สยามฟิชชิ่ง
หน้าแรก|กระดาน|รีวิว|ประมูล|ตลาด|เปิดท้าย
login | สมัครสมาชิก | วิธีสมัครสมาชิก | ลืมชื่อ/รหัส | login ไม่ได้? | 25 เม.ย. 67
สหภาพยุโรปแจกใบเหลืองเตือนไทยแก้ปม IUU Fishing : Fishing Article
 ห้องบทความ/เทคนิค > บทความอื่นๆ
ความเห็น: 4 - [27 ก.ค. 58, 01:18] ดู: 2,451 - [20 เม.ย. 67, 03:50] ติดตาม: 1
สหภาพยุโรปแจกใบเหลืองเตือนไทยแก้ปม IUU Fishing
Sarachan (282 คะแนนโหวตจากผู้ชมกระทู้) offline
23 ก.ค. 58, 20:04
1
สหภาพยุโรปแจกใบเหลืองเตือนไทยแก้ปม IUU Fishing
ภาพที่ 1
เมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลุ่มสหภาพยุโรป (EU) ได้ให้ใบเหลืองเตือนไทยอย่างเป็นทางการ เนื่องจากไทยไม่มีการแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมในเรื่องการทำประมงผิดกฎหมายหรือ IUU Fishing ที่สอดคล้องกับหลักกฎหมายสากล โดยประเด็นที่ถูกจับตามองมากเป็นพิเศษคือ การทำประมงโดยไม่ได้รับอนุญาตหรือใช้เครื่องมือจับปลาที่ผิดกฎหมาย และปัญหาการใช้แรงงานทาส



การได้รับใบเหลืองจาก EU ในครั้งนี้ เป็นสิ่งที่กระตุ้นให้ไทยต้องเร่งแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมประมง มิฉะนั้นอาจต้องเผชิญกับการถูกระงับการนำเข้าอาหารทะเลของไทยจาก EU โดยอีไอซีมองว่า ในกรณีที่ EU ระงับการนำเข้าอาหารทะเลจากไทย อุตสาหกรรมประมงไทยจะสูญเสียรายได้จากการส่งออกประมาณ 200 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในกรณีเลวร้าย มูลค่าดังกล่าวอาจสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ



EU ได้ให้ใบเหลืองกับไทยจากปัญหา IUU Fishing



หลังจากที่ก่อนหน้านี้ไทยถูกปรับลดอันดับไปอยู่ใน Tier 3 จากรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ (US’s Trafficking in Persons Report: TIP Report) ของสหรัฐฯ เมื่อเดือนมิถุนายน 2014 โดยการให้ใบเหลือง หรือประกาศเตือนอย่างเป็นทางการของ EU ในครั้งนี้ มีความแตกต่างจากการลดอันดับใน TIP Report ของสหรัฐฯ เนื่องจาก TIP Report เป็นเครื่องมือทางการทูตที่ใช้ผลักดันให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ แก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ แต่ไม่มีมาตรการตอบโต้ทางการค้า (trade sanction) ใดๆ ในขณะที่กฎระเบียบ IUU ของ EU ถูกร่างขึ้นเพื่อช่วยขจัดปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย, ไร้การรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) โดยเฉพาะ โดยเพิ่มมาตรการคว่ำบาตรการนำเข้าอาหารทะเลจากประเทศที่เพิกเฉยต่อการแก้ไขปัญหา IUU fishing เข้าไป ทั้งนี้ EU มองว่าประเทศไทยไม่ได้แสดงถึงความพยายามอย่างจริงจังและเป็นรูปธรรมต่อการขจัดปัญหาดังกล่าวอย่างเพียงพอ จึงให้ใบเหลืองแก่ไทยเพื่อเป็นการตักเตือนอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนเมษายน 2015 ที่ผ่านมา ผลที่ตามมาคือ ไทยจะมีเวลา 6 เดือนในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกคว่ำบาตรการนำเข้าอาหารทะเลจาก EU โดยจะมีการตรวจสอบและประเมินความคืบหน้าของปัญหาดังกล่าวนี้อีกครั้งในเดือนตุลาคม 2015 ที่จะถึงนี้



