในการใช้งานดีมากตัวหนึ่ง รอกตัวนี้เอาไว้ใช้สำหรับตกปลาบ่อ พวกสวาย หรือตีเหยื่อปลอมก็ได้ค่ะ หรือจะเอาไปตกปลาทะเลแบบตัวไม่ใหญ่เกินไปก็พอไหว สำหรับการตีเหยื่อปลอม เคยเห็นพี่คนหนึ่งใช้รุ่น 2000  ขนาดเล็ก น้ำหนักเบาดี

ที่แสดงภาพวันนี้เป็น Freams 2500  เคยลองถอดมาล้าง 2-3  รอบ วันนี้ก็เป็นอีกรอบหนึ่งที่ถอดออกมาบำรุงรักษา ก็เลยเก็บภาพมาฝากค่ะ เผื่อใครที่ต้องการศึกษาว่าข้างในมีอะไรบ้าง

ปัจจุบัน น่าจะหาซื้อรอก Freams ไม่ได้แล้ว เพราะ Daiwa ทดแทนด้วย Freams Kik ไปจนกระทั่งรุ่นใหม่กว่าคือ TeamDaiwa Sol  ซึ่งดูรูปทรงภายนอก กลไกภายใน และราคาก็แตกต่างกันออกไป

รุ่น Freams น่าจะเป็นรอกที่มาก่อนเทคโนโลยีใหม่ของ Daiwa สำหรับรอกสปินนิ่ง คือ Real Four Reel คือ รอก 4 คอนเซ็ปต์  พูดง่ายๆ น่าจะเป็นต้นแบบก็ได้  สนใจเกี่ยวกับ Real Four Reel อ่านได้ที่ http://www.daiwafishing.com.au/index.cfm?section=OurProducts&sub=Real4&Product=listing

ตัว Freams นี้ Made In Thailand  ขอพูดถึงคุณสมบัติของรอก สลับไปกับการผ่ารอกก็แล้วกันคือ ถือว่า เรียนรู้ไปด้วยกัน

รอกสปินนิ่งของ Daiwa แบ่งออกเป็นหลายระดับ  (ไม่พูดถึง BG นะคะ) ระดับราคาประหยัดจะเป็นพวก ABS คือ  Anti Backlash system  ที่สปูลจะเขียนว่า ABS คือ ระบบสปูลป้องกันสายซ้อนกันออกไป  แต่ระดับสูงขึ้นมา จะเริ่มเป็น Hardbodyz คือ โครงสร้างโลหะเบา และระดับสูงขึ้นมาคือ Digigear คือ เฟืองที่ออกแบบโดยระบบดิจิตอล จริงๆแล้วเป็นเครื่องหมายการค้าของเขามากกว่า เชิงโฆษณาน่ะ ว่าถ้าเป็น Digigear หมายถึง ความแข็งแรง นุ่มนวล ออกแบบประณีต และระดับราคาแพงจะเป็นพวกที่ใช้ลูกปืน CRBB และระบบเบรกแบบ washableคือ ทั้งซีลกันน้ำเข้า (water proof) และสามารถถอดล้างได้ แต่ราคาก็เกิน ห้าพันบาท ขึ้นไป 
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 2
Daiwa Freams 2500 ขนาดเท่ากับ BG13 สายเอ็นขนาด 10 ปอนด์ กรอใส่แทนกันในสปูลได้ เต็มสปูลพอดี ตัวเรือนอลูมิเนียม น้ำหนักเบา  สปูลอลูมิเนียม โดยรวมแล้วน้ำหนักเบากว่า BG13 พอสมควร แต่ขนาดตัวรอก มองผิวเผิน ดูเหมือนจะเท่ากันพอดี

สเปกรอก อัตราทด 4.7:1 /ลูกปืน 3 ตลับ – / 1 ลูกปืน กันตีกลับ /และ 2 ตลับเล็กๆ ใน knob

ดูภาพจะเห็นว่า ออกแบบมาได้สวยกำลังดี คือ มีสีทองแทรกตรงบอดี้และสปูลพอเหมาะสม  รูปทรงแบบนี้เรียกว่า ทรงสั้น คือ สังเกตว่าบอดี้จะสั้นกว่ารอกสปินรุ่นก่อนๆ เดี๋ยวเรา