IUU Fishing ไม่ได้เป็นประเด็นใหม่ในอุตสาหกรรมประมง



จากข้อมูลพบว่า IUU fishing เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ทรัพยากรสัตว์น้ำมีปริมาณลดลง และทำให้ผู้ที่ทำประมงอย่างถูกกฎหมายต้องเสียเปรียบ อีกทั้งยังทำลายระบบนิเวศน์และทำให้ชุมชนชายฝั่งอ่อนแอลง ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั่วโลกที่มาจาก IUU Fishing มีปริมาณสูงถึง 11 - 26 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 15% ของปริมาณผลิตภัณฑ์อาหารทะเลทั้งหมด หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ EU ในฐานะผู้นำเข้าอาหารรายใหญ่ของโลกจึงตั้งกฎระเบียบนี้ขึ้น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2011 เพื่อป้องกัน ขจัด และขัดขวาง IUU Fishing ให้หมดสิ้นไป โดยได้ขอความร่วมมือจากรัฐบาลประเทศต่างๆ ตลอดจนผู้มีส่วนเกี่ยวข้องเพื่อผลักดันให้ทุกฝ่ายปฏิบัติตามข้อตกลงด้านการประมงทั้งของในประเทศนั้นๆ และข้อตกลงสากล ทั้งนี้ กฎระเบียบ IUU Fishing ครอบคลุมถึงเรือประมงในทุกสัญชาติ ทุกประเภท และทุกน่านน้ำ ที่มีการเดินเรือทั้งจากและไปยัง EU และเพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว EU จึงได้กำหนดให้ต้องมีการชี้แจงถึงแหล่งที่มาและความถูกต้องทางกฎหมายของการทำประมง และจำแนกกลุ่มประเทศที่เกี่ยวข้องออกเป็น 3 กลุ่ม คือ (1) กลุ่มที่ไม่เกี่ยวข้องกับ IUU Fishing (2) กลุ่มประเทศที่ได้รับ "ใบเหลือง" ตักเตือนให้มีการปรับปรุงแก้ไข (3) กลุ่มประเทศที่ได้รับ "ใบแดง" ซึ่งจะโดนคว่ำบาตรการนำเข้าสินค้าประมง



อุตสาหกรรมประมงไทยอาจสูญเสียมูลค่าการส่งออกสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากไทยไม่สามารถแก้ไขปัญหา IUU Fishing ได้



ในปี 2014 ประเทศไทยถือเป็นผู้ส่งออกสินค้าประมงรายใหญ่นับเป็นอันดับ 3 ของโลก โดยมูลค่าการส่งออกปลา กุ้ง ปลาหมึก และอาหารทะเลแปรรูปไปยัง EU สูงถึงราว 700 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี (คิดเป็น 12 % ของมูลค่าการส่งออกสินค้าประมงโดยรวมของไทย) ทั้งนี้ กว่า 58 % ของผลิตภัณฑ์ประมงที่ไทยส่งออกไปยัง EU เป็นอาหารสำเร็จรูปหรืออาหารกระป๋องโดยส่วนใหญ่เป็นทูน่ากระป๋องและกุ้งแปรรูป อย่างไรก็ดี อีไอซีประเมินว่าผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องและกุ้งแปรรูปจะไม่ได้รับผลกระทบมากนักหาก EU ตัดสินใจที่จะให้ใบแดงกับไทย เนื่องจากวัตถุดิบกุ้งส่วนใหญ่มาจากฟาร์มกุ้งไม่ได้จับจากทะเล ในขณะที่วัตถุดิบทูน่าก็เป็นการนำเข้าเกือบทั้งหมด (ราว 90%)โดยเป็นการนำเข้าจากประเทศไต้หวันและสหรัฐฯ เป็นหลัก อนึ่ง อีไอซีประเมินว่าผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในกรณีที่ประเทศไทยโดนคว่ำบาตรทางการค้าอาหารทะเลจาก EU จะอยู่ที่ประมาณ 200-300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือในกรณีเลวร้ายที่สุดอาจสูงถึง 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากผู้ประกอบการฟาร์มกุ้งไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าปลาป่นที่ใช้เป็นอาหารกุ้งนั้นไม่เกี่ยวข้องกับ IUU Fishing