คราวนี้ลองมาดูภายในรอก Freams 2500 กันค่ะ
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 3
การถอดรอกตัวนี้ จะเริ่มถอดจากฝาปิดเบรคกันก่อน  ฝาปิดเบรคออกมาได้เหมาะสม มีคลิกเสียงเตือนเวลาหมุนปรับ พอเสร็จแล้วก็ถอดสปูลออก หลังจากนั้นก็ถอดเฟืองกรีดเสียง ซึ่งจะมีแหวนพลาสติกรองสปูล 1 อัน 

วันนี้ไม่ได้ถอดทำความสะอาดแผ่นเบรคค่ะ เพราะเคยทำความสะอาดไปรอบก่อนแล้ว  ส่วนของชุดเบรกจะมีชุดแผ่นปิดอย่างแข็งแรง ก่อนจะเข้าถึงชุดเบรคจริงๆ ซึ่งก็มีแผ่นโลหะ 3 แผ่น แผ่นใยสังเคราะห์ 3 แผ่น และอยู่ในหลุมเบรกที่แข็งแรง

ชุดเบรค นานๆ จะทำความสะอาดกันทีค่ะ ถ้าน้ำไม่เข้า หรือไม่มีอาการเบรกไม่อยู่ ลื่นล่ะก็ จะไม่ต้องเอามาทำอะไรกัน
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 4
ที่น่าสังเกตมี 2 อย่าง คือ ระบบคลิ๊กเสียงเหมือนกับระบบที่ใช้ในรอก BG13 ทุกประการ และรอกตัวนี้ไม่ต้องสร้างสมดุลโดยการถ่วงโรเตอร์แต่อย่างใด  รอกราคาแพงไม่ควรถ่วงโรเตอร์ค่ะ จริงมั้ยคะ ถ้าถ่วงเมื่อไร แสดงว่ายังออกแบบไม่ดี

ถ้าจะสังเกตเพิ่มขึ้นอีกนิด ก็จะเห็นว่า ตัวแกนสปูล (main shaft) แกนสปูลนั้นขนาดเล็กกว่าของรอกตระกูล BG อย่างเห็นได้ชัด แต่ความแข็งแรง น่าจะเชื่อได้ว่าไม่เป็นรองกัน
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 5
หลังจากนั้นต้องถอดโรเตอร์ออก โดยอาศัยประแจเบอร์ 12 คลายน็อตทองเหลืองออก พอเสร็จแล้วก็ดึงโรเตอร์ออกได้เลย
ภาพนี้ให้ดูตัวด้านหน้าโรเตอร์และตัวสปูลของ Freams กันใกล้ๆ ค่ะ  ถ้าหากเทียบกับ Theory , CY , Revros แล้ว เสือนอนกินชอบสไตล์ของ Freams มากกว่าในเรื่องการออกแบบ และหน้าตาค่ะ
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 6
ถ่ายภาพไม่ชัดซะงั้น :-)  ตัวโรเตอร์  ถ่ายให้เห็นการออกแบบฝาปิดฝั่งตัวโช้คของโรเตอร์  หรือเรียกว่าระบบเปิดหน้ารอก (ล็อคแขนกว้าน)

ลองคิดเล่นๆนะ  ถึงตอนนี้  เราได้ชิ้นส่วนที่ต้องทำการบำรุงรักษาทั้งหมด 3 ชิ้นส่วนใหญ่ๆ คือ สปูล1 ลูก  (ถอดวางแยกไว้เลย) , โรเตอร์ 1 ชุด  (วางแยกไว้อีก)  และ ห้องเครื่อง 1 ชุด

ในส่วนของห้องเครื่องจะแบ่งออกเป็น ชุดแขนหมุนแยกออกไปอีกต่างหาก ในขณะที่ส่วนของโรเตอร์เอง ก็มี 2 ส่วน คือ ส่วนของแขนกว้าน กับส่วนของกันตีกลับ

ไม่ได้ถ่ายภาพมา แต่ขอพูดถึง ส่วนของแขนกว้าน (air bail) น่าจะเป็นแขนกว้านรุ่นที่พัฒนาขึ้นของ Daiwa และน่าจะเป็นเครื่องหมายการค้าไปแล้ว คือ เป็นแขนหมุนกลวง (Tubular air bail – สแตนเลส) ซึ่งขนาดใหญ่กว่า เมื่อเทียบกับ Daiwa BG
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 7
ชุดกันตีกลับแขนหมุน เป็นการล็อคด้วยแผ่นโลหะและสปริง จะเห็นโช้คอัพค่ะ ซึ่งเป็นระบบที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน รอกสปินนิ่งหลายยี่ห้อพัฒนาระบบโช้คขึ้นมาใช้งาน  แทนระบบสปริงธรรมดาสมัยก่อน

ส่วนนี้ปกติแล้ว ไม่จำเป็น ไม่ได้ถอดมาล้างค่ะ เอาน้ำยาทำความสะอาดฉีด แล้วใช้น้ำมันจักรหยอด เพื่อป้องกันพวกสนิม หรือน้ำ
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 8
ให้ดูชุดโช้ค เปิดหน้ารอกกันชัดๆค่ะ  นี่ไม่ได้ทำความสะอาดมานาน จะเห็นว่าเริ่มสกปรก เพราะเป็นส่วนที่มีการเสียดสีของชุดโช้คตลอด ต้องหล่อลื่นด้วยจารบีค่ะ จะช่วยยืดอายุอุปกรณ์ได้


การทำความสะอาดรอกนี่คิดๆแล้วก็สนุกนะคะ คือ ถ้าการล้างใหญ่ ก็หมายถึงเราต้องล้างทั้งหมด เรียกว่า  ล้างใหญ่ แต่ถ้าหากมีเวลาจำกัดจริงๆ ก็จะทำความสะอาดเฉพาะส่วน  พอแยกออกมาเฉพาะส่วน เราก็จะเห็นรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 9
ก่อนจะไปที่ส่วนอื่นๆ ลองมาดูที่แขนหมุนกันก่อนค่ะ แขนหมุนทรงแบบนี้  จะพบในรอกระดับราคากลางของ Daiwa แทบทั้งหมด (ราคากลางๆคือ 2000 – 5000 บาท)  ลักษณะเด่นๆ น่าจะเป็นการพับแบบแขนหุ่นยนต์ ตรง knob ที่หมุนใช้ยางคุณภาพสูง และมีลูกปืนในตัว knob เพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งาน  แขนนี้ไม่ต้องแต่ง ไม่ต้องหาเพิ่มเติมค่ะ ของเดิมดีอยู่แล้ว แต่ถ้าจะแต่งก็คงเป็นพวก knob เพราะเอา knob ก๊อกของ Daiwa มาใช้ก็ได้ สวยงามดี
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 10
การถอด knob ของแขนหมุน ใช้วิธีการเดียวกับรอกเบทของ Daiwa คือ  ดึงจุกปิดออกก่อน จุกนี้ มีรูเล็กๆ ไว้หยอดน้ำมัน และก็ไว้สำหรับสอดเหล็กดึงออกมาด้วย ไขน๊อตล๊อค knob จะมีลูกปืน หนึ่งตลับ เล็กมากๆ และที่ฐานของแกน  knob ก็มีอีกหนึ่งตลับขนาดเดียวกัน