ศูนย์บัญชาการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ภายใต้รัฐบาล พลเอกประยุทธ์ จันโอชา ถูกจัดตั้งขึ้นโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เพื่อแก้ไขปัญหาการประมงที่ผิดกฎหมายในประเทศไทย อีกทั้งยังมีการจัดตั้งศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า – ออก หรือ port-in-port-out จำนวน 28 แห่งในจังหวัดชายทะเลทั่วประเทศเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการตรวจตราและตรวจสอบ รวมถึงควบคุมเรือประมงที่มีระวางบรรทุกมากกว่า 30 ตันกรอส โดยเรือดังกล่าวต้องแจ้งข้อมูล อาทิ รหัสใบอนุญาต ชนิดเครื่องมือจับปลา และข้อมูลลูกเรือแก่ศูนย์ควบคุมภายใน 24 ชั่วโมงก่อนการเข้าหรือออกจากท่าเรือ นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้เริ่มใช้พระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่ ที่แก้ไขจากฉบับเดิมเมื่อปี 1947 โดยมีการปรับปรุงมาตรการควบคุมเรือเข้า-ออกและมีบทลงโทษผู้กระทำประมงผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดมากขึ้น อาทิ การเพิ่มค่าปรับการประมงผิดกฎหมายเป็น 30 ล้านบาทจากเดิม 2 แสนบาท



นอกจากการเคลื่อนไหวของภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนและผู้ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ยังได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้ง Task Force หรือกลุ่มทำงานเฉพาะกิจขึ้น เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาดังกล่าวนี้ กลุ่มทำงานเฉพาะกิจประกอบด้วย ผู้ผลิต ตัวแทนจากหน่วยงานภาครัฐ องค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (NGOs) และผู้ค้าปลีกชั้นนำ อาทิ Costco, WM Morrison Supermarkets, Sodexo, เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF), ไทยยูเนี่ยนโฟรเซ่น (TUF), องค์กร Oxfam, และ Environmental Justice Foundation (EJF) เป็นต้น โดยผู้ผลิตเหล่านี้ได้ประกาศเลิกทำสัญญาและหยุดซื้อวัตถุดิบจากคู่ค้าที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติการประมง 2558 หรือเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวนั้นยังรวมถึงนโยบาย Shrimp Task Force ซึ่งผู้ประกอบการจะลดการใช้ปลาป่นจากเรือประมงให้เหลือเพียง 10-20% และหันไปใช้ผลิตภัณฑ์ที่เหลือจากอุตสาหกรรมปลาทูน่าและซูริมิแทน







ขอบคุณภาพประกอบจาก bangkokbiznews.com



http://www.isranews.org/isra-news/item/40111-scb_40111.html
** IUU fishing = Illegal, unreported and unregulated Fishing คือการประมงผิดกฏหมายทุกรูปแบบ

** เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม ที่ผ่านมา รัฐบาลยังได้เริ่มใช้พระราชบัญญัติการประมงฉบับใหม่ ที่แก้ไขจากฉบับเดิมเมื่อปี 1947 โดยมีการปรับปรุงมาตรการควบคุมเรือเข้า-ออกและมีบทลงโทษผู้กระทำประมงผิดกฎหมายอย่างเด็ดขาดมากขึ้น อาทิ การเพิ่มค่าปรับการประมงผิดกฎหมายเป็น 30 ล้านบาทจากเดิม 2 แสนบาท
แก้ไข 23 ก.ค. 58, 20:06
กรุณา ลงทะเบียน และ login ก่อนส่งความเห็นครับ
siamfishing.com © 2024