จากประสบการณ์ในการใช้งาน ลูกปืนพวกนี้ไม่ค่อยเสียค่ะ ยกเว้นแต่รอกตกน้ำ หรือน้ำเข้าไปใน knob โดยเจตนา ต้องทำความสะอาดทันที ถ้าหากในสภาวะการใช้งานปกติ แทบจะไม่ต้องถอดออกมาเลย นานๆทำความสะอาดที โดยการถอดจุกปิดออก แล้วเอารอนสันล้าง ปล่อยทิ้งไว้กะว่าแห้ง ค่อยหยอดน้ำมันตามไปเล็กน้อย
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 11
ค่ะ ต่อไปก็มาถึงตัวเรือนรอกกันค่ะ หลังจากถอดโรเตอร์ออกไปแล้ว ก็มีลักษณะเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าตัวเรือนรอก มีความยาวน้อยกว่ารอกสปินนิ่งอื่นๆ และบางกว่า พอควร ทำให้โดยรวมแล้วรอก Freams มีรูปร่างสวยงาม เดี๋ยวจะดูกันค่ะ ว่า มีอะไรแปลกออกไป  ก่อนอื่น บั้นท้ายแนบไว้ด้วยแผ่นปะสีเหลืองทอง เพื่อความสวยงาม ไขน๊อตออกเลยค่ะ 
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 12
ถอดน๊อต 3 ตัวที่ล็อคฝาข้างออกค่ะ ก็จะเอาฝาข้างออกได้
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 13
จะเห็นในห้องเครื่องที่แสนจะเรียบง่ายค่ะ  เรียบง่ายจริงๆ จะเห็นลูกปืน เฟืองขับ และเฟืองเกลี่ยสายเท่านั้นเอง  แต่ยังถอดเฟืองขับไม่ได้ค่ะ จะต้องไขน๊อตตัวที่เห็นล็อคแกนสปูลนั่นค่ะ ออกก่อน แล้วถอดแกนสปูลออก จึงค่อยถอดเอาเฟืองขับออกมาได้
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 14
อย่าจับผิดกันนะคะ คือว่า ประกอบผิดค่ะ --  ไปใส่แกนเข้าไปก่อนแล้วก็ค่อยถ่ายรูป พอทำแล้วนึกได้ว่าผิด ภาพนี้ ต้องไม่มีแกนสปูลค่ะ เรากำลังจะถอดชุดเฟืองพินเนียน ลูกปืนเฟืองพินเนียน และลูกปืนกันตีกลับกันค่ะ  ต้องถอดน๊อต 3 ตัวก่อนค่ะ หลังจากนั้นจะสามารถดึงชุดเฟืองขับตัวนอน (พินเนียนเกียร์) ออกมาได้ทั้งกระบิเลยทีเดียว  ดึงออกมาได้เลยค่ะ ไม่ต้องกลัวใส่ผิด เพราะแต่ละตัวมันแตกต่างกัน และถ้าประกอบผิดจะรู้เลยว่าผิด
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 15
นี่ค่ะ เรียงลำดับอุปกรณ์ให้ดูกันเลยว่า ชุดในส่วนของเฟืองพินเนียนมีอะไรบ้าง ถ้าหากกลัวใส่ผิดก็วางเรียงไว้แบบนี้ค่ะ  เฟืองพินเนียนเกียร์ /ลูกปืนตัวเล็กสำหรับพินเนียนเกียร์ / แหวนทองแดงเล็กๆ /ปลอก / ลูกปืนกันตีกลับ / ตัวแหวนสวิทช์กันตีกลับ / ตัวแหวนล็อค 2 ขา / แหวนรอง / ลูกปืนตลับใหญ่

ปกติแล้วรอกสปินนิ่งอื่นๆก็แบบนี้เหมือนกัน คือ เมื่อไขน๊อตคุมลูกปืนเฟืองตัวนอนออกแล้ว จะดึงออกได้ทั้งชุด ซึ่งอาจจะมีตลับลูกปืนหล่อลื่น 1 หรือ 2 ตลับ มีลูกปืนกันตีกลับ และมีแหวนรอง แหวนสวม ส่วนที่แตกต่างคือ แต่ละยี่ห้อออกแบบมาไม่เหมือนกัน
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 16
เคล็ดลับของตัวเรือนรอกสั้นๆ อยู่ตรงการออกแบบให้ตัวเฟืองของพินเนียนเกียร์มีระยะเฟืองสั้นมากๆ ไม่ยาวเหมือนรอกสปินนิ่งอื่น แต่ออกแบบก้านให้ยาว แล้วไปเสริมส่วนประกอบเพื่อพยุงให้แกนพินเนี่ยนเกียร์นิ่งมากที่สุด

ขอโทษค่ะ เวลาประกอบคืนไป ต้องใช้มือจับให้มันอยู่ในวงของตัวบอดี้ให้มากที่สุด เพราะไม่มีฐานรองบนตัวฝาข้าง มันจะคอยหลุดลงไป (ต้องลองเองค่ะ อ่านแล้วจะงงๆ)
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 17
เวลาจะประกอบคืน ก็ต้องค่อยๆ ทำเป็นขั้นๆไป ใส่ลูกปืนก่อน  ภาพนี้ให้เห็นชุดลูกปืนกันตีกลับ  การล็อคให้ลูกปืนกันตีกลับทำงาน ใช้วงแหวนล็อคไปยังก้านล็อค แข็งแรงสมราคา
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 18
ยังไม่ประกอบค่ะ จะโชว์ เฟืองพินเนียน เฟืองขับ และลูกปืนกันตีกลับก่อนค่ะ ชอบใจตรงลูกปืนกันตีกลับค่ะ ไม่ค่อยเห็นลูกปืนกันตีกลับใหญ่ๆแบบนี้ค่ะ (แบบเดียวกับในรอกเบท แต่ขนาดใหญ่กว่า)

น่าสังเกตว่า รอกตัวนี้ ที่เฟืองขับมีตลับลูกปืนฝั่งเดียว อีกฝั่งเป็นบูทลูกปืน เสือนอนกินได้รอกตัวนี้มา ก็ใช้ไปแบบนี้ค่ะ ไม่ได้เปลี่ยนเป็นลูกปืนแต่อย่างใด บางคนอาจจะเลือกที่จะเปลี่ยนบูทเป็นลูกปืน ก็ตามใจชอบค่ะ แต่ทางผู้ผลิตเองก็คงตรวจสอบแล้วว่ามีประสิทธิภาพเหมาะสมกับการใช้งาน

ใส่ลูกปืนแล้วดีขึ้นมั้ย ?? จากประสบการณ์ ก็หมุนลื่น ผ่อนแรงดีค่ะ
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 19
ส่วนของลูกปืนกันตีกลับ แม้ว่าจะดูแล้วไม่ใหญ่โตแบบ ของ shimano แต่ด้านความแข็งแรงแล้ว คงแข็งแรงพอควร ดูการออกแบบค่ะ  อย่างที่บอกไป รูปทรงให้นึกถึงตลับลูกปืนกันตีกลับของรอกเบท เพียงแต่ว่ามีขนาดใหญ่กว่าเท่านั้นเอง ลูกปืนกันตีกลับนี้ ต้องการทำความสะอาดเป็นระยะๆ เช่นกัน  ขึ้นความความถี่ในการใช้งาน ถ้าใช้บ่อยก็ทุกสามเดือน ถ้านานๆทีก็ทุกๆหกเดือน

ส่วนของลูกปืนแกนเฟืองขับตัวนอน ก็เช่นกัน ทำความสะอาด ถี่มากน้อย ขึ้นกับความถี่ในการใช้งาน แต่ต้องทำความสะอาดแน่นอน ประสิทธิของการทำงานของรอกสปินนิ่ง ส่วนหนึ่งก็มาจากประสิทธิภาพของลูกปืนเหล่านี้
ผ่ารอก Daiwa Freams 2500 (ตอนที่ 1)
ภาพที่ 20
จากภาพด้านบน เราถอดฝาข้างห้องเครื่องออกไปแล้ว  มีเพิ่มเติมหน่อยค่ะ  น๊อตขนาดไม่เท่ากัน เวลาขันออก แล้วจะปิดต้องดูด้วยค่ะ วางไว้ถูกตำแหน่ง รอกตัวนี้มีเครื่องประดับบั้นท้ายด้วย  นัยว่าเพื่อความสวยงาม  ต้องถอดน๊อตออก  จะมีน๊อตข้างในอีก 1 ตัว แล้วก็จะถอดฝาข้างออกได้

ติดตามต่อ (ตอนที่ 2) ค่ะ
http://www.siamfishing.com/content/view.php?id=152&cat=inside
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024